เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... ซึ่งมีนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ในวาระสอง
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข คือ ยกเลิก(2)ของมาตรา1567 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกร่วมกันอภิปรายในการแก้ไขกฎหมายไม่ตีเด็ก มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยพรรคประชาชนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะสส.พรรคเพื่อไทย และสส.ภูมิใจไทย เห็นว่าการบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำกำกวมจะยากต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ที่สำคัญเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์รักลูกและลูกศิษย์ของตนเอง ไม่มีใครต้องการทำโทษรุนแรง การห้ามไม่ให้ตีเด็กถือเป็นการลิดลอนสิทธิ์ในการดูแลบุตรหลาน
นายนิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำโทษลูกตนเชื่อมั่นว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการตีลูกเลย ถ้าลูกดื้อหรือเกเรก็ตีไม่ได้เลยอย่างนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร และคนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่มีเงินที่จะเลี้ยงลูกแบบถูกสุขลักษณะ ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปใครจะกล้าตีลูก แม้แต่ครูก็ไม่กล้าตี เก็บไม้เรียวไปได้เลย ซึ่งตนก็เห็นใจแต่ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงอยากให้กรรมาธิการฯนำกลับไปทบทวนใหม่ แล้วเสนอมาใหม่เพื่อให้พ่อแม่มีทางออก และต้องการให้แยกให้ออกระหว่างการตีด้วยความรักกับการทารุณกรรม
น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เหตุใดต้องเขียนกฎหมายให้คลุมเครือเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหาบรรทัดฐาน ใช้ดุลยพินิจเอาเอง อีกทั้งเรามีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว จึงอยากให้คณะกมธ. ถนอร่างแล้วนำกลับไปทำให้ชัดเจนขึ้น
ขณะที่ น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า การมีหลักประกันจากกฎหมายนี้จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างอุ่นใจ ความรุนแรงมีความหมายในตัว และการส่งต่อความรุนแรงในรูปแบบความรักไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร อย่างไรก็ตาม สำนวนที่ว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี นั่นแปลว่าเราเห็นลูกหลานแย่หรือมีค่าน้อยกว่าวัวกว่าควายหรือไม่ ในเมื่อวัวควายท่านบอกให้ผูก แต่ลูกหลานถึงขั้นตี เหตุใดไม่ปรับพฤติกรรมโดยการพูดคุยอย่างอ่อนโยน ให้เหตุผล ในเมื่อเชื่อว่าผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะ เหตุใดไม่เรียนรู้ที่จะส่งต่อวิธีที่ถูกต้อง หรือวิธีที่ทำให้ลูกหลานรับรู้ว่าเป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ห่วงใย
นางศศินันท์ ธรรมนิฐนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า สภาฯเคยผ่านกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์แล้ว ทำไมเราถึงตั้งคำถามกับการคุ้มครองมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ฝ่ายที่คัดค้านแล้วบอกว่าใช้คำคลุมเครือนั้น ในฐานะที่ตนเป็นทนายความอยากบอกว่าทำให้กฎหมายชัดเจนละเอียดเท่าใด ไม่เปิดให้ใช้ดุลยพินิจ อันตรายมากกว่า
“สมาชิกหลายคนบอกว่าการตีทำให้พวกท่านได้ดี ทำให้ได้เข้ามายืนในสภา ดิฉันก็อยากยืนยันว่าการที่ทุกคนได้เป็นสส. เป็นผู้เป็นคนได้ เพราะมาจากความรู้ความสามาร อดทน ตั้งใจ ไม่ได้มาจากไม้เรียว ถ้าจะดูถูกตัวเองว่าไม้เรียวทำให้ได้ดี ท่านกำลังดูถูกความรู้ความสามารถความตั้งใจของตัวเองหรือเปล่า” นางศศินันท์ กล่าว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางกมธ.แก้ไขข้อความที่สภาฯรับหลักการมา โดยตัดคำว่าทารุณกรรมออกไป เหลือเพียงคำว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี สภาฯแห่งนี้จึงยอมไม่ได้ เพราะต้องการปกป้องสิทธิผู้ปกครอง แนวโน้มร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจะถูกคว่ำ จึงอยากให้หาวิธีการดู สำหรับตนขอเสนอให้กมธ.ถอนแล้วไปปรับปรุงตัวบทใหม่ เพื่อความสมดุลระหว่างสิทธิเด็กและสิทธิผู้ปกครอง คำกำกวมอย่างคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมาชิกหลายคนถามว่าเอาอะไรมาวัด และสิ่งนี้จะทำให้ลงโทษผู้ปกครองได้ ฉะนั้นขอให้ไปปรับมาใหม่
ด้านนายสรรพสิทธิ์ ชี้แจงว่า จากที่ฟังการอภิปรายสรุปได้ว่าสมาชิกอยากได้ไม้เรียวกลับมาให้ครู อีกทั้งต้องการให้พ่อแม่เฆี่ยนตีลูกได้เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หากต้องการให้ทางคณะกมธ.ถอน ตนก็ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ไม่ไช่ห้ามพ่อแม่เเฆี่ยนตีลูก เพราะมีกฎหมายอื่นที่ห้ามอยู่แล้ว
ภายหลังพักการประชุม ประธานกมธ.วิสามัญฯ แจ้งว่าทางคณะกมธ.ขอถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออก ซึ่งที่ประชุมไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าอนุญาตให้ถอนร่างกฎหมายได้
24 กันยายน 2567 เมื่อเวลา 18.27 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของจำเป็นต่างๆ ลงในถุงพระราชทานสำหรับเด็ก จำนวน 1,000 ถุง เพื่อเชิญไปพระราชทานแก่เด็กในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดทำถุงพระราชทานสำหรับเด็กเล็กและจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กบรรจุลงในถุงพระราชทาน อาทิ ตุ๊กตาผ้าห่ม เป้อุ้มเด็ก นมผง อาหารเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำลี ฟองน้ำเช็ดตัว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์ซักล้างสำหรับเด็ก โดยจัดพระราชทานสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 2 ปี เพิ่มเติมจากถุงพระราชทานทั่วไป
จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน บาดเจ็บ และเสียชีวิต รวมถึงเกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับหน่วยราชการในพระองค์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรในเบื้องต้น โดยนำสิ่งของพระราชทานไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ตาก พิษณุโลก หนองคาย และจังหวัดเลย
อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน และจัดรถครัวสนามไปปรุงอาหารให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ที่ประสบภัยต่างๆ เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีความจำเป็นในการฟื้นฟูและทำความสะอาดบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีดินโคลนที่มากับน้ำเป็นจำนวนมากทับถมอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมอุปกรณ์ประกอบ ให้แก่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา สำหรับนำไปช่วยเหลือราษฎร ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่ช่วยทุ่นแรงในการทำ
ความสะอาดและฟื้นฟูบ้านเรือน ที่สาธารณประโยชน์ วัด ถนน และสถานที่ราชการ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปรกติโดยเร็ว
นอกจากนั้น พระมหากรุณาธิคุณยังครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยจิตสาธารณะ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่และจิตอาสาเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพวงมาลาไปวางที่หน้าหีบศพผู้ใหญ่บ้านที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการศพแก่จิตอาสาที่เสียชีวิต รวมทั้งพระราชทานทุนการศึกษาแก่บุตรของจิตอาสาที่เสียชีวิต และทรงรับจิตอาสาที่ได้รับบาดเจ็บไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
ทั้งนี้ ในวันที่ 30 กันยายน 2567 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญถุงพระราชทานสำหรับเด็ก จำนวน 3,271 ถุง ไปพระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอ ที่ประสบอุทกภัย ณ หอประชุมเทศบาลตำบลแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญไปมอบแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย ต่อไป
25 กันยายน 2567 เมื่อเวลา 16.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเรือประมงไดหมึก หรือเรือไต๋จุ๋ม กลางทะเลบางเสร่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่าพบหญิงสาว ชาวรัสเซีย ลอยคอขอความช่วยเหลือ จึงประสานไปยัง นายสุพจน์ ชมดอกไม้ อายุ 40 ปี ให้นำเรือเร็วออกมาช่วยเหลือ โดยที่เกิดเหตุพบหญิงสาว สัญชาติรัสเซียลอยคออยู่กลางทะเล โดยเรือประมงไดหมึกได้ช่วยเหลือไว้ก่อนหน้า ก่อนนำขึ้นฝั่ง ยังบริเวณศาลาชมรมเรือตกปลาและท่องเที่ยว ชายหาดบางเสร่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
จากการสอบถาม หญิงรัสเซีย ทราบชื่อต่อมาชื่อ จูเนียร์ อายุ 32 ปี พร้อมกับเล่าว่า ตนเองได้พักอาศัยอยู่โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.นาจอมเทียน ก่อนตนเองจะได้ลงมาว่ายน้ำทะเลเล่น โดยได้ดื่มสุรามาเล็กน้อย หลังจากน้ำลงไปว่ายน้ำเล่น ช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. ก่อนตนเองว่ายออกมาไกล และหลงทิศ ห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร ก่อนที่จะหมดแรง และหลงทิศจึงลอยคอขอความช่วยเหลือ จากเรือบริเวณนั้น จนมีเรือประมงลำดังกล่าว มาพบเจอ ในช่วงเวลา 16.00 น.ของวันเดียวกัน และได้ทำการช่วยเหลือ พาขึ้นเรืออย่างปลอดภัย
จากการสอบถาม นายสุพจน์ ชมดอกไม้ อายุ 40 ปี ทราบว่า มีเรือประมงไดหมึกได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าพบหญิงชาวต่างชาติลอยคอขอความช่วยเหลือ ห่างจากชายหาดนาจอมเทียนประมาณ 8 กิโลเมตร พอตนเองได้รับแจ้งจึงรีบนำเรือเร็วออกไปรับหญิงดังกล่าว ซี่งอยู่ในอาการอ่อนเพลียและได้ทำการช่วยเหลือขึ้นเรือกลับฝั่งอย่างปลอดภัย ก่อนประสานเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานมารับตัวพาไปตรวจร่างกายยังโรงพยาบาล ก่อนประสานโรงแรมมารับกลับที่พักต่อไป
25 กันยายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Zoom กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นนโยบายของรัฐบาล โครงการจ่ายเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ว่า ในส่วนของคนพิการที่มีสิทธิ์นั้นมีอยู่ราว 2,040,000 ราย โดยยังขาดไปอีก 9 หมื่นราย ปัญหามาจากข้อมูลไม่ตรงบ้าง บัตรคนพิการหมดอายุบ้าง
ซึ่งตนก็ต้องขอแจ้งไปถึงคนพิการที่พบปัญหาดังกล่าวด้วยว่า มีเวลาถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ในการไปปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วเงิน 1 หมื่นบาทจะโอนเข้าบัญชีอย่างแน่นอน ในขณะที่กลุ่ม 2,040,000 รายข้างต้น จะทยอยได้รับเงินตั้งแต่วันที่ 25-27 ก.ย. 2567 ซึ่งจริงๆ แล้ว คนพิการทั่วประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2.4-2.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในแต่ละกระทรวงจะมีนิยามคำว่าพิการที่แตกต่างกัน โดยตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไปประสานกับแต่ละฝ่ายเพื่อให้ตัวเลขทั้งประเทศตรงกัน
ส่วนกรณีที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่ามียอดคนพิการที่มีบัตรหายไปประมาณ 1 หมื่นราย จริงๆ แล้วหายไปราว 9 หมื่นราย เพียงแต่อาจมาจากการไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพราะที่ผ่านมามีคนพิการบางส่วนที่ได้รับเงินจากท้องถิ่น จึงไม่ได้มาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงไม่สามารถได้รับเงินในโครงการนี้ได้ จึงให้เวลาถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ในการไปขึ้นทะเบียน
“ต้องขอบคุณทางรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้เห็นใจและให้โอกาสกับทางกลุ่มพี่น้องคนพิการก่อน” นายวราวุธ กล่าว
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012