รายงานฉบับใหม่แสดงให้เห็นว่า อากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น 2 ปีติดต่อกันในเทือกเขาแอลป์ ทำลายปริมาณธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 10% ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในช่วง 3 ทศวรรษก่อนปี 2533
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ว่า ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คณะกรรมาธิการหิมะภาค
(ซีซี) ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เผยให้เห็นถึงธารน้ำแข็งที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และเตือนว่า สถานการณ์ข้างต้นจะเลวร้ายกว่าเดิม
ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์ละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2565 โดยปริมาณน้ำ แข็งหายไปถึง 6% ขณะที่รายงานของซีซี แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งไม่ฟื้นตัวมากนักในปีนี้ และสวิตเซอร์ แลนด์สูญเสียปริมาณน้ำแข็งเพิ่มอีก 4% นับเป็นการลดลงครั้งใหญ่อันดับสอง นับตั้งแต่มีการเริ่มการตรวจวัด
“ธารน้ำแข็งทั้งหมดละลายไปมาก” นายแมตเธียส ฮัสส์ หัวหน้าหน่วยงานติดตามธารน้ำแข็ง ในสวิตเซอร์แลนด์ (กลามอส) กล่าว “แต่สำหรับธารน้ำแข็งขนาดเล็ก การละลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ และกำลังจะหายไปแล้ว” อนึ่ง การสูญเสียธารน้ำแข็งปริมาณมากในสวิตเซอร์แลนด์นั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฤดูหนาวที่มี ปริมาณหิมะต่ำมาก รวมถึงอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงขึ้น
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์อาจหายไปทั้งหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งฮัสส์ เน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการรักษาเสถียร ภาพของสภาพอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ฮัสส์ยอมรับว่า แม้โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 ซึ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่สวิตเซอร์แลนด์จะรักษาปริมาณธารน้ำแข็ง ได้เพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น
เครดิตภาพ : AFP
เพชรสีชมพูกว่า 90% เคยพบในเหมืองอาร์ไกล์ในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ที่เพิ่งปิดตัวลง อาร์ไกล์ต่างจากเหมืองเพชรอื่นๆ เพราะไม่ได้ตั้งอยู่กลางทวีปแต่ตั้งอยู่ขอบทวีป การผลิตเพชรสีชมพูจำนวนมากจึงเป็นสิ่งปริศนา แม้ว่า 2 ใน 3 ขององค์ประกอบที่ส่งผลต่อการขึ้นรูปเพชรสีชมพูจะรู้กันดี ส่วนแรกคือคาร์บอนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ใต้ระดับผิวดินลงไป ส่วนที่ 2 คือแรงดันในปริมาณที่เหมาะสม โดยดันเพียงเล็กน้อยก็จะเปลี่ยนเพชรใสเป็นสีชมพู แต่ส่วนที่ 3 นี่แหละที่นักวิทยาศาสตร์ยังตามหา
ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย เผยพบส่วนที่ 3 ของการก่อเกิดเพชรสีชมพูที่มีราคาแพงที่สุดในโลกและหายาก หลังศึกษาเหมืองอาร์ไกล์ โดยระบุว่าส่วนที่ขาดหายก็คือเหตุการณ์ภูเขาไฟที่ทำให้เพชรพุ่งขึ้นสู่พื้นผิวโลก ทีมได้ใช้เลเซอร์สำรวจผลึกเล็กๆ ในตัวอย่างหินจากเหมืองอาร์ไกล์เพื่อวัดอายุขององค์ประกอบในผลึก พบว่าเหมืองนี้มีอายุ 1,300 ล้านปี ชี้ให้เห็นว่าเพชรมาช้ากว่าที่คิดไว้ 100 ล้านปี เพราะในทศวรรษ 1980 ประเมินว่าเพชรเหมืองอาร์ไกล์เกิดขึ้นเมื่อ 1,200 ล้านปีก่อน แต่ไม่มีตัวชักนำให้เพชรหายากเกิดขึ้นในเวลานั้น
การวิจัยสอดคล้องกับช่วงที่แผ่นดินทั่วโลกเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวเรียกว่ามหาทวีปนูนา (Nuna) หรือโคลัมเบีย (Columbia) ในนูนา-ทวีปทุกแห่งบนโลกถูกบีบอัดเข้าด้วยกัน แรงดันมหาศาลได้บิดสีให้เกิดเพชร โดยเกิดขึ้นช่วงการบีบอัดของแผ่นดินออสเตรเลียทางตะวันตกและตอนเหนือเมื่อ 1,800 ล้านปีก่อน เมื่อนูนาเริ่มแยกกันในอีก 500 ล้านปีต่อมาเหตุการณ์เก่าก็รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา คนมักมองหาเพชรที่ใจกลางทวีป ดังนั้นการรู้ถึงส่วนที่หายไปของเพชรสีชมพูจะช่วยค้นหาเพชรชนิดนี้ในอนาคต เช่นตามแนวภูเขาเก่าใกล้ขอบทวีปต่างๆ ที่มีร่องรอยการล่มสลายของนูนา โดยพื้นที่ที่เป็นไปได้ก็ เช่น ในแคนาดา รัสเซีย แอฟริกาตอนใต้ และออสเตรเลีย
29 กันยายน 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น เปิดเผยผลการวิจัยฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Chemistry Letters ว่า พบไมโครพลาสติกอยู่ในก้อนเมฆ ซึ่งพวกเขาคาดว่า มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ โดยทางทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ปีนภูเขาไฟฟูจิและภูเขาโอยามะ เพื่อรวบรวมน้ำจากเมฆที่ปกคลุมยอดเขา
จากนั้นจึงใช้เทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูงกับตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี โดยทีมวิจัยพบว่า ในน้ำจากเมฆ 1 ลิตร จะมีไมโครพลาสติกประมาณ 6.7-13.9 ชิ้น มีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร ในบรรดาไมโครพลาสติกที่พบนั้น เป็นพอลิเมอร์ 9 ชนิดและยาง 1 ชนิด
โอโคจิ ฮิโรชิ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า หากปัญหามลพิษพลาสติกในอากาศไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงรุก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงทางนิเวศวิทยาก็อาจกลายเป็นความจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงและแก้ไขไม่ได้ในอนาคต
“เมื่อไมโครพลาสติกขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นบนและสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด ไมโคร พลาสติกจะสลายตัวและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก กลไกการกระจายไมโครพลาสติกไปยังสถานที่ต่างๆ ผ่านทางอากาศเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน และการวิจัยเกี่ยวกับการกระจายไมโครพลาสติกทางอากาศยังมีจำกัด เท่าที่ทราบนี่เป็นรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในอากาศในน้ำจากเมฆ” โอโคจิ กล่าว
มหาวิทยาลัยวาเซดะ แถลงการณ์ว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มนุษย์และสัตว์ต่างๆ อาจกินหรือสูดดมไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การตรวจพบในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ เลือด รก และอุจจาระ เศษพลาสติกจำนวนสิบล้านตันจบลงในมหาสมุทร และหาทางขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อน้ำระเหย นี่หมายความว่า ไมโครพลาส ติกอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมฆ ปนเปื้อนเกือบทุกอย่างที่เรากินและดื่มผ่าน “สายฝนพลาสติก”
29 ก.ย.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อุรุกวัยแจ้งว่า พบซากแมวน้ำและสิงโตทะเลประ มาณ 400 ซากบนชายหาดและริมแม่น้ำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดโรคไข้หวัดนก
เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมอุรุกวัยเผยว่า กระทรวงต่างๆ กำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากพบสิงโตทะเลติดโรคไข้หวัดนกเอช 5 (H5) ตัวแรกบนชายหาดในกรุงมอนเตวิเดโอ บริเวณริเวอร์เพลต (River Plate) ซึ่งเป็นชะวากทะเลที่เกิดจากแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันแล้วไหลออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก เจ้าหน้าที่ได้ฝังซากไปแล้ว 350 ซากเพื่อหยุดยั้งเชื้อไวรัสแพร่ระบาด โดยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า โรคนี้ไม่สามารถควบคุมได้ ทำได้เพียงรอให้สัตว์มีภูมิคุ้มกัน แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และขอให้ผู้ไปเที่ยวชายหาดหลีกเลี่ยงการสัมผัสซากสัตว์ เพราะถึงแม้การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นยากแต่ก็เกิดขึ้นได้
อุรุกวัยเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ มีแมวน้ำและสิงโตทะเลประมาณ 315,000 ตัว
ทางการอุรุกวัยเปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กันยายนว่า พบแมวน้ำและสิงโตทะเลขึ้นมาตายตามแนวชายฝั่ง ของประเทศเมื่อเร็วๆ นี้รวมกันแล้วราว 400 ตัว คาดว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก
ขณะนี้หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องของอุรุกวัยกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหลังจากตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5 ในสิงโตทะเลตัวหนึ่งเป็นครั้งแรกบนชายหาดของกรุงมอนเตวิเดโอ ซึ่งมีแม่น้ำเพลตไหลผ่าน ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เสียชีวิตเหล่านี้พบบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและริมแม่น้ำ ซึ่งถึงตอนนี้ได้มีการฝังซากสิงโตทะเลและแมวน้ำที่พบตายบนหาดไปแล้ว 350 ตัว
คาร์เมน เลซาโกเยน หัวหน้ากรมสัตว์ประจำถิ่น กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอุรุกวัย กล่าวว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่มีพัฒนาการอยู่ในขณะนี้และเราเชื่อมาจากเชื้อไข้หวักที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และว่า เราต้องรอจนกว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีภูมิคุ้มกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ทั้งนี้อุรุกวัย เป็นถิ่นอาศัยที่มีสิงโตทะเลและแมวน้ำอยู่ประมาณ 315,000 ตัว หลังเกิดสถานการณ์ข้างต้นขึ้น ทางการอุรุกวัยก็ได้ร้องขอให้ผู้ที่มาเที่ยวชมหาดอยู่ให้ห่างสัตว์เหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ขณะที่การติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์ยังเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้
ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยว่า การปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่าการบำ บัดชุดที่สองจากโรงไฟฟ้าฯ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จะเริ่มในวันที่ 5 ต.ค. นี้
บริษัทไฟฟ้าโตเกียว หรือเทปโก ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยว่า
การปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดชุดที่สองจากโรงไฟฟ้าฯ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จะเริ่มในวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนอีกครั้ง
เทปโก วางแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วประมาณ 7,800 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับการปล่อยครั้งแรกลงสู่ทะเล ภายในระยะเวลาประมาณ 17 วัน การเตรียมการจะเริ่มในวันอังคารหน้า (3 ต.ค.) เพื่อตรวจสอบระดับไอโซโทปเมื่อน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางด้วยน้ำทะเลก่อนปล่อยออกมา
การปล่อยน้ำบำบัดชุดแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ท่ามกลางความกังวลในหมู่ชาวประมงท้องถิ่นและการต่อต้านอย่างรุนแรงจากจีน และแล้วเสร็จในวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมาเป็นน้ำทิ้ง 7,800 ตัน จากทั้งหมด 1.34 ล้านตัน เทียบเท่าน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกมากกว่า 500 สระ ที่สะสมอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เทปโก และรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าการกำจัดน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการรื้อถอนโรงไฟ ฟ้านิวเคลียร์ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิซัดเตาปฏิกรณ์เสียหายเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554
แม้ว่าน้ำจะมีระดับความเข้มข้นของไอโซโทปต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยทั่วโลก แต่จีนก็ได้ออกคำ สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นแบบครอบคลุม โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้จีนยกเลิกการสั่งห้าม และมีส่วนร่วมในการอภิปรายตามหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันก็พยายามช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงในประเทศ ในการขยายจุดหมายปลายทางการส่งออกนอกเหนือจากจีน
จนถึงขณะนี้ยังไม่ตรวจพบระดับไอโซโทปที่ผิดปกติในตัวอย่างน้ำทะเลหรือปลาที่เก็บมาจาก บริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามข้อมูลของเทปโก ไอโซโทปที่มีอยู่ในน้ำที่ปล่อยออกมานั้นคาดว่าจะมีจำ นวนประมาณ 5 ล้านล้านเบคเคอเรล ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของขีดจำกัดสูงสุดต่อปีที่ 22 ล้านล้านเบคเคอเรล
แม้ว่าจีนจะสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่มีรายงานว่าเรือของจีนยังคงจับปลานอกชายฝั่งญี่ปุ่นในพื้นที่เดียวกับที่เรือของญี่ปุ่นออกหาปลา
ด้านนายราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น โพสต์ภาพถ่ายที่เขากล่าวว่าเป็นเรือประมงของจีนนอกชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 ก.ย. นายเอ็มมานูเอล กล่าวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ว่า “พวกเขาว่าภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้นับพันคำ เรือของจีนที่จับปลานอกชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 ก.ย. หลังจีนคว่ำบาตรอาหารทะเลจากน่านน้ำเดียวกัน”
สภานิติบัญญัติของเกาหลีเหนือกำหนดให้สถานะอาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญเอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาประชาชนของเกาหลีเหนือที่จัดขึ้นในวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา มีการกำหนดวาระอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นพันธสัญญาที่ต้องปฏิบัติไปตลอด
ผู้นำคิมจองอึน กล่าวในที่ประชุมฯว่า “นโยบายการพัฒนาความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้รับการกำหนดอย่างถาวรในฐานะกฎหมายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดได้ และนี่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะแรงผลักดันทางการเมืองที่ทรงพลังในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ”
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบอาวุธมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาก็ตึงเครียดมาก ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลเปียงยางอาจดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
เมื่อปีที่แล้ว ที่ประชุมดังกล่าวได้บัญญัติกฎหมายที่ประกาศให้เกาหลีเหนือเป็นรัฐแห่งอาวุธนิวเคลียร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และห้ามการเจรจาใดๆ เพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะใช้การชิงโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้
การกำหนดสถานะอาวุธนิวเคลียร์ในรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้ความหวังของทั้งโลกที่ต้องการเห็นเกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ลดน้อยลงไปอีก
เกาหลีเหนือทำการทดสอบอาวุธต้องห้ามครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 2 ลูก ในช่วงเวลาที่ผู้นำคิมเดินทางไปรัสเซียเพื่อประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะที่เดือนก่อนก็เพิ่งล้มเหลวในความพยายามครั้งที่ 2 ที่จะส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร
คิมจองอึนยังกล่าวอีกว่าสหรัฐฯ, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้จัดตั้ง “พันธมิตรทางทหารไตรภาคี” ส่งผลให้เกิด “นาโตเวอร์ชันเอเชีย” ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามและต้นตอของสงครามอย่างแท้จริง
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012