ข่าว
สุดแกร่ง!หมอหนุ่มวัย 25 ตะบันหน้าฉลามก่อนหนีเข้าฝั่งปลอดภัย

15 พ.ย.60 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ ประจำออสเตรเลีย รายงานเมื่อ 14 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ว่า Charlie Fry นายแพทย์หนุ่มวัย 25 ปี ประสบเหตุไม่คาดฝัน เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับปลาฉลามที่พุ่งตัวออกมาจากเกลียวคลื่น บริเวณชายหาดทางตอนเหนือของนครซิดนีย์ โดยเจ้าฉลามได้พุ่งใส่บริเวณไหล่ขวา ขณะที่คุณหมอรายนี้กำลังเล่นกระดานโต้คลื่นอยู่

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า แต่ชั่วพริบตานั้นเอง Fry ได้ปล่อยหมัดซ้ายเข้าไปที่ใบหน้าของฉลามอย่างจัง ก่อนกระโดดกลับมาอยู่บนกระดานโต้ขึ้นแล้วรีบเข้าฝั่งทันทีอย่างปลอดภัย เมื่อตรวจสอบตามร่างกาย พบว่าได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยมีเพียงรอยขีดข่วนและแผลเล็กๆ ที่เจ้าฉลามทิ้งไว้บนแขนของคุณหมอเท่านั้น

ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ กล่าวว่า มันน่าจะเป็นฉลามที่มีลำตัวอย่างประมาณ 2 เมตร หรือ 6.5 ฟุต

Fry ซึ่งเพิ่งมาเป็นแพทย์ประจำที่ออสเตรเลียได้เพียง 2 เดือน ยังกล่าวอีกว่า เขาเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดนี้มาจากกรณีของ Mick Fanning ที่เคยถูกปลาฉลามทำร้ายในปี 58 แต่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดด้วยการชกเข้าที่จมูกของมันอย่างแรงจนฉลามล่าถอยไป

ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยที่ถ่ายภาพไว้ได้ คาดว่าน่าจะเป็นฉลามครีบด่าง (Bronze Whaler Shark) ทั้งนี้ ชายหาดในประเทศออสเตรเลีย มักประสบปัญหาปลาฉลามเข้าทำร้ายนักท่องเที่ยวบ่อยครั้ง

วัดใจ! ปปช.ยื่นดาบ'บิ๊กตู่'ชี้ขาดเอง ปม 2 รมต.ถือหุ้นเกิน 5%

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รักษาราชการแทนเลขาธิการฯ ป.ป.ช. เปิดเผยความคืบหน้ากรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ถือหุ้นบริษัทเอกชน และการลงทุนทำธุรกิจเกิน 5% อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้วทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาตามข้อกฎหมาย และดูจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริง ก่อนได้ข้อสรุปว่า เรื่องนี้ไม่เข้าข่ายอยู่ในอำนาจพิจารณาของ ป.ป.ช. จึงส่งเรื่องไปยังต้นสังกัด คือ นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตรวจสอบเองหรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากถือว่ารัฐมนตรีทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนายกฯ รวมทั้งได้ส่งข้อสรุปดังกล่าวไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับทราบด้วย

แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้สรุปเรื่องดังกล่าวส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยกรณีนี้อาจมีผลต่อการพิจารณาของนายกฯในการปรับครม.ของรัฐมนตรีบางคนด้วย


รบ.เล็งขอความร่วมมือเอกชน หนุนกล้องวงจรปิดให้เชื่อมโยงภาครัฐ

16 พ.ย. 60 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กำชับให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการบริหารการบูรณาการแผนและระบบกล้อง ประสานทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดติดตาม รวบรวมข้อมูลสถานภาพกล้องวงจรปิดทั่วประเทศที่มีอยู่จริง จากการสำรวจที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงระบบกล้องทั่วประเทศ และแผนบริหารจัดการระบบและการใช้ข้อมูลของทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดต่างๆและภาพรวมของประเทศ ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประชุมภายใน พ.ย.60

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย พิจารณาจัดทำแผนติดตั้งกล้องวงจรปิดเร่งด่วนเพิ่มเติมในพื้นที่จุดเสี่ยงที่จำเป็นของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือภาคเอกชน สนับสนุนการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งนอกอาคาร ให้สามารถสานต่อครอบคลุมเป็นเครือข่ายดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ในภาพรวม

พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า การบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายและใช้ศักยภาพกล้องวงจรปิดภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนติดกล้องวงจรปิดรถยนต์สาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและติดตามการเชื่อมโยงปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่า ความร่วมมือของภาคเอกชนในงานความมั่นคง จะเป็นกำลังร่วมที่สำคัญในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและสร้างวินัยทางสังคมควบคู่กันไปในภาพรวม


บิ๊กตู่ช่วยด้วย ราคายางตกต่ำดัน'ปฏิรูปสินค้าเกษตร เปลี่ยนผู้ว่ากยท.'

7 พ.ย. 60 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งก.พ.) นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา 4 อำเภอ คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

โดยนายนายณัฎฐ์ชนน กล่าวว่า จากปัญหาราคายางตกต่ำ ตนจึงขอยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ

1. ปฏิรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเกษตรกรรม และตลอด30 ปีที่ผ่านมา เป็นวงจรวิกฤตราคาสินค้าเกษตรทุกๆปี สลับตามฤดูกาล เช่น ยาง ข้าวปาล์ม มันสำปะลัง และผลไม้ เป็นต้น จึงขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสินค้าเกษตรหลัก โดยให้นายฯเร่งดำเนินการในขณะที่ยังมีอำนาจทางบริหาร

2. ขอให้เปลี่ยนผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องยางพารา แต่ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ยังไม่สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงเห็นควรให้มีการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงาน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยด่วน


'สมคิด'ต้อนรับผู้ว่าฯมิเอะ ร่วมขยายการลงทุนในอีอีซี

16 พ.ย. 60 เวลา 09.00 น. ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะและคณะนักธุรกิจ พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ด้วยการเลือกบุกเจาะตลาดที่สำคัญในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีเอะ นำคณะนักธุรกิจ เข้าพบ โดย จังหวัดมิเอะเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียง ด้านอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร การแพทย์ แหล่งท่องเที่ยว ที่ขึ้นชื่อ เช่นเนื้อมัสซึซากะ

ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ต้องการนำกลุ่มเอสเอ็มอี เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย โดยในพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว กว่า 30 บริษัท ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ญี่ปุ่นสนใจ คือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เครื่องมือแพทย์ รถยนต์ อาหาร เครื่องปรุ่ง ที่ไทยถือว่ามีวัตถุดิบ แต่ยังองค์ความรู้ ในการแปรรูปเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังจะให้ความร่วมมือกับทางการไทย ในด้านการศึกษา จับมือมหาวิทยาลัยพัฒนาบุคคลากร โดยเฉพาะด้านวิศกร ที่ทางการไทยยังขาดแคลน ขณะเดียวกันไทยยังเตรียมที่จะขยายความร่วมมือกับจังหวัดอื่นๆในญี่ปุ่นด้วย

นายสมคิด กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ของญี่ปุ่นที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นราย สนใจที่จะขยายธุรกิจสู่กลุ่มอาเซียน ซึ่งไทยเองก็ถือว่าเป็นประเทศหนึ่ง ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงเป็นที่น่าสนใจของญี่ปุ่น

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ กล่าวว่า มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมกล่าวถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากนี้ประเทศไทยจะมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป โดยปีนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทั้งสองประเทศ เพราะเป็นปีที่ครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ก็หวังให้เกิดการพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่องร่วมกันยิ่งขึ้นไปด้วย


อดีตเจ้าอาณานิคมต้านเผด็จการ จี้กองทัพซิมบับเวเร่งคืนอำนาจ

16 พ.ย.60 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานถึงสถานการณ์ในประเทศซิมบับเว ภายหลังกองทัพเคลื่อนกำลังยึดเมือง และกักตัวประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ และภริยา เอาไว้ ว่า บรรยากาศในกรุงฮาราเร เมืองหลวงของซิมบับเว ยังคงเป็นไปอย่างปกติ ขณะที่กองทัพซิมบับเว ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงรุ่งสางของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ยืนยันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นเพียงการจัดการกับอาชญากรที่สร้างความเจ็บปวดทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าใครคือผู้นำภารกิจครั้งนี้ แต่ พล.อ.คอนสแตนติโน ชีเวนกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซิมบับเว กล่าวเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ว่ากองทัพอาจต้องแสดงบทบาท หาก มูกาเบ และพรรคสหภาพแห่งชาติซิมบับเวแอฟริกัน หรือซานู-พีเอฟ ยังไม่ยุติการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ขณะที่สหภาพแอฟริกา(เอยู) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของแอฟริกา ระบุว่า การที่กองทัพซิมบับเวเข้ายึดครองอำนาจและควบคุมตัว มูกาเบ เอาไว้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการปฏิวัติรัฐประหาร

นอกจากนี้ เอยู ยังได้แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในซิมบับเว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าจะให้การสนับสนุนสถาบันที่ถูกต้องตามหลักกฏหมาย และเรียกร้องให้กองทัพซิมบับเว เร่งคืนอำนาจการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญกลับสู่ประเทศโดยเร็ว

ขณะที่ ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้(เอสเอดีซี ) ซึ่งซิมบับเวเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก มีกำหนดจัดการประชุมวาระฉุกเฉินที่บอตสวานา ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พ.ย.นี้ ตามเวลาท้องถิ่น

ด้านทำเนียบประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เผยแพร่แถลงการณ์ของประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา ว่า ได้มีโอกาสสนทนาทางโทรศัพท์กับ มูกาเบ ซึ่งยืนยันว่าตัวเขาและนางเกรซ มูกาเบ ภริยา สบายดี แต่อยู่ภายใต้การกักบริเวณโดยกองทัพ และไม่สามารถเปิดเผยสถานที่พำนักในตอนนี้ได้

ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวเรียกร้องให้คู่กรณีทุกฝ่ายในซิมบับเว หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและเจรจากันโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างสันติ

ส่วนนายบอริส จอห์นสัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของซิมบับเว เตือนว่าสหราชอาณาจักรคัดค้านการถ่ายโอนอำนาจให้แก่เผด็จการ

ซูจีถกยูเอ็น-สหรัฐวิกฤติโรฮีนจา

นางออง ซาน ซู จี รัฐมนตรีต่างประเทศ และมนตรีแห่งรัฐในฐานะผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา มีโอกาสได้พบหารือกับทั้งนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมอาเซียน ที่กรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ โดยนายกูเตอร์เรสแสดงความเป็นห่วงชะตากรรมของชาวโรฮีนจากว่า 600,000 คน ที่อพยพหนีเข้ามาในบังกลาเทศช่วงสองเดือนครึ่งที่ผ่านมา ว่าควรได้เดินทางกลับเมียนมา

แถลงการณ์ของเลขาธิการยูเอ็นที่แสดงความเป็นห่วงปัญหาด้านมนุษยธรรม ความปลอดภัย การส่งกลับ และการปรองดองภายในชุมชนชาวโรฮีนจาในเมียนมา มีขึ้นก่อนหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่นางซู จี จะได้พบกับนายทิลเลอร์สัน ระหว่างการหารือนอกรอบการประชุมเอเชียตะวันออกที่กรุงมะนิลา แต่รัฐบาลสหรัฐยังคงระมัดระวังในการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และหลีกเลี่ยงที่จะวิจารณ์นางซู จี ในระหว่างการพบกับนายทิลเลอร์สัน นางซู จี ไม่สนใจตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าชาวโรฮีนจาเป็นพลเมืองของเมียนมาหรือไม่ ขณะที่นายทิลเลอร์สันซึ่งมีกำหนดเดินทางไปเมียนมาในวันพุธ กล่าวเพียงคำว่า ขอบคุณเมื่อถูกผู้สื่อข่าวตั้งคำถามถึงเรื่องที่ได้คุยกับผู้นำเมียนมา

ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม ขอให้สหรัฐออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาเพื่อยุติความโหดร้ายดังกล่าว ขณะที่สมาชิกสภาสหรัฐบางคนขอให้จำกัดความร่วมมือทางทหารกับกองทัพเมียนมา ห้ามทหารเมียนมาเข้าสหรัฐ และห้ามนำเข้าหยกหรือทับทิมจากเมียนมา แม้มาตรการเหล่านี้อาจถือว่าล่าช้าเกินไป แต่ก็เป็นขั้นตอนแรกในการกดดันกองทัพเมียนมาให้ยุติเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่