16 พ.ย.61 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองขนาดเล็ก เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 ก.พ.62 ว่า ต้องดูว่าปัญหาความไม่พร้อมเกิดจากอะไร ถ้าเป็นความบกพร่องของ กกต.ก็เป็นเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทุกคนก็ทราบตารางเวลาและยืนยันว่าสามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะ กกต.กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น จึงควรยึดกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพราะการเลือกตั้งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ต้องไปอธิบาย อีกทั้งประชาชนรอคอยและคาดหวังการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจ และมีสิทธิเสรีภาพมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้น กกต.และ คสช.ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น
"ผมยังมองไม่เห็นเหตุผลว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งเพราะอะไร หากหยิบยกเงื่อนไขเรื่องพรรคการเมืองใหม่ไม่มีความพร้อมก็จะไม่จบไม่สิ้น เพราะมีพรรคการเมืองเกิดใหม่ตลอดเวลา โดยทุกคนทราบกติกาตั้งแต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรหากต้องการจัดตั้งพรรคการเมือง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตนอยากให้ กกต.เร่งรัด ซึ่งเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองที่มีความพร้อมเรื่องสมาชิกพรรคอยู่แล้ว เพราะต้องเลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและการตั้งสาขาพรรค ส่วนพรรคการเมืองที่ยังมีปัญหาเรื่องการหาสมาชิก การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ไม่ใช่อุปสรรคของพรรคเหล่านี้
"ผมพร้อมรับฟังเหตุผล หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเลื่อนเลือกตั้ง จะเลื่อนออกไป 7 วัน หรือ 14 วัน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องชี้แจงถึงเหตุผลให้ชัดเจน กกต.และ คสช.ต้องตอบคำถามด้วย ว่ากำลังมีการใช้พรรคการเมืองเกิดใหม่มาเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ หากมีการเลื่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง กกต.และ คสช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะจะส่งผลลบกับส่วนรวมมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีการเลื่อนหลายครั้งแล้ว จะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า หากมีการเลื่อนเลือกตั้ง จะทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ ทั้งภาพลักษณ์ที่รัฐบาลได้ประกาศกับนานาประเทศ ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.62 และยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่ขาดทุน ซึ่งหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป รัฐบาล และ คสช.ต้องรับผิดชอบ
16 พ.ย.61 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16 /2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องการที่ กกต.ยังไม่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งระบุว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองต่างๆ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ดังกล่าว แต่เนื่องจากมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ร้องเรียนจำนวนมากว่าการร่วมแสดงความคิดเห็นไม่หลากหลายครบถ้วน และการพิจารณาเสนอแนะจากระดับพื้นที่ขึ้นไปยัง กกต.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์รวมทั้งการทำงานของ กกต.ก็เร่งรัดเข้ามา
ดังนั้น เพื่อให้การแบ่งเขตเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสมควรผ่อนผัน และขยายเวลาให้ กกต.ดำเนินการต่อไป ตามหน้าที่และให้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนป้องกันการกระทำอันอาจเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ หรือราชการแผ่นดิน จึงให้ในกรณีที่ กกต. , คสช.หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบ หรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณา หรือดำเนินการแบ่งเขตสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือเลือกตั้งตามหมวด 3 การจัดการเลือกตั้งแห่ง พ.ร.ป.ส.ส.และข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ให้ได้ข้อยุติ หากเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือมีมติใดๆ ของ กกต.ที่ออกไว้ให้ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามมติของ กกต.ทั้งนี้ ให้จัดทำและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ
นอกจากนี้ ยังระบุว่า การพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดเพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งให้พรรคการเมืองสามารถสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่เห็นสมควร นายกฯ อาจเสนอให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ และให้คำสั่งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
16 พ.ย.61 นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในการทำ Facebook Live ว่า จากการที่ช่วงนี้มีข่าวว่าแกนนำนปช.คนนั้นไปอยู่พรรคนี้ แกนนำนปช.คนนี้ไปอยู่พรรคโน้น อะไรต่างๆมากมาย สร้างความสับสนให้กับมวลชนนปช.เป็นอย่างมาก จึงได้มาเล่าสถานการณ์ของแกนนำนปช.ในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้
ทั้งนี้ สถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งอื่นๆ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาเป็นเรื่องระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมืองต่อสู้กันว่าพรรคไหนจะได้รับชัยชนะ แต่ครั้งนี้เป็นสนามการต่อสู้ตามอุดมการณ์แนวทางของนปช.คือเราสนับสนุนฟากฝั่งที่ต่อต้านเผด็จการ ดังนั้นพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เอาและต่อต้านเผด็จการ ต้องการล้มล้างผลพวงการทำรัฐประหารก็จะเป็นพรรคการเมืองตามหลักการที่นปช.ต้องสนับสนุนทั้งหมด จึงชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนพรรคการเมืองหนุนคสช. ฉะนั้นแกนนำหรืออดีตแกนนำใดที่ไปอยู่พรรคการเมืองที่หนุนคสช.ชัดเจนนั้น ความเป็นนปช.ก็จบและสิ้นสุดลง
นางธิดา กล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้นมวลชนต้องก้าวข้ามผู้สมัคร ก้าวข้ามพรรคการเมือง และต้องก้าวข้ามแกนนำนปช.ด้วย โดยขอเรียกร้องในแต่ละพื้นที่ให้มีการสอดส่องว่าคะแนนนิยมจะเป็นเช่นไร คะแนนในอดีต ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองเดิมที่ได้รับชัยชนะในพื้นที่นั้นๆ และพรรคนั้นอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย เราก็ต้องเลือกว่าทำอย่างไรให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นส.ส.เขตมากที่สุด ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นควรจะได้ในพื้นที่ที่ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้รับชัยชนะ ก็จะเก็บคะแนนตกน้ำเหล่านั้นเอามาเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ
นางธิดา กล่าวเสนอแนวคิดว่า พรรคการเมืองอาจจะมีการบริหาร แต่ประชาชนก็ต้องบริหารคะแนนเสียงของตัวเองในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยที่ตนบอกว่าให้เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย อย่าได้ไปสับสนว่า พรรคนี้เป็นพรรคของจตุพร พรรคนี้มีณัฐวุฒิ พรรคนี้มีหมอเหวง แล้วจะทำอย่างไร ต้องก้าวข้ามให้หมด คือ เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยและทำให้มีโอกาสได้ส.ส.มากที่สุด แน่นอนที่พรรคเพื่อไทยได้เปรียบที่จะต้องมีส.ส.เขตอยู่แล้วจำนวนมาก ก็ต้องรักษาพื้นที่ แต่พรรคใหม่ๆที่เกิดขึ้นเพื่อเก็บคะแนนตกน้ำให้สามารถแปรเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น พี่น้องประชาชนก็สามารถที่จะคัดสรรได้ ตนไม่ไปก้าวล่วง
อย่างไรก็ตาม เพียงแต่วิธีคิดของตนซึ่งไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ในขาของการต่อสู้ ตนถนัดที่จะอยู่ในขาของการขับเคลื่อนของประชาชน แต่ถือว่าขาในเวทีรัฐสภาก็เป็นเวทีการต่อสู้เช่นกัน ซึ่งก็อยากให้ได้รับชัยชนะในเวทีรัฐสภาด้วย จึงต้องใช้กลยุทธ์ “ก้าวข้าม” แต่ “หวัง” ชัยชนะในภาพรวมทั้งหมด ฉะนั้นพื้นที่ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นางธิดา ระบุว่า ถ้าเรายึดหลักการของนปช. เราใช้ยุทธศาสตร์ 2 ขา เราต้องการได้รับชัยชนะทั้งเวทีรัฐสภาและในเวทีขับเคลื่อนประชาชน บางคนบอกว่าไม่มีอีกแล้วนปช. ตนกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเราผ่านการเลือกตั้งมา 2 รอบ และเป้าหมายนปช.ก็คือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถ้าเป้าหมายไม่บรรลุ ยังมีความพยายามจะทำรัฐประหารอีก นปช.จะดำรงอยู่ เพราะเราไม่ใช่องค์กรเฉพาะกิจที่มาล้มรัฐบาลแบบพธม.หรือกปปส.
“คำถามที่ว่านปช.ยังอยู่ไหม? ตนขอกล่าวว่า “ยังอยู่” ที่อยู่เพราะเป้าหมายยังไม่บรรลุ คนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยก็ต้องต่อสู้ต่อไป แต่การที่แกนนำแยกไปอยู่กันคนละพรรคสองพรรค ขออธิบายว่า “นี่คือเวทีรัฐสภา” ใครก็มีสิทธิที่จะไปรวบรวมผู้คนเป็นกลุ่มเป็นพรรคตามวิธีคิดของตัวเอง หรือแกนนำนปช.ส่วนอื่นที่ยังอยู่กับพรรคพท.ก็มี บางส่วนก็ไปอยู่พรรคทษช. นี่ไม่ใช่วิกฤติ” นางธิดา กล่าว
นางธิดา กล่าวด้วยว่า คิดให้ดีนี่เป็นโอกาส เพราะในเวทีรัฐสภา การที่มีพรรคเดียวนั้นดีตรงที่หาเสียงง่าย แต่เมื่อ รธน.60 เขียนเช่นนี้ ถ้าคุณมีพรรคเดียวคุณมีโอกาสแพ้ ดังนั้นเพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ การมีหลายพรรคมีข้อดีตรงที่ว่าอาจได้เสียงเพิ่มขึ้น ถ้าวางแผนดี ขณะเดียวกันอาจเป็นทางเลือกหลากหลายเพราะวิธีคิดพรรคการเมืองอาจไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยก็มีทางออกมากขึ้น มีทางเลือกของประชาชนมากขึ้น ประชาชนจะทำอย่างไรให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงมากที่สุด เลือกพรรคที่มีโอกาสจะได้เสียงมากที่สุด โดยก้าวข้ามผู้สมัคร, ก้าวข้ามพรรคการเมือง, ก้าวข้ามแกนนำนปช. แล้วเอาฝ่ายประชาธิปไตยเป็นหลัก อย่างมีกลยุทธ์ ทำอย่างไรให้คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ เก็บให้หมดแล้วแปรให้เป็นผู้แทน
นางธิดา ระบุว่า ตนเชื่อว่าประชาชนจะมีบทบาทสูงมากโดยก่อนเลือกตั้งประชาชนต้องส่งเสียงให้มีการปลดล็อก ให้มีการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมเกิดขึ้นให้ได้ตามกำหนด ระหว่างที่มีการเลือกตั้งก็ต้องตรวจสอบการโกง การแจกใบเหลืองใบแดงอย่างไม่เป็นธรรม และหลังเลือกตั้งสมมุตฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลที่เรียกว่า “เป็ดง่อย” ประชาชนต้องเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่ดูแลรัฐบาลไม่ให้เป็น “รัฐบาลเป็ดง่อย” ให้อยู่ได้ยาวนานที่สุด ป้องกันไม่ให้มีการทำรัฐประหาร นี่เป็นภารกิจของการขับเคลื่อนประชาชนซึ่งเป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรงและมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองอย่างเต็มที่
“นับจากวันนี้ไปการขับเคลื่อนของประชาชนขบวนใหญ่ไม่ใช่เฉพาะนปช. แต่เป็นผู้รักประชาธิปไตยทั้งหมดจะขับเคลื่อนอย่างแข็งแรงมากขึ้นเพราะมันมีเหตุผลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าทุกขเวทนาของประชาชนที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของการทำรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจนั้นไม่ควรจะยาวนานต่อไปแล้ว อำนาจต้องเป็นของประชาชน ในเวทีรัฐสภาประชาชนต้องเข้ามาเพื่อให้ได้ตัวแทน ประชาชนต้องทำหน้าที่ก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเข้มแข็งมากขึ้น อยากให้ประชาชนมองว่าเวทีรัฐสภาครั้งนี้เป็นสนามของการต่อสู้ของฝ่ายเอาและไม่เอารัฐประหารอย่างแข็งขัน อย่างมีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งในระบอบรัฏฐาธิปัตย์หรือระบอบเผด็จการนั้นเป็นการต่อสู้ที่แหลมคม” นางธิดา กล่าว
16 พ.ย.61 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา เปิดบ้านพักให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ดำเนินการรับสมัครสมาชิกพรรค รปช.ว่า ตนได้พูดคุยกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้แล้ว เพื่อให้ไปดูข้อเท็จจริง โดยได้เห็นคำสัมภาษณ์ของนายถาวรด้วยเช่นเดียวกัน จึงอยากบอกว่าการมีความคุ้นเคยและตอบแทนบุญคุณเป็นการส่วนตัวไม่ใช่ปัญหา เพราะความผูกพันของคนข้ามพรรคมีขึ้นได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกพรรคหลายคนก็เคยไปต้อนรับเพื่อนต่างพรรคเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องดูว่ามีการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่ เพราะจะขัดกับหน้าที่ของสมาชิกที่กำหนดในข้อบังคับพรรค และจะสร้างความสับสนให้ประชาชน รวมถึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าเกี่ยวพันไปถึงการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกแยะให้ได้ เพราะทั้งนายสุเทพ และนายถาวร ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ในทางการเมือง น่าจะทราบดีอยู่แล้ว เมื่อสร้างความสับสนให้ประชาชนก็ไม่ควรทำ ส่วนกรณีที่มีการปราศรัยพาดพิงถึงพรรค นายนิพิฏฐ์ก็กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ และนายถาวรก็มีสิทธิ์ชี้แจง
ส่วนกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะเปิดบ้านต้อนรับนายสุเทพ เช่นเดียวกับนายถาวรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เปิดบ้านต้อนรับเพื่อดื่มน้ำกินข้าวไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน จะอ้างเรื่องความใจใหญ่เป็นพรรคเป็นพวกกัน ก็ต้องพิจารณาว่า การเมืองต้องชัดเจนตรงไปตรงมา เพราะประชาธิปัตย์ต้องการสร้างบรรทัดฐานและเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องแยกแยะเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ไม่เช่นนั้นก็จะจมอยู่กับวังวนปัญหาเดิม
"ผมยังไม่สามารถระบุได้ว่าบทลงโทษจะเป็นอย่างไร เพราะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน โดยมีกระบวนการและขั้นตอนในการสอบอยู่แล้ว เชื่อว่าการสอบสวนเรื่องนี้จะไม่ทำให้พรรคแตกแยก เพราะพรรคต้องมีความชัดเจนในการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ถ้าคิดว่าจะไม่เคารพหลักการวิธีการทำงานพื้นฐาน ก็เดินไปได้ยากในวันข้างหน้า และเชื่อว่าการตรวจสอบจะไม่ล่าช้า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด่วน! หมอสูติฯ พูดแล้ว หลังถูกสาวแจ้งจับ ข่มขืนในคลินิกตอนตรวจภายใน บอกไม่มีอะไรมาก หากข้องใจสามารถเข้าไปดูได้ ย้ำไม่ฟ้องเหยื่อ ชี้ไม่อยากทำร้ายใคร
จากกรณี นายแพทย์ชื่อดัง จ.นครสวรรค์ ก่อเหตุข่มขืนคนไข้สาวตอนตรวจภายใน โดยตอนแรกหมออ้างใช้ของปลอมสอดใส่ แต่กลับใส่ถุงยางให้ของปลอมด้วย พร้อมเผยแพร่แช็ตที่ดาราสาว บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ทักแช็ตเล่าเรื่องราวและข้อมูลเหตุการณ์ในครั้งนี้ ก่อนที่เหยื่อสาวจะเข้าแจ้งความ พร้อมเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับวันเกิดเหตุ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 16 พ.ย. ที่คลินิกหมอจักรพงษ์ จ.นครสวรรค์ นพ.จักรพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของคลินิค เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีอะไรมาก ตนไม่อยากพูดเยอะ หากข้องใจอะไร สามารถเข้าไปดู หรือตรวจสอบบริเวณคลินิก หรือภายในห้องตรวจได้เลย ตนจะไม่มีการฟ้องกลับกับทางผู้เสียหายแต่อย่างใด เพราะตนไม่อยากทำร้ายใคร