ข่าว
ยูเอ็น-ไบเดน กดดันกองทัพเมียนมาปล่อยตัว ‘ซูจี’

วันศุกร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 18.54 น.สหประชาชาติ/วอชิงตัน/ย่างกุ้ง (เอเอฟพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาชาติเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ที่เป็นพรรครัฐบาล ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ระบุว่า กองทัพเมียนมาควรสละอำนาจ รวมถึงปล่อยตัวเจ้าหน้าที่และนักเคลื่อนไหวที่ถูกควบคุมตัวหลังเกิดเหตุรัฐประหาร

สมาชิกทั้ง 15 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ซึ่งได้รับความเห็นชอบร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวานนี้ เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ที่เป็นพรรครัฐบาล พร้อมกับเน้นย้ำถึงการรักษาาสถาบันและกระบวนการทางประชาธิปไตย หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรมอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ภาษาที่ใช้ในแถลงการณ์ฉบับนี้ ลดความแข็งกร้าวลงจากฉบับร่างที่อังกฤษเป็นผู้ดำเนินการและไม่ได้กล่าวถึงการก่อรัฐประหาร ซึ่งเป็นได้ชัดว่าเพื่อให้จีนและรัสเซีย ไม่ออกเสียงคัดค้านแถลงการณ์ดังกล่าว จีนและรัสเซียมักจะช่วยปกป้องเมียนมาให้รอดพ้นจากมาตรการต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง และจีนก็มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลในเมียนมาและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทางด้านกองทัพ คณะผู้แทนทางการทูตของจีนในสหประชาชาติกล่าวว่า รัฐบาลจีนหวังว่า ใจความสำคัญในแถลงการฉบับนี้ จะส่งไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและนำไปสู่ทางออกในทางที่ดีในเมียนมา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวในการแถลงนโยบายต่างประเทศครั้งแรกว่า สหรัฐกำลังประสานงานกับประเทศพันธมิตรและแนวร่วมเพื่อดำเนินการกับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาที่ควบคุมตัวนางซูจี รวมถึงพลเรือนคนอื่นๆ และว่ากองทัพเมียนมาควรสละอำนาจที่ยึดมา และปล่อยตัวกลุ่มผู้สนับสนุน นักเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่ที่ถูกควบคุมตัวไว้ รวมถึงยกเลิกมาตรการเข้มงวดด้านโทรคมนาคมและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

ขณะที่ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ระบุว่า นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีไบเดนได้ต่อสายเจรจาทางโทรศัพท์ร่วมกับคณะทูตของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่เมียนมาเป็นประเทศสมาชิก โดยได้อธิบายถึงความกังวลของผู้นำสหรัฐในเรื่องการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และกล่าวชื่นชมกลุ่มประเทศอาเซียนที่ให้ความสนใจในเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของแรงสนับสนุนระดับภูมิภาคเพื่อช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาในทันที

กองทัพพม่าปราบหนัก จับแกนนำอาวุโสพรรค NLD เผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิต

กองทัพเมียนมาจับกุม ‘วิน เต็ง’ แกนนำอาวุโสพรรคเอ็นแอลดี ภายใต้กฎหมายปลุกระดม เผชิญโทษสูงสุด จำคุกตลอดชีวิต หลังวิจารณ์กองทัพ และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหาร จับซูจี

เมื่อ 5 ก.พ. 64 สำนักข่าวบีบีซีรายงาน กองทัพเมียนมาเดินหน้าปราบปรามอดีตเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลพลเรือน จับกุมนายวิน เต็ง หนึ่งในแกนนำอาวุโสและคณะกรรมการบริหารพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 64 หลังจากกองทัพได้จับกุมนางซูจี รวมถึงประธานาธิบดีอู วิน มินต์ จากนั้น ได้ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล เมื่อ 1 ก.พ. 64

นายวิน เต็ง วัย 79 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาควบคุมตัวไปจากบ้านพัก โดยนายวิน เต็ง ได้เปิดเผยกับนักข่าวบีบีซีว่า เขาถูกจับกุมภายใต้กฎหมายปลุกระดม ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ถึงแม้จะไม่ได้รับการตั้งข้อหาอย่างแน่ชัดก็ตาม ‘พวกทหารไม่ชอบในสิ่งที่ผมพูด พวกเขากลัวว่าผมจะพูดอะไร’ นายวิน เต็ง กล่าวกับนักข่าวบีบีซี

ทั้งนี้ นายวิน เต็ง ซึ่งถือเป็นผู้อุปการะต่อพรรคเอ็นแอลดี และเป็นผู้ให้การสนับสนุนซูจีมาตลอด ได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้งวิจารณ์กองทัพและพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พ.ย. 63 และพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย

พม่า กับ เมียนมา ประเทศเดียวมีสองชื่อ สื่อถึงการเมืองด้วย

พม่า กับ เมียนมา - เอพี รายงานว่า คำแถลงของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่เรียก เมียนมา ว่า “พม่า” หรือภาษาอังกฤษ ว่า Burma - เบอร์มา ต่อกรณีจะทบทวนมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้การรัฐประหาร เป็นเจตนาที่ต้องการตอกย้ำว่า จะไม่ญาติดีแก่กองทัพเมียนมา

ก่อนหน้านี้ “พม่า” เป็นคำเรียกชื่อประเทศที่ใช้กันมานานหลายชั่วอายุคนโดยตั้งชื่อตามกลุ่มชาติพันธุ์ “เบอร์มา” ซึ่งมีความโดดเด่นที่สุด แต่ชื่อ “เมียนมา” มาจากกองทัพ ที่ต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศ เมื่อปี 2532 หลังการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนองเลือดเมื่อปี 2531 ทำให้ “พม่า” กลายเป็นที่รังเกียจจากนานาชาติ ยากที่จะกู้ภาพลักษณ์คืน

ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ให้นานาชาติยอมรับ พม่าจึงทิ้งชื่อเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการเห็นว่าชื่อเก่า ไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ

ส่วนในประเทศ การเปลี่ยนชื่อไม่มีความหมายอะไรมากนัก ในภาษาพม่า คำว่า “เมียนมา” เป็นคำที่เป็นทางการมากกว่าคำว่า “พม่า” เท่านั้นเอง แต่เปลี่ยนชื่อประเทศที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษมาใช้ “เมียนมา” ซึ่งเป็นตามหลักภาษาศาสตร์ แต่บางคนก็ไม่ยอมใช้ชื่อใหม่ตามที่กองทัพตั้งขึ้น

สิบกว่าปีมานี้ พม่าเริ่มเปลี่ยนผ่านมาเป็นบอบ “กึ่งประชาธิปไตย” เพราะกองทัพยังคงกุมอำนาจทางการเมือง แต่ผู้นำฝ่ายค้านหลายคนได้รับการปล่อยตัวจากคุกและปล่อยให้เป็นอิสระจากการกักบริเวณภายในบ้าน รวมทั้งจัดการเลือกตั้งซึ่งเปิดโอกาสให้นางออง ซาน ซู จี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยได้ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือน

ไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศและสำนักข่าวบางแห่ง รวมทั้ง เอพี จึงเริ่มใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของประเทศและ “เมียนมา” กลายเป็นชื่อเรียกสามัญมากขึ้น แต่รัฐบาลสหรัฐ ยังเรียกว่า “พม่า” สลับกับเมียนมา

เมื่อปี 2555 นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นเยือนเมียนมา และใช้คำเรียกทั้ง พม่า และ เมียนมา เนื่องจากที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานธิบดีแนะว่าเป็น “บวกมากๆ” และเป็น “การรับรู้รัฐบาลเมียนมา”

แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารในเมียนมา ทั้งนายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อประเทศตามกฎหมาย


เบียร์คิริน จากญี่ปุ่น ยุติการลงทุนในเมียนมา หลังกองทัพรัฐประหาร

‘คิริน’ บริษัทผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ประกาศยุติการลงทุนในเมียนมาแล้ว หลังกองทัพก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อ 5 ก.พ. 64 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงาน บริษัทคิริน โฮลดิงส์ บริษัทผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ สัญชาติญี่ปุ่น ออกแลงการณ์ในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. ประกาศกำลังยุติการร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมทุนในเมียนมา ‘เมียนมา อิคอนอมิค โฮลดิงส์ พับบลิค คอมปานี’ ที่ดำเนินมานาน 6 ปี เนื่องจากบริษัทร่วมทุนแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกองทัพที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และจับกุมนางออง ซาน ซูจี เมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา

บริษัทคิริน ระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า ทางบริษัทมีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์กองทัพก่อรัฐประหารในเมียนมา และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยุติการร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมทุนในเมียนมา

‘พวกเราตัดสินใจลงทุนในเมียนมาเมื่อปี 2558 เพราะเชื่อมั่นว่าการทำธุรกิจของพวกเราว่าจะสามารถเสริมสร้างสิ่งที่เป็นบวกต่อประชาชนและเศรษฐกิจในประเทศเมียนมา ขณะได้เข้าสู่ระยะเวลาที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย’ แถลงการณ์ของบริษัทคิริน โฮลดิงส์ ที่ได้ตัดสินใจยุติการร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมทุน เมียนมา อิคอนอมิค โฮลดิงส์ พับบลิค คอมปานี ซึ่งเป็นบริษัทที่สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้ว่าเป็นบริษัทที่มี Tatmadaw หรือกองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการ

ก่อนหน้านี้ หลังจากนางซูจี นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยคว้าชัยการเลือกตั้งในปี 2558 และเมียนมาได้ยุติการปกครองแบบเผด็จการทางทหารที่ดำเนินมานานนับครึ่งศตวรรษ ทำให้บริษัทคิริน ทุ่มเงิน 560 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.68 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทผลิตเบียร์ชั้นนำในเมียนมา และมีบริษัท เมียนมา อิคอนอมิค โฮลดิงส์ฯ เป็นบริษัทร่วมลงทุน


จอห์นสัน & จอห์นสัน ยื่นขอ FDA อนุมัติฉุกเฉิน วัคซีนโควิด ฉีดเข็มเดียว

บริษัทจอห์นสัน & จอห์นสัน ยื่นขอ FDA อนุมัติใช้ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบฉีดเข็มเดียว หลังผลการทดสอบพบว่าสามารถป้องกันการเสียชีวิต หรือป่วยด้วยโรคโควิด-19 จนต้องเข้าโรงพยาบาล 100%

เมื่อ 5 ก.พ. 64 เว็บไซต์เดลี่เมล รายงาน สหรัฐฯ กำลังขยับขึ้นอีกขั้น จะถึงการฉีดวัคซีนแค่เพียงโดสเดียวในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เมื่อคืนวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อขออนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบโดสเดียว หรือเข็มเดียว ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้แจ้งผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน แก่อาสาสมัครในหลายประเทศทั่วโลก พบว่า สามารถป้องกันการเสียชีวิตและป่วยด้วยโรคโควิด-19 จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 100% และก่อนหน้านี้ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ยื่นเรื่องต่อ FDA เมื่อ 29 มกราคมที่ผ่านมา ในการขออนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน หลังพบว่าวัคซีนของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 1 โดส สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 66 % อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโควิด-19 ในประเทศแอฟริกาใต้ 57% ขณะที่เผชิญกับ ‘เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์แอฟริกาใต้’ กำลังระบาดในประเทศ

หาก FDA อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จะทำให้เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดที่ 3 ที่ได้รับการอนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉินจาก FDA ให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ต่อจากวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค และวัคซีนของโมเดอร์นา ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อธันวาคม 2563


นัดหยุดงานอีกอาชีพ ! ครูเมียนมาชูสามนิ้ว ต้านรัฐประหาร ขอไม่ทำงานรับใช้ทหาร

นัดหยุดงานอีกอาชีพ กลุ่มครูเมียนมารวมตัวต้านรัฐประหาร ขอไม่ทำงานรับใช้ทหาร พร้อมชูสามนิ้ว ผูกริบบิ้นสีแดง และถือป้ายประท้วง

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า กลุ่มอาชีพครูในเมียนมา เป็นกลุ่มอาชีพล่าสุดที่เข้าร่วมการรณรงค์อารยะขัดขืน โดยมีครูชาวเมียนมาจำนวนมากปฏิเสธที่จะทำงานหรือให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการ เพื่อเข้าร่วมประท้วง ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

การรณรงค์อารยะขัดขืนเพื่อประท้วงรัฐประหาร เริ่มต้นขึ้นในกลุ่มอาชีพแพทย์และพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารเพียงไม่นาน ต่อมาการรณรงค์อารยะขัดขืนและเดินขบวนประท้วงได้ถูกแพร่กระจายไปยังกลุ่มนักศึกษา กลุ่มเยาวชน และแรงงานบางส่วน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

โดยในการรณรงค์ประท้วง จะมีการติดหรือผูกริบบิ้นสีแดง และถือป้ายประท้วง ซึ่งในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 64 กลุ่มอาชีพครูและอาจารย์จำนวนมาก ได้มารวมตัวกันประท้วงที่หน้าอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งย่างกุ้ง

อาจารย์ นเว ทาซิน ฮเลียง กล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้กองทัพทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ เราจะไม่ทำงานกับพวกเขาอีกต่อไป เราต้องการให้การรัฐประหารของกองทัพล้มเหลว”

ฮันนี่ ลวิน อาจารย์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เรามีเป้าหมายที่จะล้มระบบการบริหาร ด้วยวิธีการหยุดงานประท้วงอย่างสงบ”

กลุ่มอาชีพครูและอาจารย์จำนวนมาก รวมถึงผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารกองทัพเมียนมา ใช้สัญลักษณ์ในการประท้วง ด้วยการชูนิ้วสามนิ้วขึ้น โดยให้ฝ่ามืออยู่สูงกว่าลำตัว ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว มาจาก ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายประเทศในทวีปเอเชีย ที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ได้นำสัญลักษณ์ดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ ถือว่าการประท้วงมีผู้เข้าร่วมเป็นสัดส่วนที่สูง หากพิจารณาจากสัดส่วนของเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาการศึกษาแห่งย่างกุ้ง ซึ่งมีจำนวนราว 246 คน ในมหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประท้วงมากถึง 200 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานการประท้วงในลักษณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยดากอง ในย่างกุ้ง และที่อื่นๆ อีกเช่นกัน

การต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นในกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ และครูอาจารย์นั้น ดำเนินไปพร้อมกับการประท้วงที่มีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่าของประชาชนทั่วไป ทั้งในรูปของการตีกระป๋องและหม้อกระทะ รวมไปถึงการบีบแตรรถ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร

ไม่เพียงแต่ในย่างกุ้งเท่านั้น ในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 64 เมืองทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลักของเขตตะนาวศรีทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา ก็มีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารจำนวนมากเข้าร่วมการเดินขบวน รวมถึงขบวนต่อต้านในรูปแบบรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีผู้ประท้วงคนหนึ่ง กล่าวว่า “กลุ่มจากเมืองทวาย ขอประกาศเริ่มการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ทวาย เราขอเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมและยืนหยัดกับเรา”

ทั้งนี้การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในเมียนมาและการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น มีมาโดยตลอด ในปี พ.ศ.2531 เกิดการลุกฮือที่เริ่มต้นจากนักศึกษาในเมืองย่างกุ้ง โดยการประท้วงในครั้งดังกล่าว ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน รวมถึง พระภิกษุ เยาวชน นักศึกษา แพทย์ ฯลฯ ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองเผด็จการ แต่รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายหมื่นคน ต่อมาในปี พ.ศ.2550 เกิดการประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการได้เข้าสลายการชุมนุมและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตราว 3000 คน

'รัสเซีย-สหรัฐฯ' เห็นพ้อง ต่ออายุสนธิสัญญาลดอาวุธถึงปี 2026

5 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศว่า รัสเซียและสหรัฐอเมริกาได้ขยายสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือ “นิวสตาร์ต” (New START) อย่างเป็นทางการแล้ว เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา (3 ก.พ.)

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้แลกเปลี่ยนบันทึกทางการทูตกับสถานทูตสหรัฐฯ ว่าด้วยการดำเนินขั้นตอนทั้งหมดที่รัสเซียจำเป็นต้องทำเพื่อต่ออายุสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

“เราจะปฏิบัติตามสนธิสัญญานิวสตาร์ตที่เคยมีการลงนามไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมใดๆ จนถึงวันที่ 5 ก.พ. 2026” กระทรวงฯ ระบุทั้งยังเสริมว่า การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีของรัสเซียและสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความคืบหน้าครั้งนี้

กระทรวงฯ เน้นย้ำว่า “เราหวังว่าการบรรลุความเข้าใจร่วมกับวอชิงตันในครั้งนี้ ซึ่งเกี่ยวพันกับโชคชะตาของสนธิสัญญาหลักด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ จะช่วยควบคุมแนวโน้มที่มีอิทธิพลในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่ทำลายกลไกการควบคุมอาวุธและกลไกการจำกัดการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ “

กระทรวงฯ เสริมว่ารัสเซียพร้อมที่จะดำเนินการเจรจาที่สร้างสรรค์กับสหรัฐฯ ต่อไป เพื่อบรรลุผลลัพธ์ใหม่ในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ระดับโลก