ข่าว
สุดยื้อ ! ตลกคนดัง ‘น้าค่อม’ เสียชีวิตแล้ว หลังเข้ารักษาตัวด้วยโรคโควิด

ช็อกแฟนๆ ! ตลกคนดัง ‘น้าค่อม’ เสียชีวิตแล้ว หลังเข้ารักษาตัวด้วยโรคโควิด หลังจาก ‘น้าค่อม’ ค่อม ชวนชื่น-อาคม ปรีดากุล เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อ โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดไอซ์ ณพัชรินทร์ ลูกสาวของน้าค่อมแจ้งว่า ตลกคนดังได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 เมษายน

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 29 เมษายน ลูกสาวได้เผยอาการของน้าค่อม ว่า อาการของคุณพ่ออยู่ในภาวะโคม่า อวัยวะหลายอย่างล้มเหลว รวมถึงการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะชีพจรกับความดัน ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ทางทีมแพทย์ได้ทำการช่วยเหลือทุกทางแล้ว ซึ่งการฟอกเลือดในตอนนี้ก็อาจจะไม่ช่วย ร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำ ยากดภูมิอื่นๆ ก็ให้ไม่ได้ เนื่องจากมีอาการติดเชื้อ อาจจะทำให้แย่กว่าเดิม


เคลื่อนศพไปฌาปนกิจแล้วจำเป็นต้องเผาวันนี้ ?

ศพน้าค่อมเคลื่อนย้ายไปที่วัดแล้วมีการฌาปนกิจน้าค่อมในวันนี้เลย เวลา 15.00 น. วิธีการคือนำร่างน้าค่อมเข้าไปสู่เมรุ มีการทอดผ้า มีพระสัก 4 รูป สวดอภิธรรมให้น้าค่อม และนำน้าค่อมเข้าไปสู่ภายในเมรุ หลังจากนั้นน่าจะมีการเก็บอัฐิในวันนี้ และจะมีการทำบุญอีกครั้ง สิ่งหนึ่งซึ่งตกใจมาก ปกติคนรักษาโควิด ประมาณ 14 วันรับยาไปแล้ว ถ้าไม่มีอาการหนักจะทุเลาและดีขึ้น แต่ที่แน่ๆ เชื้อโควิดน่าจะหายไปใน 14 วัน แต่น้าค่อม 19 วัน เอาแค่เข้ารพ.วันที่ 12 จนวันนี้ 19 วัน ทำไมยังมีเชื้อโควิดอยู่ ?

“จริงๆ ต้องทำความเข้าใจว่า ศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ทางการแพทย์เราเขียนแนวทางไว้แล้วว่าวิธีจัดการศพเราทำยังไง แน่นอนคนที่แพทย์พยาบาลที่ดูแลก่อนเสียชีวิต นั่นคือเสี่ยงที่สุด ศพเหล่านี้ก่อนมีการบรรจุใส่โลง ต้องมีการพ่นยา ใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น แต่ละชั้นก็มีการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกชั้น ฉะนั้นอันนี้มั่นใจว่าศพจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้และศพเหล่านี้คำแนะนำทางการแพทย์คือ หนึ่งเวลาญาติโยมต่างๆ ขอความกรุณาอย่าเปิดศพดูหน้า เพราะว่ามีโอกาสเชื้อแพร่ได้ จริงๆ เขามีซีลไว้หมดแล้ว เรียบร้อย ผมก็คิดว่าการแพร่เชื้อจากศพที่อยู่ในโลง โอกาสมันเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์”

เพราะศพหายใจไม่ได้ พ่นละอองออกมาไม่ได้ แต่สารคัดหลั่งติดอยู่ตามตัวได้ ?

โรคนี้มาจากทางเดินหายใจ ฉะนั้นศพไม่สามารถสั่งน้ำมูกได้ ไม่สามารถไอได้ โอกาสแพร่เชื้อเป็น ศูนย์เลย”

จำเป็นต้องเผาในวันเดียว เพราะตามวัดทุกวัดที่ทราบ ศพต้องเผาเลย ?

“จริงๆ สวดแล้วเผา ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ แต่เป็นเรื่องของทางสังคม ที่บอกว่ารีบๆ เผาไปเถอะ เราจะเห็นว่าศพพวกนี้ส่วนใหญ่ก็เผาเลย จริงๆ สวดก็ได้ เพราะศพไม่ได้แพร่ไปไหน แต่ญาติโยม พระสงฆ์องค์เจ้าไม่ค่อยไว้ใจ เรียนให้ทราบว่าไว้ใจได้ เพราะเชื้ออยู่ในร่างกายศพ มีการซีล คลุม 3-4 ชั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะแพร่ออกมา ยกเว้นท่านไปเปิด เราถึงแนะนำไม่ให้เปิดโดยเด็ดขาด”

ภัยพิบัติซัดซ้ำ ! โคลนถล่มโรงไฟฟ้าอินโดฯ หวั่นสังเวยอื้อ

ภัยพิบัติซัดซ้ำ ! – วันที่ 30 เม.ย. เอเอฟพีและ สเตรตส์ไทมส์ รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ภัยพิบัติใน ประเทศอินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุดินโคลนถล่มที่โรงไฟฟ้าในจังหวัดสุมาตราเหนือ ภายหลังฝนตกกระหน่ำอย่างหนักตั้งแต่เย็นวันพฤหัสบดีที่ 29 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น เบื้องต้นหน่วยกู้ภัยพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย แต่คาดว่าจะมีเหยื่อติดใต้ซากโคลนอีกหลายราย

นายราดิตยา จาติ โฆษกหน่วยงานตอบสนองภัยพิบัติท้องถิ่น เปิดเผยว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำบาตังโทรู โรงไฟฟ้าที่ทางการจีนสนับสนุน “มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย และหน่วยกู้ภัยกำลังเร่งค้นหาผู้ประสบภัยคนอื่นๆ” นายจาติกล่าว และระบุอีกว่ามีผู้สูญหายอย่างน้อย 9 คน ในจำนวนนี้รวมถึงพนักงานชาวจีนด้วย

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้งที่สุดในโลก และเพิ่งประสบภัย พายุหมุนเขตร้อนเซอโรจา พัดถล่มเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของอินโดนีเซียและติมอร์เลสเตรวมกันกว่า 200 ราย และหลายหมื่นคนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย


แม่บ้านในฮ่องกงติดโควิด “สายพันธุ์แอฟริกา” ลุยล็อกดาวน์-กักตัวทั้งอพาร์ทเมนท์

วันที่ 30 เม.ย. ซินหัว และบลูมเบิร์กรายงานความคืบหน้าสถานการณ์โรคโควิด-19 ในฮ่องกง หลังพบผู้ติดเชื้อภายในที่ไม่สามารถสืบหาต้นตอได้เป็นคนแรก หนำซ้ำยังเป็นการติดเชื้อกลายพันธุ์ เอ็น 501 วาย (N501Y) สายพันธุ์ อี 484 เค (E484K) ที่พบในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงและรักษาได้ยาก ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในฮ่องกงพบอีก 4 คน ส่งผลให้ยอดสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 11,775 คน และเสียชีวิตแล้ว 209 ราย

นายโรนัลด์ หล่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ปกป้องสุขภาพของรัฐบาลฮ่องกง (ซีเอชพี) ออกแถลงการณ์ว่า แรงงานทำงานบ้านวัย 39 ปี และทารกเพศหญิงวัย 10 เดือนที่อาศัยอยู่กับหญิงคนดังกล่าวในอาคารที่พักตุงชุง มีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ส่งผลให้ผู้พักอาศัยทั้งหมดต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อและจำเป็นต้องแยกกักตัวนาน 3 สัปดาห์

“เนื่องจากเป็นกรณีติดเชื้อในพื้นที่รายแรก ทั้งยังเชื่อมโยงกับไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายไปยังสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวด้วย เราคิดว่าสถานการณ์นี้น่ากลัวมากๆ เราต้องดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อป้องกันและควบคุม” นายหล่ำกล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่าแม่บ้านที่ติดเชื้อเดินทางไปโบสถ์ในย่านซิงอี้เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์ปกป้องสุขภาพฮ่องกงจะเร่งกักตัวบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย พร้อมเตือนถึงความรุนแรงของสถานการณ์และเรียกร้องให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด


'อังกฤษ' พบฉีดวัคซีนโควิด-19 ‘โดสเดียว’ ลดแพร่เชื้อได้ถึงครึ่ง

30 เมษายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ผลการศึกษาจากสำนักสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ระบุว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพียงโดสเดียว สามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้สูงถึงครึ่งหนึ่ง

การศึกษาข้างต้นระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสฯ อย่างน้อย 3 สัปดาห์ มีแนวโน้มแพร่เชื้อไวรัสฯ ให้ผู้อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกันลดลงร้อยละ 38-49 เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) หรือแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จำนวน 1 โดส

ปีเตอร์ อิงลิช ที่ปรึกษาวัยเกษียณจากสำนักควบคุมโรคระบาด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวสกาย นิวส์ (Sky News) ว่า การค้นพบนี้น่ายินดีอย่างยิ่ง ทำให้มีหลักฐานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าการฉีดวัคซีนจะป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อ แม้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะติดเชื้อไวรัสฯ แต่พวกเขาก็มีแนวโน้มแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้น้อย

การศึกษาดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 57,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ใน 24,000 ครัวเรือนที่มีผู้ฉีดวัคซีนแล้วหนึ่งคน โดยพวกเขาถูกนำมาเปรียบเทียบกับประชาชนเกือบ 1 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ สหราชอาณราจักรมีประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกแล้ว 33.8 ล้านคน โดย 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ขณะโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศถูกขยายให้ครอบคลุมประชาชนอายุ 42 ปีขึ้นไป


'อินเดีย' ป่วยโควิด-19 เพิ่มกว่า 3.8 แสน ยอดรวมทะลุ 18.7 ล้าน

30 เม.ย. 64 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขกลางของอินเดีย รายงานว่ายอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในประเทศสะสมอยู่ที่ 18,762,976 ราย ในวันศุกร์ (30 เม.ย.) หลังตรวจพบผู้ป่วยเพิ่ม 386,452 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมง

ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรวมอยู่ที่ 208,330 ราย หลังตรวจพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 3,498 ราย นับตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี (29 เม.ย.) ยอดผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวรวมอยู่ที่ 3,170,228 ราย หลังตรวจพบผู้ป่วยต้องรักษาตัวเพิ่ม 85,414 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยหายดีรวมอยู่ที่ 15,384,418 ราย

ด้านกรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศ ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์นาน 2 สัปดาห์จนถึงวันที่ 3 พ.ค. นี้

ปัจจุบันอินเดียฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประชาชนมากกว่า 152 ล้านโดสแล้ว (152,245,179 โดส) และมีการตรวจโรครวม 286,392,086 ครั้ง เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (29 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันที่มีการตรวจโรคสูงถึง 1,920,107 ครั้ง

ทั้งนี้ สำนักสาธารณสุขของกรุงเดลี หนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในประเทศ ตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มกว่า 24,000 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 395 ราย ในวันพฤหัสบดี (29 เม.ย.) โดยยอดผู้ป่วยเสียชีวิตของเดลีรวมอยู่ที่ 15,772 ราย

ด้านผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ 873,747 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 151,094,320 คน ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดห้าดับแรกรองจากอินเดีย คือบราซิลที่ 69,079 สหรัฐฯ 57,220 ตุรกี 37,674 และฝรั่งเศส 26,538

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงสุดห้าดับแรกของโลกยังคงนำโดยสหรัฐฯ ที่ 33,040,715 ตามด้วยอินเดียและบราซิล 14,592,886 ฝรั่งเศส 5,592,390 และรัสเซีย 4,796,557

จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 14,564 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 3,178,095 ราย โดยมีสองประเทศที่มีผู้เสียชีวิตหลักพันคืออินเดียและบราซิล

บราซิลยังทำสถิติมีผู้เสียชีวิตทะลุ 401,417 ราย หลังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3,074 รายในหนึ่งวันที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นยอดผู้เสียชีวิตที่มากเป็นอันดับสองของโลก

ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดห้าดับแรกของโลกนำโดยสหรัฐฯ ที่ 589,181 ตามด้วยบราซิลและเม็กซิโก 215,918 จากนั้นจึงเป็นอินเดียและอังกฤษที่ 127,502

ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วอยู่ที่ 128,973,428 คน


ไบเดนแถลงหลังนั่ง 100 วัน ประกาศอเมริกาเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง

วันศุกร์ ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 : วอชิงตัน (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์ ต่อที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นครั้งแรก ที่กรุงวอชิงตันในวาระครบ 100 วันแรกที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ โดยเขาระบุว่า สหรัฐฯ กำลังก้าวเดินไปข้างหน้าอีกครั้งแล้ว

ไบเดน กล่าวปราศรัยในห้องประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โดยครั้งนี้ลดขนาดการประชุมลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ผู้เข้าร่วมเป็น สส.และวุฒิสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน โดยนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกยืนอยู่ด้านหลังเขา เคียงข้างกับนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า อเมริกาพร้อมที่จะออกบิน พร้อมทำงานอีกครั้ง ฝันอีกครั้งค้นหาอีกครั้งและก้าวนำโลกอีกครั้ง เขากล่าวด้วยว่า โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในด้านโลจิสติก ไบเดนกล่าวว่า ต่อไปนี้สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างเศรษฐกิจอีกครั้งต่อสู้กับความไม่เสมอภาคซึ่งจะเป็นแผนงานที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เขาระบุว่า ชาวอเมริกันชนชั้นแรงงานถูกละเลย ในขณะที่กลุ่มผู้ที่ร่ำรวยที่มีอยู่ร้อยละ 1 ร่ำรวยกว่าเดิมไปอีก และแผนการของเขาคือการให้

โอกาสแก่ชนชั้นแรงงาน

ไบเดนได้แถลงถึงแผน American Families Plan ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านเครดิตภาษีวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ และมาตรการเร่งด่วนอื่นๆ สำหรับประชาชนในสหรัฐฯ ทั้งการดูแลเด็ก การให้สิทธิลางานเพื่อดูแลครอบครัวโดยยังได้รับค่าตอบแทนและการยกเว้นค่าเล่าเรียนสำหรับวิทยาลัยในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการขึ้นภาษีคนรวยในสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี และยังกล่าวถึงแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกันที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาทั้งสองแผนนั้นมีขึ้น หลังจากไบเดนได้เสนอแผน American Rescue Plan วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ต่อเนื่องกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ในส่วนของนโยบายต่างประเทศ ไบเดน กล่าวเน้นว่า สหรัฐฯ จะกลับไปเป็นหุ้นส่วนกับนานาประเทศหลังจากที่ความเป็นหุ้นส่วนเสียหายในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาระบุว่า ไม่มีประเทศใดจะสามารถประสบความสำเร็จเพียงลำพังได้ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับจีน ไบเดนกล่าวว่า จีนกำลังพยายามก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจซึ่งสหรัฐฯ ยินดีที่จะมีการแข่งขัน และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แต่เขาจะปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันทั้งหมดและยืนหยัดต่อสู้กับการค้าที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นการเอาเปรียบแรงงานและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ อาทิ การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ และการขโมยเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

ส่วนประเด็นในประเทศ เขาจะเดินหน้าปฏิรูปตำรวจในนามของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ถูกตำรวจล็อกคอจนเสียชีวิต เนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของเขาซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ค.นี้ ปฏิรูปการรับต่างด้าวและการควบคุมอาวุธปืนซึ่งบางประเด็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดในวงการเมืองสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ไบเดนกล่าวว่า ชาวอเมริกันสนับสนุนการปฏิรูปในครั้งนี้ และเขาทราบว่าพรรครีพับลิกันได้ร่วมหารือกับสมาชิกพรรคเดโมแครตในกรณีดังกล่าว

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง สันติภาพกลายเป็นกระดาษ สงครามเชื้อชาติไม่มีวันจบ

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) บุกยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่า 2 ครั้งในระยะเวลา 1 เดือน เท่ากับว่า สัญญาสงบศึกแห่งชาติที่ลงนามกันไว้เมื่อปลายปี 2015 ถูกทำลายแล้ว

เหตุการณ์ที่นักรบแห่งกอทูเลของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army: KNLA) บุกยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ตัตมาดอว์ (Tatmadaw) 2 ครั้งในระยะเวลา 1 เดือน คือวันที่ 27 มีนาคม และ 27 เมษายน 2021 เหมือนเป็นเครื่องชี้ว่า สัญญาสงบศึกแห่งชาติที่ลงนามกันไว้เมื่อปลายปี 2015 คงจะกลายเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกไปเสียแล้ว

ไม่มีสัญญาณแห่งการประนีประนอม หรือการเจรจาใดๆ ในเวลานี้ ตัตมาดอว์ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในหลายพื้นที่ตามเขตยึดครองของกะเหรี่ยง ยังผลให้ประชาชนในพื้นที่เสียชีวิต (นับเฉพาะในเดือนมีนาคม) อย่างน้อย 20 บาดเจ็บ 60 และอีกประมาณ 20,000 คนในหลายเมือง ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงกลายเป็นคนพลัดถิ่น การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายเมื่อปลายเดือนเมษายนส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยตามแนวชายแดนริมแม่น้ำสาละวินด้านอำเภอแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย

ซอว์ เคอร์ โด่ โฆษกกองพลน้อยที่ 5 ของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง กล่าวกับสื่อมวลชนว่า การโจมตีฐานที่มั่นตัตมาดอว์ทั้งสองครั้งนั้น เป็นการตอบโต้ต่อการรัฐประหาร และการปราบปรามประชาชนผู้ประท้วง ซึ่งรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นองค์กรของกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ที่สุดในประเทศพม่า ก่อตั้งโดย ซอ บา อู จี เมื่อปี 1947 เริ่มจับอาวุธขึ้นสู้กับทางการหลังประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่รวมกันต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองกลุ่มนี้มีการจัดองค์กรได้ค่อนข้างเป็นระบบ มีโครงสร้างองค์กรชัดเจน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) เป็นองค์กรทำหน้าที่ทางการเมือง เดิมเคยมีพรรคการเมืองในชื่อ พรรคเอกภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ส่วนกองกำลังติดอาวุธนั้นจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ แรกๆ ใช้ชื่อว่า กองทัพกอทูเล (Kawthoolei Armed Forces) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงผ่านการนำของคนหลายรุ่นหลายอุดมการณ์ ยุคแรกๆ มีความโน้มเอียงไปในแนวทางคอมมิวนิสต์ มีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนกระทั่งเกิดการแตกแยกภายในเพราะแนวคิดต่างกัน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเริ่มเป็นเอกภาพชัดเจนภายใต้การนำของนักสู้ชาตินิยมกะเหรี่ยงนาม โบ เมี๊ยะ ตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกิดการแตกแยกและถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2004 เมื่อตัตมาดอว์ สามารถบ่อนเซาะยุยงให้กะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธแยกตัวออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งถูกครอบงำโดยผู้นำที่เป็นคริสต์อย่าง โบ เมี๊ยะ

กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธเรียกตัวเองว่า กองทัพพุทธประชาธิปไตยกะเหรี่ยง (Democratic Karen Buddhist Army: DKBA) พาตัตมาดอว์โจมตีมาเนอร์ปลอว์ (Manerplaw) ฐานที่มั่น กอทูเล ซึ่งครั้งหนึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของกะเหรี่ยง จนแตกพ่ายในปี 1995 จากนั้นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงก็ตกอยู่ในกระแสต่ำ

ถูกกะเหรี่ยงพุทธและตัตมาดอว์ไล่ล่า โบ เมี๊ยะ เองก็ลดบทบาทลงมาก ก่อนที่จะวางมือ และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลในอำเภอแม่สอดเมื่อปี 2006

จากนั้นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอยู่ภายใต้การนำของ ปะโด่ มาน ซา แต่ก็เพียงระยะสั้นๆ ก่อนจะถูกสังหารที่บ้านพักในอำเภอแม่สอด เมื่อปี 2008 ซึ่งน่าจะเป็นยุคที่กองกำลังกะเหรี่ยงตกต่ำอย่างที่สุด ในช่วงนั้นนโครงสร้างและการนำค่อนข้างคลุมเครือ มีข่าวการแย่งอำนาจและความแตกแยกภายในอยู่เนืองๆ จนกระทั่งปี 2012 เมื่อสมัชชาใหญ่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเลือก ซอว์ มูทู เซ โป ขึ้นเป็นประธาน เพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การนำของ พลเอกเต็งเส่ง จนประสบความสำเร็จ สามารถบรรลุข้อตกลงในสัญญาสงบศึกแห่งชาติในเดือนตุลาคม 2015 ซอว์ มูทู เซ โป แสดงออกในที่สาธารณะว่าเขาเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพตลอดมา ทั้งยังได้แสดงความเห็นและเรียกร้องให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมในสัญญาสงบศึกแห่งชาติได้มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ เขาเป็นผู้นำคณะของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเข้าร่วมประชุมปางโหลง ศตวรรษที่ 21

มีรายงานข่าวว่า เขาได้พบปะหารือกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดของตัตมาดอว์อยู่เนืองๆ โดยทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่าจะต้องประคับประคองให้สัญญาสงบศึกสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด ถึงแม้ว่าจะช้าอยู่บ้างตลอดระยะเวลา 5 ปีภายใต้รัฐบาลของออง ซาน ซูจี แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานหรือบันทึกใดที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งกอทูเลและตัตมาดอว์จะแผ้วถางทางการเจรจาในเรื่องกิจการทหารระหว่างกันได้

เพียงวันเดียว ก่อนที่ มิน อ่อง หล่าย จะยึดอำนาจจากรัฐบาล ออง ซาน ซูจี และก่อรัฐประหาร ซอว์ มูทู เซ โป ได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นวันชาติกะเหรี่ยง ว่าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ยอมพักรบชั่วคราวเพื่อเข้าร่วมการเจรจากับรัฐบาลก็เพื่อให้สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการรับรองภายใต้การเจรจาทางการเมือง

“สัญญาสงบศึก ยังไม่ใช่สันติภาพที่แท้จริง แต่เราจะได้พบกับสันติภาพที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และชาวกะเหรี่ยงได้รับการเคารพและยอมรับ และ (พวกเรา) ต้องมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิอัตวินิจฉัย (self-determination) ภายใต้การรับประกันของรัฐธรรมนูญ”

มาถึงวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่า สันติภาพที่ชาวกะเหรี่ยงอยากจะเห็นช่างเลือนราง ซอ เดอร์ โด่ โฆษกกองพลน้อยที่ 5 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน The Irrawaddy ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เชียงใหม่ว่า ยังไม่อาจจะรู้ได้ว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะพัฒนาไปอย่างไร แต่ไม่ว่าอย่างไร สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสนับสนุนขบวนการอารยขัดขืน รวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ที่เพิ่งตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลคู่ขนานกับรัฐบาลทหาร

ที่สำคัญ ชาวกะเหรี่ยงไม่ยอมรับสภาบริหารแห่งชาติของ มิน อ่อง หล่าย “การยึดอำนาจ และการสังหารประชาชนมือเปล่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”