ข่าว
'เกาหลีเหนือ'อวดโลก ทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงสำเร็จ

6 มกราคม 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กองทัพประชาชนเกาหลี (เคพีเอ) เปิดเผยว่า ประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธนำวิถีเคลื่อนที่เป็นแนวขวางได้เป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร และสามารถทำลายเป้าหมายซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก 700 กิโลเมตรได้อย่างแม่นยำ

นักวิเคราะห์วิเคราะห์จากภาพถ่ายขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อวานนี้ว่า เป็นขีปนาวุธทิ้งตัวเชื้อเพลิงเหลวติดหัวรบที่สามารถเปลี่ยนเป้าหมายได้กลางอากาศ โดยทะยานขึ้นจากยานยนต์ที่เป็นฐานปล่อยขีปนาวุธ มีความแตกต่างจากขีปนาวุธฮวาซอง-8 ที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อเดือนกันยายน และนำมาจัดแสดงที่กรุงเปียงยางเมื่อเดือนตุลาคม

ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงมีความเร็วมากกว่าความเร็วเสียง 5 เท่า หรือราว 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มักร่อนไปยังเป้าหมายที่ระดับความสูงต่ำกว่าขีปนาวุธแบบทิ้งตัว นักวิเคราะห์ชี้ว่า สิ่งสำคัญของขีปนาวุธชนิดนี้ไม่ใช่ความเร็ว แต่คือการใช้จัดวางกลยุทธ์ เพราะหลายปีมานี้เกาหลีเหนือได้พัฒนาและทดสอบยิงขีปนาวุธที่ดูเหมือนจะต้องการเอาชนะขีปนาวุธป้องกันที่ใช้ในเกาหลีใต้และสหรัฐ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงถือเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่จะทำให้ศัตรูไม่มีเวลาตอบโต้ และเหนือกว่าระบบการป้องกันแบบดั้งเดิม

อั้นไม่อยู่!‘หมูหัน’เจ้าดังอ่างทองขยับราคา การันตีกรอบนอกนุ่มใน หม่ำได้ทั้งตัวเช่นเดิม

6 มกราคม 2565 ที่ร้าน “เจ้ระเบียบหมูหัน นำจิ้มรสเด็ด” หมู่ 9 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง “หมูหัน” เจ้าดังเจ้าอร่อยของ จ.อ่างทอง ช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากราคาหมูที่เป็นวัตถุดิบขึ้นราคา และยังคงหาได้ยาก ส่งผลกระทบให้หมูหันต้องปรับขึ้นราคา 200-500 บาทต่อตัว จากเดิมราคา 1,800 บาท ปรับใหม่เป็น 2,000 บาท และ 2,000 บาท ปรับใหม่ 2,500 บาท เนื่องจากราคาต้นทุนหมูราคาสูงขึ้น และหาได้ยาก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาต้องยกเลิกจองลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นลูกหมูหาได้ยาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

นายสมนึก กล่ำชม อายุ 65 ปี กล่าวว่า เมื่อวัตถุดิบที่เป็นลูกหมูปรับตัวขึ้น ทางร้านต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย คือ 200-500 บาทต่อตัว เนื่องจากลูกหมูที่เป็นวัตถุดิบหาซื้อยาก ไม่ค่อยมี ส่วนลูกค้ายังมีเหมือนเดิม ที่ร้านเน้นสดใหม่ทั้งหมูและน้ำจิ้มตัวต่อตัว ส่วนรสชาติกรอบนอกนุ่มในอร่อยเหมือนเดิม และปริมาณเหมือนเดิม ดีทุกอย่าง และจะพัฒนาความอร่อยให้ดีขึ้นไปอีก

ส่วน “เจ้ระเบียบ กล่ำชม” อายุ 61 ปี กล่าวว่า หมูหันของที่ร้านเน้นสดใหม่ทุกวัน บริการส่งฟรีถึงที่ใน จ.อ่างทอง พร้อมเตาย่างหากลูกค้าต้องการ ส่วนจังหวัดใกล้เคียงจะคิดค่าส่งตามระยะทาง เปิดขายทุกวัน โทรมาสั่งจองได้ที่ 081-994-0295 แต่ช่วงนี้หมูที่เป็นวัตถุดิบหายาก ราคาปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่วนรสชาติยังคงเหมือนเดิม กรอบนอกนุ่มใน รับประทานได้ทั้งตัว น้ำจิ้มใหม่สดตัวต่อตัว


โฆษกกองทัพเรือยันกองทัพเรือไม่เสนอของบฯซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3

วันนี้ (6 ม.ค.65) เมื่อเวลา 16.00 น. พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีการรายงานข่าวว่ากองทัพเรือไม่เสนอของบประมาณซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ในปีงบประมาณ 2566 โดยโฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่ากองทัพเรือจะไม่เสนองบประมาณซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และที่ 3 ในวงเงิน 22,500 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ทำให้กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีหนี้ผูกพันเดิมค่อนข้างมาก กองทัพเรือจึงจำเป็นต้อง ใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล ต้องรักษาสมดุลของ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

โดย พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ มีนโยบายที่จะนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในส่วนของกองทัพเรือ ไปเน้นใช้ในการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดการด้านสวัสดิการของกำลังพล โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย อย่างไรก็ตามกองทัพเรือยังมีความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำ เพราะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่เป็นหลักประกันอธิปไตยและความมั่นคงทางทะเลของไทย เพียงแต่ต้องรอเวลาที่เหมาะสม

โฆษกกองทัพเรือกล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่นในกองทัพเรือภายใต้การนำของ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ซึ่งตระหนักดีว่า งบประมาณที่เราได้รับเป็นภาษีของประชาชน ในการพิจารณาดำเนินการเรื่องใดๆ จะดำเนินการตามเหตุผลความเป็นจริงที่สามารถอธิบายได้ โดยจะยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ


'อินเดีย'พบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19‘โอมิครอน’รายแรก

6 มกราคม 2565 สำนักข่าวซินหัวรายงาน กระทรวงสาธารณสุขกลางของอินเดียรายงานกรณีผู้เสียชีวิตรายแรกที่มีความเชื่อมโยงกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน โดยผู้ป่วยเสียชีวิตรายดังกล่าวอยู่ในเขตอุทัยปุระ รัฐราชสถานทางตะวันตกของประเทศ

ลัฟ อักการ์วัล เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงฯ แถลงข่าวว่าในทางเทคนิคแล้วเป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุที่มีรายงานว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานขั้นรุนแรงและมีโรคร่วมด้วย และพบผลตรวจเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน เป็นบวกหลังจากเสียชีวิตแล้ว

ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันพุธ (5 ม.ค.) กระทรวงฯ เปิดเผยว่าปัจจุบันอินเดียมีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน อยู่ที่ 2,135 ราย ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในรัฐมหาราษฏระ 653 ราย และเมืองเดลี 464 ราย


สื่อมะกันชี้ติดโอมิครอนอาการป่วยน้อยกว่าเดลตา แต่ห่วงคนไม่ฉีดวัคซีนยังเสี่ยงเข้ารพ.-ตายสูง

วันที่ 6 มกราคม 2565 สำนักข่าว Voice of America สหรัฐอมเริกา เสนอข่าว Omicron Is Milder Than Delta But Nothing to Sneeze At ระบุว่า ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายโอมิครอน อาจไม่ทำอันตรายต่อปอดมากเท่ากับไวรัสกลายพันธุ์สายเดลตา ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนยังอาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดการระบาดในระลอกล่าสุดซึ่งเป็นเชื้อโอมิครอน ผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจึงน้อยกว่าการระบาดระลอกก่อนๆ ถึงกระนั้น โอมิครอนก็ยังคร่าชีวิตชาวอเมริกันเฉลี่ย 1,200 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับการระบาดระลอกที่ 2 เมื่อช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2563

โจ โกรฟ (Joe Grove) นักวิชาการอาวุโส ศูนย์วิจัยไวรัสแห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ กล่าวว่า ถ้าโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา เดลตานั้นก็น่ากลัว และมันไม่จำเป็นว่าต้องกลายเป็นไข้หวัดธรรมดาๆ ในทันทีทันใด ดังนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ควรกังวล อนึ่ง บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การปล่อยให้ไวรัสโอมิครอนระบาดเป็นวงกว้างก็ยังสามารถสร้างความเสียหายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนซึ่งเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง

ในการวิจัยกับสัตว์ทดลอง พบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปอดมากเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และไม่สร้างความเสียหายหรือก่ออาการอักเสบมากนัก ในทางกลับกัน โอมิครอนสามารถติดเชื้อได้ที่เนื้อเยื่อจมูกและลำคอ การเลือกติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนแบบนี้ จึงอธิบายได้ว่าเหตุใดไวรัสสายโอมิครอนถึงแพร่กระจายได้รวดเร็วและกว้างขวางมาก โกรฟ คาดเดาว่า มันจะทำให้การไอ-จามเป็นช่องทางแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น

ศ.ไมค์ ไดมอนด์ (Prof.Mike Diamond) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรีของสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้การศึกษาในห้องปฏิบัติการจะเผยให้เห็นมุมที่ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสัตย์ทดลองไม่จำเป็นต้องเกิดกับมนุษย์เสมอไป พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในสหราชอาณาจักรมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมาก ส่วนแอฟริกาใต้คนจำนวนมากติดเชื้อในการระบาดระลอกแรก จึงกลายเป็นมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ บรรดาแพทย์ในแอฟริกาใต้และสหราชอาณาจักร รายการคล้ายกันว่า แม้เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะระบาดไปทั่วประเทศ แต่ผู้ป่วยหนักก็ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ถึงกระนั้นก็บอกได้ยากเป็นเพราะไวรัสหรือปัจจัยของผู้คน ซึ่งยังมีสัญญาณดีมาจากเมืองออนแทริโอ ประเทศแคนาดา ที่ผลการศึกษาพบว่า กรณีเป็นผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน อัตราการเสียชีวิตหรือป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลจากการได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน น้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาถึงร้อยละ 60

แต่ถึงอาการป่วยเมื่อติดเชื้อจะรุนแรงน้อยลง ก็ยังมีคำเตือนเรื่องการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และนั่นทำให้โรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐฯ กลับมาเผชิญสถานการณ์เตียงเต็มอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็พบว่า ผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลคือผู้ที่ยังไมได้ฉีดวัคซีน อาทิ ในเมืองนิวยอร์ก ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง สัดส่วนผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนถึง 30 เท่า และประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลมากที่สุด

วินีท มีนาเชอรี (Vineet Menachery) นักไวรัสวิทยา สาขาวิชาการแพทย์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า แม้ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจะรุนแรงน้อยกว่า แต่ดูเหมือนยังสร้างความเสียหายไม่น้อยในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ข่าวดีก็คือแนวโน้มของไวรัสระลอกนี้จะรุนแรงน้อยกว่าครั้งก่อน โดยเฉพาะหากเป็นคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ภัยคุกคามจากอาการป่วยรุนแรงน่าจะอยู่นอกตารางสำหรับคนส่วนใหญ่ ในทางกลับกัน คนที่ไม่ฉีดวัคซีน ภัยคุกคามนั้นอันตรายพอๆ กับการระบาดเมื่อเดือน มี.ค. 2563

‘ลาว’ล้ำ! ผลิตยาต้านโควิด‘โมลาโคเวียร์’ รักษาผู้ติดเชื้อระยะแรก-ป่วยอาการน้อย

6 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ นสพ. The Star ของมาเลเซีย เสนอข่าว Lao factory producing Molacovir for treatment of Covid-19 patients ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 โรงงานผลิตยาหมายเลข 3 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล สปป.ลาว เปิดเผยว่า ได้เผลิตยาต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 “โมลาโคเวียร์ (Molacovir)” ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับ “โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)” ถูกใช้ครั้งแรกในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอมอรี รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ก่อนที่ริดจ์แบ็ค ไบโอเธอราปิติกส์ (Ridgeback Biotherapeutics) บริษัทยาในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ได้ซื้อสิทธิบัตรและร่วมมือกับบริษัทเมิร์ค (Merck) พัฒนาจนเป็นยารักษาโควิด-19

ก่อนหน้านี้ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) รับรองยาโมลนูพิราเวียร์ สำหรับใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระยะแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลดอัตราการเสียชีวิตได้ในอนาคต ขณะที่การผลิตยาโมลาโคเวียร์และโครงการนำร่องจะได้รับการตรวจสอบโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่อไป โดยสื่อมาเลเซียอ้างแหล่งข่าวซึ่งเป็นพนักงานในโรงงาน ที่เปิดเผยผ่าน นสพ.Vientiane Times สื่อท้องถิ่นใน สปป.ลาว ว่า เมื่อลาวได้สิทธิ์ในการผลิต โรงงานก็เริ่มผลิตยานี้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา และในขณะนี้มียาเพียงพอรักษาผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 1,000 คน

ข้อดีของโมลาโคเวียร์คือเป็นยาใช้รับประทาน โดยผู้ติดเชื้อ 1 คนจะใช้ยา 40 แคปซูล ใช้สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการปอดบวมหรือขาดออกซิเจน ซึ่งจะได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน โดยค่าใช้จ่ายสำหรับยา 1 ชุด มีราคาอยู่ที่ 4 แสนกีบ หรือเกือบ 1,200 บาท เบื้องต้นได้แจกจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อไปแล้ว 500 คน และกระจายยาไปตามร้านขายยาในกรุงเวียงจันทน์รวมถึงเมืองอื่นๆ

โครงการนำร่องนี้มุ่งเน้นไปที่ประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ติดเชื้อแล้วมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ จะให้ยากับผู้ติดเชื้อที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว ด้านแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำกรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขของ สปป.ลาว กล่าวว่า ที่มาที่ไปของการผลิตยาครั้งนี้เริ่มจากกรมฯ ได้ตรวจสอบประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ และ Bounfeng Phommalaysith รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของลาว ได้อนุมัติให้โรงงานผลิตยาหมายเลข 3 ทำการผลิต