ข่าว
กราดยิงที่โบสถ์ในรัฐแอละแบมาของสหรัฐฯ ตายแล้ว 2 ราย บาดเจ็บอีก 1

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า สำนักงานตำรวจในเมืองเวสทาเวีย ฮิลล์ส ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็กและมีประชากรราว 34,000 คน ห่างจากเมืองเบอร์มิงแฮมไปทางตอนใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร รายงานเกิดเหตุยิงภายในโบสถ์ เซนต์ สตีเฟน อีพิสโคปัล เมื่อช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 1 คน

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมือปืนเอาไว้ได้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ว่าเป็นใคร และแรงจูงใจในการก่อเหตุคืออะไร

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่รัฐแอละแบมา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ นับเป็นความรุนแรงจากอาวุธปืนครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ ต่อจากเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา คือเหตุกราดยิงภายในโรงเรียนประถมศึกษา ที่เมืองยูวัลดี ในรัฐเทกซัส คร่าชีวิตเด็ก 19 ราย และครู 2 ราย และเหตุกราดยิงที่ซูเปอร์มาร์เกต ในเมืองบัฟฟาโลของรัฐนิวยอร์ก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย

เครดิตภาพ : CNN...

WHO เตือนเหยื่อโควิดกลับมาพุ่ง อาเซียน สวนกระแส ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม

WHO เตือนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังลดลงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ขณะที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ยกเว้นอาเซียนกับตะวันออกกลางที่พบเพิ่มขึ้น

เมื่อ 17 มิ.ย. 65 วอชิงตันโพสต์รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานการติดตามสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ หลังจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ลดดลงต่อเนื่องมา 5 สัปดาห์ แต่แล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึง 8,700 ศพ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาพบผู้เสียชีวิตแบบพุ่งกระโดดถึง 21% เช่นเดียวกับภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกที่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้น 17%

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกก็กำลังลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในเดือนมกราคม โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในบางภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น 58% และ 33% ตามลำดับ

นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกชี้ว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ลดลงเป็นเพราะมีประเทศจำนวนมากได้ลดมาตรการเฝ้าระวังและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกรู้ดีว่าตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ที่มีการรายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง โดยองค์การอนามัย โลกไม่ยอมรับระดับตัวเลขการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในขณะที่ทั่วโลกได้มีการฉีดวัคซีน มียา และมีการวินิจฉัยในการหยุดยั้งเชื้อไวรัสนี้

วอชิงตันโพสต์ยังชี้ว่า ในขณะที่ประเทศร่ำรวยหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือส่วนใหญ่ได้ ลดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด แต่จีนยังคงดำเนินนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์ โดยยังใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งในการสกัดกั้นโควิด ทั้งการตรวจหาเชื้อให้แก่ประชาชนจำนวนมาก การใช้มาตรการกักตัวผู้ที่ติดโควิด-19

โดยทางการกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงจีน ได้ใช้มาตรการเข้มออกคำสั่งให้บรรดาโรงเรียนในเขตที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในกรุงปักกิ่งกลับไปทำการเรียนการสอนทางออนไลน์ หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงจากไนต์คลับแห่งหนึ่ง อีกทั้งประชาชนในกรุงปักกิ่งยังคงต้องตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนใหญ่ต้องตรวจเชื้อทุกวัน และต้องสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงต้องติดตั้งแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเมื่อต้องเข้าไปในที่สาธารณะ และเป็นการอำนวยความสะดวกในการติดตามเคสการติดเชื้อโควิด-19


ผู้นำชาติสหภาพยุโรป สนับสนุน ยูเครน เข้าร่วมเป็นสมาชิก

17 มิ.ย. บีบีซี รายงานว่า นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายมาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี และนายเคลาส์ อิโอฮานิส ประธานาธิบดีโรมาเนีย สนับสนุนให้ ยูเครน เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) โดยกล่าวว่า ยูเครนควรได้รับสถานะผู้สมัครทันที

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังผู้นำ 4 ประเทศ เยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน 1 วันก่อนหน้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะหารือจะมอบสถานะผู้สมัครของสหภาพยุโรปแก่ยูเครนหรือไม่ โดยผู้นำสหภาพยุโรปทั้ง 27 คน จะหารือในการประชุมสุดยอดระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย. ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสที่ 16 มิ.ย. ผู้นำ 4 ประเทศเยือนเมืองเอียร์ปิน ชานกรุงเคียฟ ซึ่งกองกำลังรัสเซียยึดครองหลายสัปดาห์

นายกรัฐมนตรีชอลซ์กล่าวว่า ยูเครนเป็นครอบครัวยุโรป แต่ยูเครนยังต้องผ่านเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกอย่างครบถ้วน ขณะที่ประธานาธิบดีมาครงเน้นว่า สหภาพยุโรปที่มีสมาชิก 27 ประเทศ จะยืนเคียงข้างยูเครน จนกว่ายูเครนจะมีชัยชนะเหนือรัสเซีย

ส่วนนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวถึงการรุกรานอย่างต่อเนื่องของรัสเซียเป็นสงครามกับยุโรปที่รวมเป็นหนึ่ง และเสริมว่าอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือความสามัคคี พร้อมร้องขออาวุธหนักเพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้ยูเครนสามารถที่จะปกป้องตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลดปล่อยดินแดนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย

ทั้งนี้ สมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศไม่สบายใจที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และคำพูดสนับสนุนจากฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี อาจมีน้ำหนักต่อตำแหน่งของยูเครน อย่างไรก็ตาม สถานะผู้สมัคร จะเป็นขั้นตอนต่อไปในการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี

วันเดียวกัน นายทอม วิลแซค รมว.เกษตรสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้รัสเซียเปิดท่าเรือของยูเครนอย่างรวดเร็ว เพื่อเปิดทางการส่งออกธัญพืชที่ติดค้างจำนวนหลายล้านตัน โดยรัสเซียควรดำเนินการทันทีและควรยุติสงครามครั้งนี้

“นี่เป็นเรื่องจริงจัง เราไม่ควรใช้อาหารเป็นอาวุธ” วิลแซคกล่าวและว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยุโรปไม่มีผลกับธัญพืชและปุ๋ย หลังรัสเซียเรียกร้องการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับ การอนุญาตการส่งออกธัญพืช

ทั้งนี้ สหประชาชาติหารือกับรัสเซีย ยูเครน และตุรกี หลายสัปดาห์แล้ว ถึงวิธีการเปิดทะเลดำ จุดที่กองทัพรัสเซียปิดล้อมยูเครน รวมถึงไม่ให้เรือบรรทุกสินค้าขนธัญพืชออกสู่ตลาดโลก ข้อตกลงจากการหารือยังอนุญาตให้ปุ๋ยของรัสเซีย ซึ่งถูกสกัดด้วยการคว่ำบาตร กลับเข้าสู่ตลาดโลก


‘สหรัฐอเมริกา’ กับผลกระทบต่อสังคมหลังเปิดเสรีกัญชา

วันที่ 17 มิถุนายน 2565: ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่มีการออกกฎหมายปลดล็อกให้กับพืชกัญชา ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อกังวลตามมาว่าหลังจากนี้จะเกิดผลกระทบอะไรกับสังคมขึ้นบ้าง

คำถามนี้พอจะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้างจากหลายๆ ประเทศที่เกิดเสรีกัญชาไปก่อนหน้าไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายเปิดเสรีกัญชาตั้งแต่ปี 1996 หรือเมื่อ 26 ปีก่อน เปิดทางให้ประชากรชาวอเมริกา 74% สามารถเข้าถึงกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปได้

ในสหรัฐอเมริกามี 37 รัฐที่เปิดทางให้ชาวอเมริกันที่มีอาการป่วยบางอย่างสามารถใช้กัญชาได้ตามใบสั่งยาจากแพทย์ ในจำนวนนี้ 18 รัฐ เปิดทางให้ชาวอเมริกัน อายุ 21 ปีขึ้นไปสามารถครอบครองและใช้ “เพื่อสันทนาการ” ได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณ และการใช้ในที่สาธารณะที่แตกต่างกันไป

การเปิดเสรีดังกล่าวส่งผลให้เกิด “ร้านขายยา” ที่ขออนุญาตขายสินค้ากัญชาผุดขึ้นหลายพันแห่ง ซึ่งสินค้าดังกล่าวรวมไปถึง “ช่อดอกแห้ง” ที่สามารถนำมาใช้สูบได้, ขนมและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา รวมไปถึง น้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่ผสมกัญชาด้วย

ประโยชน์ของกัญชา

ในแง่การแพทย์แล้วผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่า “กัญชา” มีประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น การลดปวดเรื้อรัง, ลดอาการการสั่นของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง และยังลดอาการคลื่นไส้จากการทำคีโมรักษามะเร็งด้วย

ข้อดีอีกส่วนเกิดจากการสร้างรายได้ให้ภาครัฐ โดยข้อมูลจากสถาบันนโยบายเก็บภาษีและเศรษฐศาสตร์ สหรัฐพบว่า “อุตสาหกรรมกัญชา” ในสหรัฐฯ สามารถสร้างรายได้จากภาษี ถึงกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 383,600 ล้านบาทแล้วนับตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2021

ขณะที่ธุรกิจกัญชาในปี 2022 ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีมูลค่ามากถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ธุรกิจกัญชายังสามารถสร้างงานได้มากถึง 428,000 ตำแหน่งนับจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อาชญากรรมจากกัญชา

ในแง่ของ “อัตราการเกิดอาชญากรรม” ไม่น่าแปลกใจที่จะมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน เหตุผลเพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีการจับกุมในสหรัฐอเมริกา “ครึ่งหนึ่ง” เป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา”

อย่างไรก็ตาม การขาย “กัญชาเถื่อน” นอกร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตยัง “ไม่ลดลง” เนื่องจากกัญชาใน “ตลาดมืด” นั้นมีราคาย่อมเยากว่า ขณะที่ในรัฐโคโลราโด แก๊งอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายกัญชาผิดกฎหมายก็เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 31 คดีในปี 2012 เป็น 119 คดี ในปี 2017 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 34 คดีในปี 2019

พฤติกรรมการใช้กัญชา

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเสรีกัญชาในหลายๆ รัฐ มีการแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้กลุ่มคนอยากรู้อยากลองเข้ามาใช้กัญชามากขึ้น แต่ข้อมูลที่น่าแปลกก็คือ กลุ่มคนสูบกัญชาอยู่ก่อนแล้วกลับมีความถี่ในการสูบเพิ่มสูงขึ้นด้วย

การสำรวจประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา เปอร์เซ็นต์ผู้สูบกัญชาอายุมากกว่า 26 ปีที่ใช้กัญชาในช่วงเดือนที่ผ่านมา และกลุ่มคนที่ใช้ทุกวันหรือเกือบทุกวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านรัฐโคโลราโด รัฐแรกที่มีการห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการพบว่า 15% ของผู้ที่มีอายุ 18-25 ปีบริโภคกัญชาทุกวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า ขณะที่รายงานอีกฉบับพบว่า ผู้ใช้กัญชาในรัฐโคโลราโด ในปี 2019 สัดส่วนมากถึง 48% ที่ใช้กัญชาทุกวันหรือเกือบทุกวัน สูงขึ้นจาก 44% ในปี 2014

ขณะที่ในประเทศแคนดาดา ที่ออกกฎหมายเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ ไปเมื่อปี 2018 ก็มีแนวโน้มแบบเดียวกันคือนับจนถึงสิ้นปี 2020 มีประชากร 20% ที่ใช้กัญชาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับก่อนออกกฎหมายที่มีจำนวนเพียง 14% เท่านั้น ขณะที่สัดส่วนประชากรที่ใช้ทุกวันหรือเกือบทุกวันก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ความปลอดภัยบนท้องถนน

กลุ่มที่เสนอกฎหมายกัญชามองว่ากัญชาถูกกฎหมายจะช่วย “เพิ่มความปลอดภัย” ให้มากขึ้นเนื่องจากคนจะเลือกใช้กัญชาแทนที่การดื่มแอลกอฮอล์ ที่ถูกมองว่าทำให้ความสามารถในการขับรถลดลงมากกว่า

แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อสถิติพบว่าหลังกัญชาถูกกฎหมาย คนกลับใช้กัญชาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะที่ในแคนาดา เมื่อปี 2019 หรือ 1 ปี หลังการเปิดเสรีกัญชา คดีเมายาแล้วขับรถเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่คดีเมาแล้วขับโดยรวมเพิ่มขึ้นอีก 19%

ผลเสียด้านสุขภาพ

“ผลเสียด้านสุขภาพ” จากการสูบกัญชาที่นอกเหนือจากภาวะ “เสพติด” แล้ว ก็ยังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ส่งผลกระทบกับอาการหอบหืด การทำงานของปอด กระทบกับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจิตเภท และอาการทางจิตอื่นๆ เช่น ภาวะวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้าได้

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ทำให้น้ำหนักตัวหลังคลอดน้อยกว่า ปกติด้วย

ในแง่ของระบบสาธารณสุขระดับชาติเองก็เห็นสัญญาณเปลี่ยนแปลงหลังการผ่านกฎหมายกัญชาในหลายๆ รัฐด้วย เช่น ผลการศึกษาเมื่อปี 2020 พบว่า ผู้ที่อยู่ในวัย 12-17 ปีในสหรัฐอเมริกาที่มีอาการเสพติดกัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้นในรัฐที่เปิดทางให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากกว่ารัฐที่ไม่ให้ใช้ถึง 25%

นอกจากนี้สถิติยังพบว่าอาการอาเจียนเรื้อรัง (CVD) ไม่ทราบสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทุกวันเพิ่มขึ้นถึง 60% จากปี 2005 ถึง 2014 นอกจากนี้ยังพบเหตุเด็กอายุ 0-9 ปีที่เผลอกินสินค้ากัญชาเข้าไปจนต้องส่งโรงพยาบาลจำนวนมากถึง 4,172 ราย ในปี 2017-2019 และพบมากในรัฐที่ห้ามใช้เพื่อสันทนาการด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อดีในแง่สาธารณสุขก็มี นั่นก็คือจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้น้ำยากัญชาผิดกฎหมาย และปนเปื้อนจนได้รับบาดเจ็บที่ปอดนั้นลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นก็คือกรณีตัวอย่างบางส่วนที่หวังว่าภาครัฐจะนำไปปรับใช้ในการพิจารณากฎหมายลูกที่จะมีตามมาเพื่อป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในแบบเดียวกัน และไม่ต้องใช้ประเทศไทยเป็น “ห้องทดลอง” นานเกินความจำเป็น


เปิดดู “กฎหมายกัญชา” ประเทศไหนใช้ได้แล้วบ้าง

วันที่ 17 มิถุนายน 2565: กัญชาเป็นพืชล้มลุกที่มีใบแตกเป็นแฉก และเคยอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ในกัญชามีสารเคมีที่สำคัญได้แก่ “แคนนาบินอยด์” โดยสารสำคัญในกลุ่มนี้คือสารทีเอชซี ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ต่อมาเมื่อมีการค้นคว้าเกี่ยวกับฤทธิ์ของทีเอชซีก็นำไปสู่การผลิตยา “โดรนาบินอยด์” ซึ่งมีส่วนประกอบของทีเอชซี เพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาโดยเคมีบำบัดเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ด้วย

เมื่อสูบกัญชาเข้าสู่ร่างกายสารทีเอชซีจะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 2-3 นาทีและออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง

เมื่อสูบกัญชาจะมีอาการเคลิ้ม ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่าบรรยากาศโดยรอยสงบลง หรือบางคนอาจรู้สึกล่องลอย และหัวเราะ กล่าวคือกัญชามีฤทธิ์คล้ายยากระตุ้นประสาท ยากดประสาท ยาหลอนประสาท ยาแก้ปวดและยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์แล้ว และในบางประเทศอนุญาตให้ใช้เพื่อความบันเทิงด้วย โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียและประเทศล่าสุดที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และยังซื้อขาย ปลูกกัญชาได้ และไม่มีความผิดหากใช้กัญชา

ขณะนี้ประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิง ได้แก่ แคนาดา จอร์เจีย มอลตา เม็กซิโก แอฟริกาใต้ อุรุกวัย รัฐแคปิตอลเทอร์ริทอรีของออสเตรเลีย และพื้นที่ 19 รัฐ 2 ดินแดน และเขตดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่อนุญาตให้ใช้ในการแพทย์ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บาร์บาโดส บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอกวาดอร์ ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี จาไมกา เลบานอน ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มาลาวี มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์ธมาซิโดเนีย นอร์เวย์ ปานามา เปรู โปแลนด์ โปรตุเกส รวันดา เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ซานมาริโน ศรีลังกา สวิตเซอร์แลนด์ ไทย สหราชอาณาจักร อุรุกวัย วานูอาตู แซมเบีย ซิมบับเวและ 37 รัฐ 4 ดินแดนและดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามในบางประเทศอนุญาตให้ใช้ได้แค่สารในกัญชาบางตัว เช่น เกาหลีใต้สามารถใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ได้เฉพาะสารแคนนาบินอยด์ (ซีบีดี) โดรนาบินอย และนาบิซิมอล

หากพูดถึงกัญชา หนึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงด้านนี้มากที่สุดประเทศหนึ่งคงจะเป็น “เนเธอร์แลนด์” ตามกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ระบุไว้ว่า สามารถใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ แต่การใช้เพื่อความบันเทิงอนุญาตให้ซื้อและบริโภคได้เฉพาะในร้าน “คอฟฟี่ช็อป” ซึ่งหมายถึงร้านที่สูบกัญชาโดยเฉพาะ ที่ได้รับอนุญาตจากทางการแล้ว สำหรับการครอบครองได้สูงสุด 5 กรัม ส่วนการปลูกอนุญาตให้ปลูกไม่เกิน 5 ต้นเฉพาะการปลูกที่ไม่เป็นไปในเชิงพาณิชย์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้ขายกัญชาในร้านคอฟฟี่ช็อปตั้งแต่ปี 1976 แต่ไม่สามารถขายในรูปแบบอื่น หรือทำการขนส่งได้ สำหรับการใช้ทางการแพทย์ มีขึ้นตั้งแต่ปี 2003 โดยแพทย์จะเขียนใบสั่งยาในชื่อว่า “Mediwiet” สำหรับจ่ายกัญชาในร้านขายยาของเนเธอร์แลนด์

ขณะที่ประเทศ “มอลตา” มีกฎหมายควบคุมกัญชาคล้ายเนเธอร์แลนด์ และมีร้านจำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะ โดยมอลตาอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ และสำหรับความบันเทิง สามารถครอบครอง บริโภคและปลูกได้ แต่การกระจายสินค้าต้องผ่าน “แคนนาบิสคลับ” ซึ่งเป็นเหมือนตลาดกัญชาที่ดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 2021 นายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต อเบลา ของมอลตา ประกาศข้อเสนอที่จะออกกฎหมายให้สามารถครอบครองกัญชาได้สูงสุด 7 กรัม และปลูกกัญชาได้สูงสุด 4 ต้น ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2021 สภามอลตาอนุมัติกฎหมายและลงนามโดยประธานนาธิบดีจอร์จ เวลลา ในที่สุด

อีกหนึ่งประเทศที่เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ใช้กัญชาคือ “แคนาดา” เนื่องจากมีกฎหมายที่เปิดทางให้ใช้ได้ทั้งในทางการแพทย์และความบันเทิง

รัฐบาลแคนาดาประการกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ปี 2018 มีสาระสำคัญ คือ 1.สามารถถือครองกัญชาที่ผลิตอย่างถูกกฎหมายได้สูงสุด 30 กรัม 2.สามารถปลูกกัญชาได้สูงสุดบ้านละ 4 ต้น 3.อายุขั้นต่ำในการซื้อกัญชาอยู่ที่ 18 ปี และแต่ละรัฐสามารถเพิ่มอายุขั้นต่ำได้ อย่างไรก็ตามการผลิตกัญชาที่ได้ รับอนุญาตแล้วอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง การกระจายสินค้าและการซื้อขายกัญชาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลท้องถิ่น

สำหรับกฎหมายควบคุมกัญชาใน “ชิลี” มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับกฎหมายกัญชาเสรีของไทย โดยกฎหมายของชิลีนั้นอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ได้ การปลูกเพื่อการแพทย์อย่างถูกกฎหมายต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเกษตรกรรมของชิลี และการขายกัญชาเพื่อการแพทย์จะซื้อได้ก็ต่อเมื่อมีใบจ่ายยาจากร้านขายยาแต่สำหรับการใช้เพื่อความบันเทิงนั้น อนุญาตเพียงการใช้ส่วนตัว การครอบครองและการปลูกเท่านั้นที่จะไม่มีความผิด

ขณะที่ “สหรัฐอเมริกา” การอนุญาตให้ใช้กัญชาแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ล่าสุดมี 19 รัฐ 2 ดินแดน และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ที่อนุญาตให้ให้กัญชาเพื่อความบันเทิงและใช้ได้ในทางการแพทย์ สำหรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมายใน 37 รัฐ 4 ดินแดน รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศ ส่วนในอีก 12 รัฐ และ 1 ดินแดนสามารถใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงได้ โดยไม่ถือเป็นความผิด อย่างไรก็ตามการใช้กัญชาภายใต้กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐยังถือว่า กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติดและห้ามยังใช้ในทางการแพทย์ด้วย

ที่ “เม็กซิโก” การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย แต่ไม่มีระบบการจ่ายกัญชา และห้ามขายกัญชา แต่สามารถครอบครอง บริโภคและปลูกได้โดยต้องได้รับอนุญาต โดยการครอบครางกัญชาไม่เกิน 5 กรัมถือว่าไม่มีความผิดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ต่อมาในปี 2015 ศาลสูงลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ผู้ที่ปลูกกัญชาเพื่อการใช้ส่วนตัวไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และในปี 2018 ศาลสูงได้ยืนยันคำตัดสินอีกครั้งและขอให้สภานิติบัญญัติปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา หลังจากที่สภานิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขได้ ศาลสูงได้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองกัญชาส่วนบุคคลและการปลูกกัญชา ส่วนประเทศแอฟริกาใต้สามารถใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ แต่ไม่มีระบบการจ่ายกัญชาเป็นยา

สำหรับการใช้เพื่อความบันเทิง ในเม็กซิโก สามารถครอบครอง ปลูกและใช้ในพื้นที่ปิดได้ แต่ห้ามขาย โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายให้สามารถใช้เป็นการส่วนตัวและเพาะปลูกได้ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2018

แม้ในไทยและหลายประเทศในโลกจะเปิดทางให้ใช้กัญชาอย่างเสรีแล้ว แต่เราก็ควรศึกษาหาข้อมูลให้เข้าใจถึงผลของกัญชาก่อนใช้ เพื่อสุขภาพของทุกคน

ม็อบอินเดียประท้วงเดือดลดปีเป็นทหาร

17 มิถุนายน 2565: ผู้ชุมนุมชาวอินเดียขว้างก้อนหินใส่ตำรวจและจุดไฟเผาตู้โดยสารรถไฟ ในการประท้วงวันที่ 2 หลังรัฐบาลประกาศว่าจะออกระเบียบใหม่ในการเกณฑ์ทหาร โดยลดเวลาเป็นทหารเหลือแค่ 4 ปี

รอยเตอร์รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 ว่ารัฐบาลอินเดียประกาศในสัปดาห์นี้เรื่องยกเครื่องระบบการเกณฑ์ทหารของประเทศที่มีทหารถึง 1.38 ล้านนาย โดยจะลดจำนวนปีในการรับราชการของทหารเกณฑ์เหลือแค่ 4 ปี จากเดิมที่ให้รับราชการได้ถึง 17 ปี มีเป้าหมายเพื่อลดอายุเฉลี่ยของกำลังพลในกองทัพ

แต่ชาวอินเดียจำนวนมากที่มีคุณสมบัติที่จะเข้าเกณฑ์ทหารระบุว่า พวกเขาต้องการรับราชการนานกว่า 4 ปี ด้านพรรคฝ่ายค้านของอินเดียและสมาชิกบางคนของพรรคภารติยะชนตะ พรรครัฐบาลอินเดียเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารใหม่นี้ จะทำให้ชาวอินเดียว่างงานมากยิ่งขึ้น

มีการชุมนุมประท้วงระบบการเกณฑ์ทหารใหม่นี้ที่รัฐหรยาณาภาคเหนือของประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี ตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายผู้ชุมนุมที่ขว้างก้อนหินใส่ตำรวจ ผู้ชุมนุมกลับมารวมตัวอีกครั้งในวันศุกร์ ตำรวจรัฐพิหารทางตะวันออกของอินเดียเผยว่า ผู้ชุมนุมเผาตู้โดยสารรถไฟหลายตู้ที่สถานีรถไฟอย่างน้อย 2 แห่ง และผู้ประท้วงขัดขวางการให้บริการเดินรถไฟ

สัญเจย์ สิงห์ ตำรวจอาวุโสรัฐพิหารเผยในวันศุกร์ว่า ผู้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางรถไฟ 10 แห่ง มีการจับกุมผู้ประท้วงทั่วรัฐพิหารเมื่อวันพฤหัสบดีไปกว่า 100 คน

การชุมนุมในวันศุกร์ขยายไปยังเมืองเซกันเดอราบาดทางใต้ของอินเดีย ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนขว้างก้อนหินใส่ตำรวจและจุดไฟเผาทรัพย์สินที่สถานีรถไฟ

ระบบการเกณฑ์ทหารแบบใหม่เรียกเป็นภาษาฮินดีว่า “อัคนีบาท” ที่หมายถึงเส้นทางแห่งไฟ โดยผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิง มีอายุระหว่าง 17 ปี 6 เดือนถึง 21 ปี ผู้ผ่านการคัดเลือกจะเป็นพลทหาร 4 ปี หลังจากนั้น 1 ใน 4 ของพลทหารเหล่านี้จะได้รับราชการต่อ ก่อนหน้านี้ทหารทุกเหล่าของอินเดียแยกกันเกณฑ์ทหาร ทหารยศต่ำสุดจะได้รับราชการสูงสุดถึง 17 ปี