ข่าว
นปช.เตรียมลุกครั้งใหญ่ หากตั้งนายกฯคนกลาง

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ลั่น หากวันใดประเทศมีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง วันนั้นจะเห็นการลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ชี้ ยอมตายดีกว่าให้ 'สุเทพ' ปกครองประเทศ...

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวภายหลังรับฟังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ว่า คำตัดสินของศาลเป็นไปอย่างที่คาด แต่ปัญหาคือค่าใช้จ่าย 3 พันล้าน ใครจะรับผิดชอบ ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ กปปส.ก็จะออกมาขวางเหมือนเดิม จึงอยากถามศาลรัฐธรรมนูญให้ช่วยเสนอว่าจะจัดการเลือกตั้งต่อไปอย่างไร เพราะศาลแพ่งก็ไม่ให้จับกุมหรือสลายการชุมนุม อีกทั้งตารางฝ่ายอำมาตย์ยังมีอีก ดังนั้น ก่อนสิ้นเดือนเชื่อว่า ส.ส. และ สว. 308 คน ที่โหวตให้แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. จะไม่มีทางรอด เพราะหนทางนี้ก็เพื่อบีบบังคับให้เกิดสุญญากาศ เปิดช่องให้นายกฯ คนกลาง แต่ไม่มีช่องทางใดเว้นการรัฐประหาร หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะไปใช้ชีวิตหลังเกษียณเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าต้องการถูกก่นด่าก็ทำรัฐประหาร

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ส่วนตัวแล้วชาตินี้ตนขอเลือกตายดีกว่ายกอำนาจปกครองประเทศให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดังนั้น ขอเชิญชวนคนที่รักประชาธิปไตยทั้งแผ่นดิน เราต้องสำแดงพลังภายใต้กติการัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่เราจะออกมาครั้งใหญ่ คือวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง วันนั้นจะได้เห็นการลุกฮือของประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาตร์ คนที่คิดจะฆ่าพวกเราก็ต้องคิดว่าจะฆ่าให้หมดได้อย่างไร พวกเราที่เคยมีประสบการณ์ขอให้เตรียมพร้อม เพราะอาจประกาศชุมนุมในแต่ละจังหวัดพร้อมๆ กัน ก่อนที่จะขยับเข้ามา กทม. ถึงการเลือกตั้งจะโมฆะก็ไม่เป็นไร ส่วนของเราคือสร้างมวลชนระดมประชาชน อย่าสนใจคำวินิจฉัยต่างๆ.

ลต.2 ก.พ.เป็นโมฆะ ขัด รธน.108 วรรค2

ศาล รธน. มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ชี้ ลต. 2 ก.พ.ขัด รธน.ปม 28 เขตไร้ผู้สมัคร-ไม่ได้จัดเลือกตั้งวันเดียว ชี้รัฐ-กกต. หารือออก พรฎ.ใหม่ ปัด พิจารณาใครต้องรับผิดชอบ

วันที่ 21 มี.ค. เมื่อ เวลา 12.20 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการวินิจฉัยที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 สรุปว่า เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไปแล้ว ปรากฏยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครการเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่า ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 มิได้มีการเลือกตั้ง วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 ก.พ.2557 ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เช่นเดียวกัน เป็นผลให้ พ.ร.ฎ. ยุบสภา พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2

อย่างไรก็ตาม นายพิมล กล่าวต่อว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะไปแล้ว ดังนั้น คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. และคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการรับสมัครการรับเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่ศาลจะพิจารณาประเด็นตามคำร้องนี้ จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายให้คำร้องออกไป

นายพิมล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้รัฐบาลกับ กกต.ก็ต้องไปคุยกันเรื่องการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ ส่วนที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นนี้ ทั้งนี้ ในส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายเฉลิมพล เอกอุรุ เนื่องจากเห็นว่า การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหารายละเอียด ยังไม่สามารเปิดเผยได้ ขอให้รอดูคำวินิจฉัยส่วนตนอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะออกมาคัดค้านตามเดิมอีกนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของอนาคต ตนไม่ขอแสดงความเห็น.

ชูวิทย์ประกาศ "ประชาธิปไตย..ตายแล้ว!"

ตอนแรกผมคิดว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย ใครขัดขวางมีกฎหมายปกป้องเอาผิด ขนาดคนฉีกบัตรเลือกตั้งยังต้องถูกดำเนินคดีติดคุกติดตาราง มีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากมาย จนถึงองค์กรกลางอย่าง กกต. ที่มีกระบวนการตรวจสอบเข้มข้น พร้อมคุ้มครองพลเมืองไทยทุกคนที่มีสิทธิ ครั้งล่าสุดมีผู้มาลงคะแนนกว่า 20 ล้านคน ในความเป็นจริงมีจำนวนมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ แต่มาไม่ได้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำเขต บางหน่วยก็ปิดเพราะม็อบไม่ให้มา ประชาชนเกรงกลัวความรุนแรง จึงไม่ได้ออกมาใช้สิทธิ์

ผมนึกว่าบ้านเมืองนี้มีกฎกติกาสำหรับประชาธิปไตย แต่ผมคิดผิด มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ประเทศไทยใช้ม็อบ ใครไม่พอใจก็ปิดถนนประท้วง บอกว่าตัวเองคือผู้ที่ถูกต้อง เป็นคนดี ใครอยากเป็นคนดีต้องมาอยู่ฝั่งตัวเอง กระบวนการตัดสินใจไม่ต้องวัดจากประชาชน แต่วัดจากความรุนแรงของสถานการณ์ที่ตัวเองปลุกปั่นขึ้น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงกลับไปสู่จุดเดิม ไม่สามารถเดินหน้าอะไรได้อีก ทั้งยังเป็นบรรทัดฐานต่อไป หากใครอยากล้มการเลือกตั้ง หาคนออกมาประท้วงปิดถนน ล้อมหน่วยเลือกตั้ง ไม่ให้มีการสมัครสัก 28 เขต แค่นี้การเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ภาคใต้ ต่อไปอาจเกิดขึ้นที่ภาคอีสานหรือภาคเหนือก็ได้

ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของคนไทยทุกคนอีกต่อไป รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้ให้คนไทยได้อ่านแล้วปฏิบัติ แต่อยู่ที่คนตีความต่างหาก ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนว่านี่คือช้าง ก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อนะครับ เพราะคนตีความเขาอาจบอกว่าเป็นหมู มันก็ต้องเป็นหมูวันยันค่ำ ส่วนใครที่บอกว่านายกฯคนกลางไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ เดี๋ยวก็รู้ เพราะถ้าอ่านเฉยๆมันไม่มี แต่ถ้ามันจะตีความให้มีมันก็มีได้

รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า "อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย" ผมไม่เชื่อแล้วล่ะครับ เพราะมันอาจตีความได้ว่า "อำนาจอยู่ในมือปวงชนชาวไทยที่เป็นพวกกูเท่านั้น ส่วนพวกมึงไม่เกี่ยว"

ประชาธิปไตยของไทย มันตายไปแล้วครับ ผมเพิ่งเห็นกับตา เผาไปตอนบ่ายโมงวันนี้นี่เอง