ข่าว
'เกาหลีใต้'ยืนยันพบป่วยโควิด-19 'โอไมครอน'5 รายแรก

2 ธ.ค.64 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หน่วยงานสาธารณสุขเกาหลีใต้ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน จำนวน 5 รายแรกของประเทศ

คู่สามีภรรยาที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสเมื่อวันที่ 28 ต.ค. เดินทางไปไนจีเรียระหว่างวันที่ 14-23 พ.ย. กลับถึงเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. และมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกในวันถัดมา

สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีเปิดเผยว่าสามีภรรยาคู่ดังกล่าวและบุคคลใกล้ชิด 1 รายได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจแพร่เชื้อได้มากขึ้น จากการจัดลำดับพันธุกรรม

หญิงอีก 2 ราย ซึ่งเยือนไนจีเรียระหว่างวันที่ 13-22 พ.ย. มีผลตรวจโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน เป็นบวกเช่นกัน ทำให้เกาหลีใต้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน รวม 5 ราย ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ยังมีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน อยู่ระหว่างการวิเคราะห์อีก 4 รายด้วย

ผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน กลุ่มแรกของเกาหลีใต้เกิดขึ้นท่ามกลางจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น โดยเกาหลีใต้รายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5,123 ราย ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นยอดผู้ป่วยใหม่รายวันสูงสุดนับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกของประเทศเมื่อเดือนมกราคมปีก่อน

นายกฯเตรียมมอบบ้านเคหะฯ โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดเป็นประธานในพิธีส่งมอบสิทธิโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ณ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ถนนร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค. 64) ซึ่งปัจจุบันโครงการบ้านเคหะสุขประชา อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า และโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติ ได้เสนอ "โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย" ให้คณะรัฐมนตรีทราบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยการเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการดังกล่าว ภายใต้ชื่อ "โครงการบ้านเคหะสุขประชา" โดยมีเป้าหมายจัดสร้าง 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564 - 2568) กำหนดส่งมอบปีละประมาณ 20,000 หน่วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณ รวมถึงผู้บุกรุกในพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว (Housing for all)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้นโยบายนอกเหนือจากการเช่าอยู่อาศัยในโครงการบ้านเคหะสุขประชาแล้ว ยังได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานกันไป "มีบ้าน - มีอาชีพ - มีรายได้ - มีสุข" ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น การเคหะแห่งชาติ จึงได้จัดสรรโซนนิ่ง โดยนอกเหนือจากโซนที่พักอาศัยภายในโครงการยังจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ พื้นที่จอดรถ และพื้นที่ "เศรษฐกิจสุขประชา" นั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ในการพัฒนาโครงการ มีจำนวน 6 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก - ส่ง โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพอิสระในชุมชน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้นๆ เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ส่วนโครงการในพื้นที่ภูมิภาคจัดให้มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และกสิกรรม เป็นต้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนต้องการช่วยลดภาระของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะจากผลกระทบโควิด-19 ที่ยาวนานเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลรายได้ของประชาชนลดลง ทำให้โอกาสที่จะซื้อบ้านก็ยากขึ้น จึงมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการทำบ้านสำหรับเช่าเป็นหลักสำหรับผู้มีรายได้น้อยพร้อมจัดให้มีพื้นที่เศรษฐกิจสุขประชา เพื่อสร้างรายได้สร้างอาชีพแก่ผู้เช่า พร้อมย้ำว่า คนไทยทุกคนต้องมีบ้านอยู่โอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างทั่วถึง เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


‘ชัยวุฒิ’ชี้ New Normal ขับเคลื่อน 4 เทรนด์ เกาะติดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจจากแรงหนุน 5G

2 ธันวาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอีเอส) กล่าวในงานสัมมนา “5G THAILAND BIG MOVE” ว่า การเปลี่ยนผ่านวิถีการดำเนินชีวิตสู่รูปแบบ New Normal ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี ทำให้เกิดเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนใน 4 ด้าน ได้แก่ การเฝ้าระวัง ติดตาม และจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้น , เกิดโอกาสในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคาดไม่ถึงมากมาย, ธุรกิจและผู้บริโภคถูกเร่งให้ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลและกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน และเศรษฐกิจดิจิทัลมีการขยายตัวสูงขึ้น ธุรกิจมีการเชื่อมต่อกับโลกมากยิ่งขึ้น และมีการให้บริการรูปแบบ Cross border / Globalized Service ที่ไม่มีข้อจำกัดในเชิงภูมิศาสตร์อีกต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเกาะติดกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และชิงความได้เปรียบในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 5G เพราะมองเห็นโอกาสและศักยภาพด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก โดยมีผลการศึกษา พบว่า ในปี 2570 ความต้องการใช้งาน 5G ของผู้บริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นเห็นได้ชัดโดยคนไทยจะใช้งาน 5G ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย (หรือประมาณ 73%) และปี 2573 ตลาด 5G ในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงานใหม่ด้านดิจิทัลกว่า 130,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลจากการประยุกต์ใช้ประโยชน์ 5G

ขณะที่ ในปี 2575 ประเทศไทยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ 5G อยู่ที่ 2.3 - 5 ล้านล้านบาท รวมถึง ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาท/ปี และในปี 2578 ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการค้าการลงทุนในพื้นที่ EEC โดย 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพี ให้กับประเทศไทยได้ไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่า

“นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราเชื่อว่าการขับเคลื่อน GDP ของประเทศต้องเกิดจากเทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ถ้าเราไม่ขับเคลื่อน 5G ให้พร้อมกับการแข่งขันเวทีโลก ความสามารถในการแข่งขันเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ และทำให้เกิดการเสียโอกาสไปหลายแสนล้านบาท” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ด้านความคืบหน้าของการพัฒนา 5G ในประเทศไทย ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มี 5G ที่ดีที่สุดในโลก และไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 5G และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก 5G ที่รวดเร็วมาก

ล่าสุด จากการจัดอันดับใน Opensignal 5G Global Awards 2021 ซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ผู้ใช้งานมือถือระดับโลก ได้ยกให้ประเทศไทยเป็น 5G Global Leader ใน 5 หัวข้อ ได้แก่ 1.การใช้งานจริง (5G Availability) 2.ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล (5G Download Speed) 3.ความเร็วในการอัพโหลดข้อมูล (5G Upload Speed) 4.ให้ประสบการณ์ดีที่สุดในการเล่นเกม (5G Games Experience) และ 5.ประสบการณ์ความเร็วในการดาวน์โหลดวิดีโอ (5G Video Experience)

“ในส่วนของภาคของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้งานก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง จากการที่ภาครัฐเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การผลักดันให้ขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีแบนด์วิธเพิ่มขึ้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลต่ำลง และรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น ทำให้คนไทยสะดวกสบายขึ้น ในการติดต่อสื่อสาร” นายชัยวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งดำเนินการผลักดันการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ การเกษตร สาธารณสุข อุตสาหกรรม การศึกษา คมนาคม และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ ที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จาก 5G เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลักดันแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเมืองเทคโนโลยี 5G (5G City Guidance) เพื่อผลักดันให้เมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ มีบริการ 5G ในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อย่างน้อย 1 บริการ ต่อ 1 เมืองอัจฉริยะ


'เยอรมนี'ระส่ำ! พบคนติดโควิด'โอไมครอน'แม้ฉีดวัคซีนครบโดส

1 ธ.ค.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขท้องถิ่นของเยอรมนีระบุวันนี้ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ แม้ว่าทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดส ขณะที่ทางการเยอรมนีรายงานยอดผู้เสียชีวิตรายวันจากโรคโควิด-19 สูงสุดในรอบ 9 เดือน

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขของรัฐบาเดิน-เวอร์ทเทมแบร์กในเยอรมนี ระบุว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 4 คนในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ แม้ทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดสแล้วก็ตาม ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อ 3 คนที่เพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ในวันที่ 26 และ 27 พฤศจิกายน และผู้ป่วยติดเชื้ออีกคนเป็นสมาชิกครอบครัวของหนึ่งในผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ โดยที่ทั้งหมดมีอาการป่วยเล็กน้อย

สถาบันโรเบิร์ต ค็อก หรืออาร์เคไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของเยอรมนี รายงานวันนี้ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 67,186 คน และผู้เสียชีวิต 446 คน ซึ่งเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ของปีนี้ ทำให้เยอรมนีมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 5.8 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 101,000 คน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนีได้ลงมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารในการใช้มาตรการควบคุมการระบาดระลอกที่สี่ เช่น การเร่งฉีดวัคซีนโควิดและการจำกัดการพบปะทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด นอกจากนี้ บรรดาผู้นำของเยอรมนียังเห็นด้วยต่อการตัดสินใจอย่างหนักแน่นในวันพฤหัสบดีเกี่ยวกับข้อเสนอต่าง ๆ เช่น การกำหนดให้ลูกค้าแสดงหลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนโควิดหรือหายป่วยจากโรคโควิดก่อนเข้าร้านค้า และการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมในงานขนาดใหญ่

สุดสลด! เรือบรรทุกนักเรียนล่มกลางแม่น้ำไนจีเรีย ดับ 29 ศพ

2 ธ.ค.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดเหตุเรือล่มที่แม่น้ำสายหนึ่งในรัฐคาโน ทางเหนือของประเทศไนจีเรีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 29 ศพ ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 6-12 ปีเท่านั้น ซึ่งกำลังจะเดินทางไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนา

เรือลำดังกล่าวซึ่งบรรทุกเด็กนักเรียนจากโรงเรียนอิสลามแห่งหนึ่งราวๆ 40 คน ทั้งหมดอายุต่ำกว่า 18 ปี กำลังแล่นอยู่ในเขื่อนวาตารีและเกิดล่มตอนประมาณ 17.30 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ในวันอังคาร (30 พ.ย) จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น

ซามินู ยูซูฟ อับดุลลาฮิ โฆษกหน่วยดับเพลิงรัฐคาโน ระบุว่า ทีมช่วยเหลือสามารถเก็บกู้ร่างไร้วิญญาณได้ 29 ศพ "เท่าที่เรารู้คือเรือบรรทุกหนักเกินไป" อับดุลลาฮิ กล่าว

ทั้งนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เรือล่ม แต่ไนจีเรียมีอุบัติเหตุเรือล่มบ่อยครั้ง และส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการบรรทุกผู้โดยสารเกินความจุ และการบำรุงรักษาที่ย่ำแย่ โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเพิ่งเกิดเหตุเรือคว่ำกลางน้ำในรัฐจิกาวา จนทำให้เด็กหญิงเสียชีวิต 7 ศพ เมื่อเดือนพฤษภาคมก็เกิดเหตุคล้ายกันที่รัฐเคบบี จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย