Inside Dara
อคติหรือเรื่องจริง? 'เพลงสมัยนี้ห่วย! ไม่เพราะเหมือนเพลงยุคเก่า'

"เพลงสมัยนี้ ทำไมไม่เพราะเหมือนเพลงยุคเก่า" คำบ่นนี้ได้ยินบ่อยๆ จากหลายคน ยิ่งกับปรากฏการณ์ขโมยซีนของ กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ในรายการ เดอะวอยซ์ เมื่อเขาออกมาร้องเพลง ขีดเส้นใต้ แค่ช่วงสั้นๆ แต่สามารถทำให้เพลงเก่าอย่าง ขีดเส้นใต้ กลับมาพุ่งทะยานขึ้นแท่นเพลงที่มียอดดาวน์โหลดบน iTunes สูงสุด อย่างรวดเร็ว

ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมคนไทยถึงโหยหาเพลงเก่า? หรือเพลงสมัยใหม่ไม่ดีพอที่จะตรึงให้ติดหูคนฟัง?

วันอาทิตย์สบายๆ สกู๊ปบันเทิงไทยรัฐออนไลน์ เปิดประเด็นนี้พูดคุยกับสองผู้คร่ำหวอดในวงการเพลง

เริ่มต้นคนแรกกับ ชมพู สุทธิพงษ์ วัฒนจัง ที่นอกจากปัจจุบันเขาจะรั้งตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการที่ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด แล้วเขาคนนี้คือนักร้องชื่อดังแห่งวงฟรุตตี้ ในตำนาน และ ชมพู ยังมีดีกรีนักแต่งเพลงมากเพลงฮิต เขาจะมาตอบข้อสงสัยว่าเพลงเก่าดีกว่าเพลงยุคใหม่จริงหรือ?

"ยุคผมเขาก็พูดกันแบบนี้ ตอนผมเป็นนักร้องเขาก็พูดว่าเพลงยุคนี้มันไม่อมตะ คลาสสิกเท่ายุคของคุณชรินทร์ ณ วันนี้ผ่านไป 30 ปีก็คำพูดเดิม คือคนรุ่นที่เป็นผู้ใหญ่กว่ารุ่นปัจจุบัน มักจะฟังเพลงรุ่นใหม่แล้วไม่ค่อยเก็ต ผมเชื่อว่าอีก 20 ปี 30 ปีเพลงของศิลปินในยุคนี้ก็จะถูกเรียกร้องให้กลับมาเหมือนกัน

เพลงเก่าที่คนบอกว่าเพราะ เนื่องจากเป็นเพลงในยุคของคนที่พูด ยุคใครยุคมัน คนที่เติบโตมากับเพลงรุ่นไหนก็รู้สึกว่าเพลงแบบนี้เป็นเพลงที่ตัวเองเข้าใจและอินกับมัน มีเรื่องราวของเราอยู่ในนั้น ตอนแรกๆ จะยังไม่รู้สึกตัวแต่พอวันหนึ่งผ่านไป หลายๆ ปีกลับมาได้ยินเพลงเหล่านั้นอีก ก็หวนนึกความทรงจำแล้วรู้สึกว่าเพลงเหล่านี้ทำให้กลับไปสู่เวลาเหล่านั้นได้"

ในขณะที่ชีวิตถูกเติมเต็มด้วยเพลงเหล่านั้นแล้ว เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงไม่มีหัวใจเผื่อให้กับเพลงรุ่นใหม่ๆ มากนัก "รุ่นใครรุ่นมัน" ชมพูย้ำกับเรา

ชอบมีคำพูดว่าเพลงสมัยใหม่เนื้อเพลงไม่ติดหู ใช้คำไม่สวย ไม่ลึกซึ้ง ฉาบฉวย เลยสู้เพลงยุคเก่าที่ฟังได้ไม่มีเบื่อไม่ได้

"เห็นด้วยส่วนหนึ่ง แต่คิดว่าไม่ใช่ตัวชี้วัด เห็นด้วยตรงที่ว่าในสมัยเพลงลูกกรุงแล้วก็มายุคสตริง รุ่นแกรนด์เอ็กซ์ แล้วก็มายุคผม หลังมาจากยุคผมนิดหน่อยยังเป็นช่วงที่ภาษาเพลงยังใช้คำกลอนที่มีสัมผัสอยู่ เนื้อเพลงสวยงามกว่าจริงๆ

ส่วนที่ผมบอกว่าไม่ใช่ตัวชี้วัดเพราะผมเชื่อว่ารุ่นต่อมาเขารู้สึกว่าการมีสัมผัสตามหลักการอาจจะกลายเป็นของคร่ำครึก็ได้ แล้วเขาก็คิดว่าเนื้อหาหรือประโยคที่เป็นหัวใจ ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสก็ได้ ขอเพียงประโยคโดน เนื้อเพลงโดน ในอนาคตผ่านไป 20 ปี เด็กรุ่นนี้โตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็โหยหาเพลงที่ไม่มีสัมผัสในรุ่นของเขา เท่าๆ กับที่เราโหยหาเพลงรุ่นเราที่มีสัมผัส เขาก็ฟังของเขาไม่มีเบื่อเหมือนกันเพราะเขารู้สึกว่ามันทำให้เขากลับไปสู่วันเวลาแห่งความทรงจำ แห่งความสวยงามของเขา เมื่อถึงเวลานั้นเขาก็จะรู้สึกว่ามันมีคุณค่าพอๆ กันอย่างที่เรารู้สึกในตอนนี้นี่แหละ"

ชมพู ฟรุตตี้ ทิ้งท้ายกับเราว่า "เพราะไม่เพราะในแต่ละยุคเราจะไปกำหนดด้วยความคิดของคนยุคเดียวไม่ได้ คุณว่ายุคคุณเพราะ ยุคเขาไม่เพราะ เขาก็บอกว่ายุคเขาเพราะยุคคุณไม่เพราะเหมือนกัน โลกยังไม่หยุดหมุนจะไปบอกว่าเพลงน่าจะเป็นแบบนี้อยู่ตลอด 30 ปี ก็คงไม่ถูกนะ เพลงก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา เราควรจะเคารพคนในแต่ละยุค ถ้าเขาบอกว่าอะไรดี เราก็ควรจะโอเคในความชอบของเขา ถ้าเราไม่ชอบก็เป็นสิทธิ์ของเรา แต่เราไม่ควรไปตัดสินว่ามันไม่ดี ผมว่าอันนี้เป็นการไม่เปิดใจ"

อีกหนึ่งท่านกับการพูดคุยประเด็นนี้กับ บันเทิงไทยรัฐ ออนไลน์ คือดีเจเสียงหวานที่ต้องบอกว่าเธอคือดีเจยุคบุกเบิกที่ยืนระยะจนปัจจุบันคงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่าเธอคนนี้คือดีเจมือ 1 ของเมืองไทย ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

ดีเจพี่อ้อยตอบข้อสงสัยของเราว่าทำไมคนโหยหาเพลงเก่า "เราชอบเพลงเก่าเพราะว่าตอนที่เราฟังเพลงๆ นั้น แน่นอนอายุเราน้อยกว่านี้และหลายๆ เพลงบันทึกประวัติศาสตร์ของเราไว้ด้วย เช่น อกหักครั้งแรก เฮ้ยตอนนั้นแอบรักอยู่พอดีเลย เรารู้เลยว่าขีดเส้นใต้เนี่ย เป็นความรู้สึกแบบไหน ไอ้คำว่าขีดเส้นใต้เอาไว้ว่าเธอไม่รักเนี่ย ฉันเคยทำมาก่อนแล้ว

เพราะฉะนั้นเวลาที่ผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ยินเพลงนั้นจะไม่ใช่แค่เราได้ซึมซับความเพราะของเพลงนั้นอย่างเดียว แต่เราได้โอกาสที่จะย้อนไปถึงความรู้สึก ณ วันนั้นตอนที่เพลงนี้ดัง เพลงเพราะบางทีไม่ใช่แค่เนื้อหามันเพราะเมโลดี้มันดี แต่เพราะเนื่องจากมีความรู้สึกของเราอยู่ในนั้นด้วย"

บางคนมักชอบพูดว่าเพลงสมัยนี้ไม่มีคุณภาพ เลยไม่ฮิต ไม่คลาสสิก "พี่ไม่อยากบอกอย่างนั้นเพราะว่าในที่สุดแล้วก็ใช่ว่าเพลงใหม่ๆ จะไม่ฮิตนะ จะคลาสสิกไม่เท่าหรือเปล่าก็ยังวัดกันไม่ได้ต้องรออีก 10 ปีก่อนถึงค่อยมาพูดกัน เพราะ 10 ปีข้างหน้าถ้ามีคนฟังอยู่เขาก็คือเพลงอมตะเหมือนกันนะ แต่ที่ทุกวันนี้เพลงเก่าถูกพูดถึงมากกว่า มีคอนเสิร์ตรียูเนียน เลยดูคลาสสิกมากกว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเพลงเหล่านี้คนฟังที่เคยเป็นเด็กวัยรุ่นในอดีตเขาโตเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจการใช้จ่ายแล้วเท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องคุณภาพ พี่ไม่อยากบอกว่าเป็นเพราะเพลงสมัยใหม่เนื้อร้องทำนองไม่ดี ดูอย่างยุคนี้เพลงไกลแค่ไหนคือใกล้ของ Getsunova เขาก็ได้รับการยอมรับนะว่าเนื้อร้องทำนองดี เพลงสมัยนี้คุณภาพดีๆ เยอะมาก แต่ถูกแชร์ความสนใจสูง ตอนนี้คนรับสื่อมีอะไรให้อยู่ในมือเยอะเหลือเกิน เพลงมีมากมาย ทั้งต้นฉบับและเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ตามยูทูบ มันเลยเป็นเรื่องของการโดนกระจายความสนใจกันไปมากกว่า คือต้องแบ่งๆ กันดัง

เรื่องคุณภาพก็คงต้องบอกว่าเหมาะกับแต่ละช่วงวัยแต่ละยุคของเพลงๆ นั้น จะมาบอกว่าเพลงเพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ ดีกว่าเพลงยิ่งรักยิ่งห่างของสิงโตนำโชค ก็วัดกันไม่ได้หรอกค่ะ เพียงชายคนนี้ดี ณ ปีพ.ศ.นั้น และก็ยังสามารถดีมาได้ถึงปีพ.ศ.นี้ ยิ่งรักยิ่งห่างเพลงของพ.ศ.นี้ก็ดี ณ ปีพ.ศ.นี้และก็อาจจะดีถึงปี พ.ศ.หน้าเช่นกัน สำหรับคนสองยุคแต่ละเพลงดีกว่ากันหรือเปล่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาถกเถียงกัน เพลงเพราะทั้งคู่เพียงแค่อยู่คนละช่วงเวลา"

ปิดท้ายเราถาม ดีเจพี่อ้อย ว่าจากอดีตถึงปัจจุบันธรรมชาติของคนฟังเพลงเปลี่ยนไปหรือเปล่า ปัจจุบันหลายๆ เพลงจึงดูมาไวไปไว

"ธรรมชาติน่ะไม่เปลี่ยน แต่ความฉับไวมันเปลี่ยนแน่ๆ ธรรมชาติที่บอกไม่เปลี่ยนคือไม่ว่าจะยังไงก็ตามที การฟังวิทยุหรือการฟังเพลงเรามักจะฟังด้วยความรู้สึกเอาตัวเราไปพูดกับความรู้สึกในการฟังเพลงๆ นั้น เอาตัวเราไปผูกกับเนื้อเพลงๆ นั้น เพลงที่จะฮิตติดตลาดมักเป็นเพลงที่มีคนบอกว่าพี่คะเพลงนี้ตรงกับชีวิตหนูจังเลยค่ะ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเนื้อเพลงถูกแต่งมาให้เรา ดังนั้นการฟังเพลงในวันนี้ยังเป็นการตอบโจทย์เหล่านี้ ว่ามันเป็นเพลงที่ตรงกับความรู้สึกของเรา

แต่ความฉับไวที่เปลี่ยนไปก็คือ ณ วันนี้ฟังเพลงนึง โห..เพลงนี้เพราะจัง โหลดเลย เพราะมากเปิดยูทูบฟังทุกวันเลย ในขณะที่แต่ก่อนกว่าจะได้ฟังหนึ่งเพลงถ้าไม่รออัลบั้มเขาออกแล้วเก็บตังซื้อ ก็ต้องนั่งรอดีเจเปิด ไม่รู้สิพี่อ้อยว่าอาจจะเหมือนความรักก็ได้นะ อะไรได้มาไวก็เบื่อไว อะไรหาได้ง่าย อยากฟังก็ได้ฟังทันที สักพักเลยเบื่อละ เหล่านี้ละที่เป็นสีสันและปัจจัยที่ทำให้เพลงๆ นึงทรงคุณค่ามาก"

อ่านยาวกันมาถึงตรงนี้คงได้คำตอบกันแล้วว่าเพลงเก่า เพลงใหม่ ตัดสินไม่ได้ว่ายุคไหนเพราะกว่า ยุคไหนดี เพราะ "เพลงเพราะ" หนึ่งเพลงบางครั้งอาจไม่ได้มาจากเนื้อร้องและเมโลดี้ หากแต่ "เพราะ" จากคุณค่าแห่งความทรงจำที่ผูกติดเรื่องราวชีวิตของคนฟังเอาไว้.