Inside Dara
ผ่าวงการ 'แดนเซอร์เพลงลูกทุ่ง' กับเรื่องจริงที่ทุกคนควรรู้!

ด้วยยุคสมัยที่หมุนไป วงการลูกทุ่งที่เปลี่ยนแปลง กลุ่มคนที่คอยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ผู้มีหน้าที่สำคัญคอยส่งให้โชว์ของศิลปินลูกทุ่งดูสนุกมากขึ้น ถูกเรียกชื่อเปลี่ยนไป จาก "หางเครื่อง" กลายเป็น "แดนเซอร์" ท่าเต้นต่างๆ แปลกตา โดนใจ คนรุ่นใหม่ตามเจนเนอร์เนชั่นที่แปรผัน

จากคนเบื้องหลังที่ถูกมองข้าม วันนี้กลุ่มคนที่เรียกว่า "แดนเซอร์" ในวงการเพลงลูกทุ่ง กลับมาเป็นที่จับตาของสังคมมากขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างนักร้องลูกทุ่งซุปเปอร์สตาร์กับแดนเซอร์และทีมเบื้องหลังหลักที่เป็นคนคิดท่าเต้นเพลงฮิต

สกู๊ปบันเทิงไทยรัฐออนไลน์ สัปดาห์นี้ จะพาไปล้วงลึกวงการแดนเซอร์เพลงลูกทุ่ง ผ่านมุมมองของ "ชาลิภา รินรดามณี" หรือ "ปิ๋ม ซีโฟร์" แดนเซอร์สาวและโคโรกราฟคนคิดท่าเต้น ที่คร่ำหวอดในวงการเพลงลูกทุ่งมาเกือบ 20 ปี สอนเต้นศิลปินลูกทุ่งมาไม่ต่ำกว่า 200 ชีวิต ณ เวลานี้ท่าเต้นของศิลปินลูกทุ่งสังกัด "อาร์สยาม" ทั้งหมดเธอเป็นคนดูแล

มองวงการแดนเซอร์เพลงลูกทุ่ง ผ่านมุมมองของ ปิ๋ม ซีโฟร์

เราเปิดฉากถามเธอตรงๆ ว่า "แดนเซอร์" คือผู้ปิดทองหลังพระจริงหรือไม่ "จริงๆ แดนเซอร์ก็เป็นแค่คนๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่หลักแค่เต้นคอรัสไลน์ เป็นแบ็กอัพ มันเป็นไปได้ที่สุดแล้วล่ะที่คนจะมองว่าเราเป็นแค่ผู้ปิดทองหลังพระ"

เพราะฉะนั้น แดนเซอร์ จะลุกขึ้นมาบอกว่าพวกเราคือผู้กุมชะตาทำให้ศิลปินโด่งดังคงไม่ได้? เมื่อเจอคำถามนี้ ปิ๋ม นิ่งคิดสักพักก่อนจะบอกว่า "อย่าลืมนะว่าเราก็เป็นออปชั่นหนึ่งที่ทำให้ตัวศิลปินโดดเด่นขึ้น ทำให้องค์ประกอบในโชว์ของเขาสมบูรณ์ขึ้น เราไม่ได้กุมชะตาชีวิตของศิลปินลูกทุ่งหรอก เรามีหน้าที่เต้นและทำมันให้ดีที่สุด เราช่วยทำให้คุณดูสมบูรณ์แบบ"

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ ถาม ปิ๋ม ซีโฟร์ ต่อว่า ก่อนที่เพลงลูกทุ่งหนึ่งเพลงจะมีท่าเต้นได้ โคโรกราฟ มีการกระบวนการทำงานอย่างไร

"ทำตามโจทย์ของนายจ้าง จริงๆ แล้วการคิดท่าเต้นเป็นงานศิลปะ โคโรกราฟก็อยากทำอะไรตามใจตัวเอง แต่พอมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาก็ต้องทำตามโจทย์ของผู้ที่จ้าง บางทีเราอยากจะทำเยอะแยะไปหมดแต่คนจ้างเขาต้องการแบบนี้ เราก็ต้องมีขีดจำกัดในการทำงานด้วย พูดง่ายๆ ก็ต้องทำงานสร้างสรรค์ให้ได้ดี แต่ต้องเป็นไปตามโจทย์ที่ได้รับ"

การทำงานของศิลปินคนนี้ถ้าเขาต้องการแบบนี้ เราต้องทำตามโจทย์ที่เขาตั้งมาด้วย ไม่ได้ทำตามอำเภอใจอย่างเดียว ปิ๋ม ซีโฟร์ กล่าวอย่างเน้นย้ำ

ข้อมูลจาก ปิ๋ม ทำให้เราได้รู้ว่าค่าจ้างหนึ่งเพลงลูกทุ่งสำหรับโคโรกราฟที่คิดท่าเต้น ส่วนตัวเธอเองวางไว้ที่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเพลงละ 10,000 บาท ซึ่งโคโรกราฟแต่ละรายจะมีเรตราคาของตัวเอง บางคนก็คิดเพลงแรก 50,000 บาท เพลงต่อไปก็ลดหลั่นไป 30,000-35,000 บาท บางคนก็เหมาทั้งอัลบั้ม 80,000 บาท

"แต่สุดท้ายเราก็จะเจอกดราคาจากทางคนจ้างอีกทีอยู่ดี เพราะยังไงเขาก็ต้องขอลด เราจะบอกว่าลดไม่ได้มันเป็นราคามาตรฐาน ก็ไม่ได้อีก เพราะมันไม่มีมาตรฐานราคา เชื่อมั้ยว่าส่วนใหญ่เป็นระบบพี่ๆ น้องๆ ช่วยๆ กัน บางคนเพราะเจอคำว่า ช่วยๆ กัน จนต้องยอมทำให้ทั้งที่คนจ้างเลี้ยงส้มตำมื้อเดียวตอบแทนยังมีเลย"

แล้วรายได้ของคนทำท่าเต้นในแง่ลิขสิทธิ์อยู่ตรงไหนอย่างนักแต่งเพลงยังได้ค่าดาวน์โหลดเพลง? "ไม่มีค่ะ ทำทีเดียวจบ มันแย่มากนะบางครั้งเราก็อยากมีปากมีเสียง ปิ๋มรอว่าสักวันเราจะได้ลุกขึ้นมาทำอะไรกันบ้าง ได้ปฏิวัติวงการแดนเซอร์เพลงลูกทุ่งกันบ้าง"

อย่างนี้น่าจะเริ่มมองไว้แล้วว่าในอนาคตท่าเต้นที่โคโรกราฟคิดไว้ควรเป็นลิขสิทธิ์ของคนคิด เราโยนคำถามนี้สำคัญใส่ ปิ๋ม

"อยากจะคิดตั้งนานแล้วค่ะ ด้วยความเคารพพี่รุ่ง สุริยา คนนี้เขาเป็นพี่ชายที่รัก แต่ท่าติงนังบอกเลยว่า ปิ๋ม ซีโฟร์อยากจะจดลิขสิทธิ์มาก

คือถามว่าโคโรกราฟสามารถทำได้มั้ยเรื่องการจดลิขสิทธิ์ ปิ๋มว่าทำได้ถ้าเรามีเวลาพอ แต่จดแล้วจะยังไงคนอื่นไม่สามารถที่จะเต้นท่านี้ได้เหรอ

ปิ๋มว่าท่าเต้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่สามารถระบุได้ อย่างโน้ตดนตรี โดเรมีฟาซอล ถ้าคุณก๊อบฉันเกิน 5 ตัว 10 ตัวคือคุณผิดลิขสิทธิ์นะ แต่ถามว่าแดนเซอร์ล่ะ มันไม่มีข้อกำหนดเลยว่าคุณห้ามเต้นเกินกำหนดนี้นะ ถ้าเต้นแบบฉันเป๊ะเกิน 3 สเต็ปแสดงว่าคุณละเมิดลิขสิทธิ์ ก๊อบปี้ฉัน ตามหลักการปฏิบัติมันก็คงจะทำยาก

สุดท้ายก็กลายเป็นเราคิดแทบตายได้ค่าจ้างครั้งเดียว แต่คนอื่นสามารถเอาไปเต้นหากินกันได้หมด แต่เอาจริงๆ เราก็ไม่มีทางเลือก เพราะโจทย์ของเราคือคิดท่าเต้นที่คนจำได้ ดังนั้น อยากให้คนจำได้ก็ต้องพยายามทำทุกทางให้คนเต้นตาม จะไปหวงห้ามไม่ให้เขาเต้นก็พังสิ คนเขาก็จะบอกไม่เต้นก็ไม่เต้น คนไม่เต้นท่าก็ไม่ดัง เรื่องก็วนมาเป็นอย่างงี้ ปิ๋มถึงได้บอกว่าเอาแค่มีราคามาตรฐานไม่ให้กดราคากันมากไปก็โอเคแล้ว"

ดูเหมือน "ราคากลางมาตรฐาน" คำๆ นี้ที่ ปิ๋ม ซีโฟร์ เน้นย้ำอยากให้เกิดขึ้นในวงการแดนเซอร์และโคโรกราฟ เพื่อจะได้เกิดมาตรฐานไม่ต้องการ "กดราคา" และ "ตัดราคา" กันเอง

ถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้ว่า "แดนเซอร์เพลงลูกทุ่ง" ทุกวันนี้ราคาค่าจ้างเฉลี่ยอยู่เท่าไหร่

ปิ๋ม เล่าให้เราฟังว่า สมัยก่อนที่เธอยังเต้นอยู่ เรทราคาจะอยู่ที่เพลงแรก 2,500 บาท เพลงต่อไปก็ลดหลั่นลงไปแล้วแต่เรตของแดนเซอร์แต่ละคน

"ราคานี้ต่อคนนะคะไม่ใช่เหมาทั้งทีมอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเรตของแดนเซอร์ด้วยนะ 3 ดาว 5 ดาวเรตก็จะไม่เหมือนกัน บางคนที่มาใหม่ๆ ยังเต้นไม่แข็ง ไม่มีชื่อเสียงในวงการ เพลงแรกในโชว์ก็ได้ 500 เพลงต่อไปก็ลดหลั่นๆ ลงไป เชื่อมั้ยเมื่อก่อนเต้น 7 สีคอนเสิร์ตมี 5 เพลง โอ้โหรับเป็นหมื่นเลย อันนี้ย้ำว่าต่อคนนะคะ ที่สำคัญแต่ก่อนค่าจ้างเรตนั้นเราไปแต่ตัวด้วยนะ ไม่ต้องหอบเสื้อผ้ากันไปเองอย่างปัจจุบัน"

แต่หลังจากที่เศรษฐกิจแย่ลงประกอบกับคนที่มีความสามารถด้านการเต้นตื่นตัวอยากมาอยู่วงการนี้มากมาย สุดท้ายก็เป็นไปตามหลักการตลาด เมื่อความต้องการจะขายงานมีสูง การแข่งขันมีมาก ทำอย่างไรล่ะ ที่จะได้งานมา คำตอบง่ายๆ คือการตัดราคากัน

"เพราะมันเกิดเหตุการณ์หั่นราคากันค่ะ ลดกันครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ระบบราคามันเสียไปหมด พอราคาต่างกันหลายเท่าตัวแต่เต้นเหมือนกันเลย ลูกค้าเขาก็ต้องเลือกราคาที่ถูกกว่า อะไรที่มันเหมือนๆ กัน เขาก็ไม่เลือกที่จะจ่ายแพง"

เพราะเขาถือว่าแดนเซอร์ไม่ใช่ตัวหลักที่จะต้องมาจ่ายแพงมากมายขนาดนั้น ปิ๋ม พูดประโยคนี้ด้วยสีหน้าอ่อนใจ

"เขาเลือกแค่หุ่นดี หน้าตาดี เต้นสนุกสนาน ลูกค้าที่จ้างเขาก็แฮปปี้แล้ว เขาถือว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่ควรจะเสียอะไรมากมาย เรตราคามันก็เลยลดลงๆ เรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้น่าตกใจมากที่เห็นน้องๆ หลายๆ คนกำลังโดนเอาเปรียบ เชื่อมั้ยทั้งคืนได้ 300 บาท"

ไหนจะค่ารถแท็กซี่เดินทางไปทำงาน ไหนจะค่าแต่งตัว ปิ๋ม ยืนยันเราว่า "ไม่คุ้ม!"

"มันจะมีคนชอบพูดว่ารับๆ ไปก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้า มีทิปให้ ปิ๋ม อยากจะถามว่าอะไรการันตีเด็กมัน ความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กก็ไม่มี เดี๋ยวนี้รถหาเอง เสื้อผ้าหาเอง ราคาเหมาทั้งทีมหลักหมื่น บางวงจ้างหลักพันเฉลี่ยกันแล้วจะเหลือเท่าไหร่กัน ปิ๋มว่าแดนเซอร์กำลังโดนเอาเปรียบ"

ใช้คำว่า "โดนเอาเปรียบ" อย่างนี้ อยากลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการแดนเซอร์เพลงลูกทุ่งมั้ย?

"ปิ๋มเองก็เป็นแดนเซอร์ตรงนี้มานาน แต่ก็ยังถือว่าเป็นรุ่นน้องของพี่ๆ หลายคน เรามีระบบซีเนียร์ จูเนียร์ เรามีระบบพี่ๆ น้องๆ พี่เขาไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไร เราก็เป็นแค่รุ่นน้องคนหนึ่งในวงการ จะลุกมาปฏิวัติวงการนี้ก็คงไม่ได้ ในเมื่อไม่มีใครกล้าที่จะสู้ เราก็อยากทำแต่เราต้องให้เกียรติรุ่นพี่ ก็ปล่อยเลยตามลย จนทุกวันนี้กลายเป็นโดนกดราคาทั้งหมด แล้วถามว่าจะปฏิวัติได้มั้ยคงยาก ถ้าเศรษฐกิจยังเป็นอย่างนี้อยู่"

ทิ้งท้าย ปิ๋ม ซีโฟร์ เสริมกับ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ ในสิ่งที่เธอบอกว่าอยากพูดที่สุด

"แดนเซอร์ไม่ได้เต้นเนื้อสายตัวแทบขาดอย่างเดียวนะคะ แต่เปลืองตัวมากจริงๆ เปลืองตัวในที่นี่คือเสื้อผ้านุ่งน้อยห่ม เจอสายตาแทะโลม ต้องเอาชีวิตตัวเองให้รอดจากปากเหยี่ยวปากกาหน้าเวที แต่เราก็ต้องทำเพราะมันคืออาชีพและรายได้"

ในเมื่อสังคมภายนอกอาจจะตีค่า "แดนเซอร์เพลงลูกทุ่ง" เป็นแค่ตุ๊กตาไขลานเต้นเสริมบารมีศิลปิน "ปิ๋ม" จึงฝากข้อคิดถึงเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นน้อง

การทำงานของแดนเซอร์ที่มีคุณภาพควรจะเต้นให้ถูกต้อง ซ้อมให้สม่ำเสมอ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะศิลปะการเต้นไม่ได้หยุดอยู่กับที่

ที่สำคัญ "อย่าใช้อาชีพแดนเซอร์แอบแฝงเพื่อทำอย่างอื่น"

"ปิ๋มเกิดกับอาชีพนี้และรักอาชีพนี้มาก ถ้าเราให้เกียรติอาชีพ ไปอยู่ไหนก็จะรุ่งเรืองในอาชีพที่เราทำ แต่ถ้าไปดูถูกอาชีพของเรา เต้นไปบังหน้าแล้วหารายได้อย่างอื่นอันนี้ไม่ควร แต่ถ้าเกิดจะเต้นแล้วยั่วยวนตามเพลง สิ่งนั้นคือบนเวทีปิ๋มไม่ห้ามเพราะมันคือการแสดง".