Inside Dara
สร CLC กว่าจะถึงจุดนี้ ทุ่มสุดตัว เทหมดใจ #เป็นไอดอลไม่ง่ายเลย

สมาชิกคนไทยเพียงคนเดียวของเกิร์ลกรุ๊ปวง CLC สร – ชลนสร สัจจกุล หรือ สร CLC คืออีกหนึ่งไอดอลเกาหลีสายเลือดไทยที่นำความภูมิใจมาสู่ประเทศไทย กว่า 6 ปีที่ประเทศเกาหลี สรผ่านการเรียนรู้ชีวิต ฝึกฝนทักษะการเป็นศิลปินมาอย่างหนัก เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ไม่ถอยหลังกลับ

“ตอนเด็กๆ สรเป็นเด็กซนๆ เล่นอะไรเหมือนเด็กผู้ชาย ขุดดิน เก็บหิน เด็กคนอื่นจะเก็บดอกไม้ เล่นขายของ สรชอบเล่นกีฬาเอ๊าต์ดอร์ ชอบว่ายน้ำ วิ่ง เตะบอล เป็นนักกีฬาของโรงเรียน อะไรที่เราพอจะเล่นได้ทำหมด ผิวสรคล้ำมาก ซึ่งเราเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ก็จะมีเด็กต่างชาติเยอะ ใครๆ ก็คิดว่าเราเป็นคนฮาวายอยู่ทะเล ไม่น่าจะใช่เด็กไทย(หัวเราะ)

“สรเป็นแก๊งเด็กอินเตอร์ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ เวลาอยู่กับเพื่อนจะพูดภาษาไทย เพราะเพื่อนในกลุ่มเป็นคนไทย พูดไทยจนครูว่า ความรู้สึกของสรคือ เราไม่อยากพูดไทยคำอังกฤษคำ เวลาพูดไทยสรจะพูดชัดเจน เวลาคุยกับเพื่อนต่างชาติเราก็พูดภาษาอังกฤษล้วน ชัดถ้อยชัดคำเช่นกัน นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมาอยู่เกาหลีแล้วยังพูดภาษาไทยชัด ก็เพราะเราถูกปลูกฝังจากพ่อแม่ ครูภาษาไทยว่า เวลาพูดไทยให้ชัดเจนทั้งประโยค

“ถึงสรจะเป็นเด็กซนๆ แต่เรื่องเรียนสรให้ความสำคัญมาก เป็นคนบ้าเรียน บ้าเกรด ผลการเรียนออกมาต้อง A ทุกวิชา ถ้าเทอมไหนไม่ได้ A ทุกวิชา หนูร้องไห้เลย คุณพ่อกับคุณแม่ก็ปลอบว่าไม่เป็นไร แต่สรจะยอมไม่ได้ ได้ B วิชาเลขก็ขอคุณแม่เรียนพิเศษเพิ่ม”

“คุณพ่อ [บิ๊กหอย-วนัสธนา (ชื่อเดิมธวัชชัย) สัจจกุล] คุณแม่เลี้ยงลูกแบบให้อิสระ ไม่ดุเลย ไม่หวง และจะเป็นห่วงมากกว่า ท่านจะเน้นสอนให้เรารักพี่น้อง รักญาติ รักครอบครัว ใครมีบุญคุณและเคยช่วยเหลือ เราต้องตอบแทน เวลากลับเมืองไทยคุณแม่จะพาตระเวน ไปไหว้ญาติพี่น้อง ผู้หลักผู้ใหญ่ตามบ้าน ส่วนคุณพ่อ ด้วยความที่เคยทำทีมฟุตบอลมาก่อน จะชอบเปรียบลูกเหมือนนักฟุตบอล (ยิ้ม) เนี่ยนักฟุตบอลต้องดูแลสุขภาพนะ เจ็บป่วยไม่สบาย แขนขาเจ็บ ก็ลงแข่งไม่ได้ ลูกเองก็เช่นกัน ต้องดูแลสุขภาพ เราต้องใช้ร่างกายเรียนและทำงาน ส่วนเรื่องจิตใจลูกก็ต้องเข้มแข็ง ต้องรู้จักรับมือกับหลายๆ อย่าง วงการบันเทิงเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน มีขึ้นก็มีลง ลูกไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เจอคนมากมาย ต้องรู้จัก คอนโทรลตัวเอง คุณพ่อจะมองเราเหมือนเป็นเด็กผู้ชาย เลยจะเรียกสรว่า ‘ไฟเตอร์’ หรือนักสู้ เพราะไปอยู่เกาหลีต้องต่อสู้อะไรหลายอย่างเพียงคนเดียว ไม่มีใครคอยซัพพอร์ต เวลาคุณพ่อโทร.หาลูก จะถามว่า ‘ฮัลโหล ไฟเตอร์เป็นยังไงบ้าง สบายดีมั้ย สุขภาพเป็นยังไง เครียดมั้ยลูก’ แม้จะหนักหนาแค่ไหนสรจะไม่ค่อยบอก ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วง เลยจะตอบว่า ‘ชิลๆ ค่ะ I got it'”

“สรชอบร้องเพลง ชอบเต้นอยู่แล้ว เคยเรียนร้องเพลงตอนอายุ 12-13 ปี และเรียนเต้นกับเพื่อน 8-9 คน ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นนักร้องเลยค่ะ เรียนเพื่อเป็นงานอดิเรกมากกว่า มีวันหนึ่งนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน เห็นมีรายการ TvN K-Pop Star Hunt เมื่อปี 2011 มาเปิดออดิชั่นที่ไทย รู้สึกอยากลองของ ก็เลยไปสมัครดู ไปแบบไม่ได้คาดหวังว่าต้องได้ ตั้งใจไปหาประสบการณ์สนุกๆ มากกว่า ส่งวิดีโอไปปรากฎก็ถูกเรียกตัวให้มาออดิชั่นที่สยามพารากอน ติด 100 คน 20 คน และ 2 คนสุดท้ายที่ได้ไปเทรนที่เกาหลี พอเข้าไปแข่งในรายการก็ชนะที่ 1 พอชนะครอบครัวทั้งตกใจและดีใจ ก็ยังแซวๆ กันว่า ลูกเราไมได้เบสิกแน่นคงไม่ได้หรอก สรก็ยอมรับนะคะว่าตอนนั้นเราก็ไม่ได้ร้องเพลงเก่งหรือเต้นเก่ง แต่ทางค่ายคงเห็นศักยภาพของสรว่าไปพัฒนาต่อได้ เขาก็เลยชวนเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด Cube Entertainment

“สรเป็นเด็กที่ไม่เคยห่างครอบครัวเลย ไม่เคยไปซัมเมอร์ต่างประเทศ ไม่เคยไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนาน เป็นเด็กติดบ้าน ไปไหนก็ไปกับแม่ตลอด พอบอกคุณแม่ว่าทางเกาหลีอยากให้เซ็นสัญญาไปเป็นศิลปินฝึกหัดที่นั่น คุณแม่ก็บอกว่าถ้าอยากไปอยากทำก็ไปเลยลูก ทั้งคุณพ่อคุณแม่ให้การสนับสนุกเราเต็มที่ คุณพ่อก็แนะนำว่าไปอยู่นู่นไม่ได้สบายเหมือนอยู่บ้านเรา เพราะระบบการทำงานของคนเกาหลีค่อนข้างเป๊ะ ลูกต้องสู้และอดทน สรตัดสินใจไปคนเดียวเลยตอนอายุ 15 ปี

“วันแรกทีไปถึงเกาหลี ก็เอากระเป๋าไปเก็บที่หอพัก คนในค่ายก็แนะนำว่านี่ห้องพักยูนะ นอนกับคนนี้ ใจคิดว่าวันแรกคงพักก่อน ยังไม่ทำอะไรมั้ง ตอนนั้นยังพูดภาษาเกาหลีไม่ได้เลย แต่ไม่ใช่ค่ะ คนในค่ายบอกว่าเก็บกระเป๋าเสร็จแล้ว เปลี่ยนเสื้อผ้าที่ใส่เต้นได้ แล้วก็ไปที่ค่ายเลย ก็คิดว่าคงแค่เซอร์เวย์สถานที่ ไปถึงเขาก็แนะนำว่านี่ห้องซ้อมเต้น ห้องร้องเพลง ห้องภาษา มีครูคนไหนบ้าง จากนั้นเขาก็บอกให้ซ้อมไปก่อน พรุ่งนี้เริ่มเรียนจริงจัง อยู่เกาหลีได้ 3 วันสรร้องไห้อยากกลับบ้านเลย โทร.หาคุณแม่บอกว่าไม่อยากอยู่แล้ว ไม่ไหวแล้ว แต่ก็พยายามคอนโทรลตัวเอง เทคโนโลยีก็ช่วยได้เยอะ ทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่ไกลบ้านเท่าไร

“ก่อนมาเกาหลีมีอย่างหนึ่งที่สรขอไว้กับทางค่ายคือ ขอเรียนหนังสือด้วย สรไม่อยากทิ้งเรื่องเรียน อย่างไรช่วยหาโรงเรียนให้ไอด้วย เรื่องค่าใช้จ่ายทางเราจัดการเองได้ ซึ่งสรก็เข้าเรียนอินเตอร์ที่โน่น จริงๆ แล้วเด็กฝึกหัดต่างชาติ ทางค่ายอยากให้โฟกัสเรื่องซ้อมอย่างเดียว แต่สรมองว่าคนเราต้องมีแพลนบี หากวันหนึ่งเราไมได้ไปต่อ เราก็ยังมีวิชาความรู้ ต้องขอบคุณทางค่ายที่ใจดีอนุญาตให้สรเรียน

“ชีวิตเด็กฝึกหัดของสร ตื่นเช้านั่งรถบัสไปเรียน เลิกเรียนบ่ายสาม นั่งรถบัสมาที่ค่ายแล้วก็ซ้อมถึงสี่ทุ่ม เวลาทำการบ้านบางทีก็ต้องแอบทำในห้องซ้อม ตาเหมือนมองเนื้อเพลง แต่จริงๆ แล้วมองการบ้าน (หัวเราะ) บางทีก็แอบทำในห้องน้ำ หายไปนานก็จะมีเพื่อนมาตาม ที่ต้องแอบเพราะที่ค่ายมีกล้องวงจรปิดติดทุกที่ ซึ่งจริงๆ มันก็ผิดระเบียบแหละค่ะ เพราะเวลาซ้อมก็ต้องซ้อม แต่บางทีขอแอบทำซะหน่อย เพราะโปรเจ็กต์ต้องส่งครูก็เยอะ ถ้ากลับไปทำที่บ้านหมด เราก็จะวิตกจริตอีกว่าทำยังไงดี การบ้านยังไม่เสร็จเลย กว่าจะได้นอนก็ตีหนึ่งตีสอง เช้ามาก็ตื่นไปโรงเรียน

“ยอมรับว่าเหนื่อยนะคะ เพราะสรเป็นพวกเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ ในเมื่อตัดสินใจทั้งเรียนและทำงานพร้อมกัน ต้องดีทั้งสองอย่าง ผลการเรียนของสรก็ยังคงได้ A เรียงแถวอยู่ กว่าจะทุกอย่างจะได้ตามที่เราหวัง มันก็ได้อย่างเสียอย่าง บางทีต้องอดนอน อดไปเที่ยวกับเพื่อน วันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดบางทีก็ต้องเข้าซ้อมคนเดียว บางทีมีสอบร้องเพลงต้องมาสอบวันอาทิตย์ ส่วนชีวิตนักเรียนไฮสกูลได้เรียนก็จริง แต่พอเลิกเรียนก็รีบไปซ้อม ไม่ได้เคยมีกิจกรรมหลังเลิกเรียนกับเพื่อนเลยค่ะ”