Inside Dara
๙ พระราชดำรัส ร.๙ ประทับในใจราษฎร์

นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการและพระราชสัตยาธิษฐาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ

รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาอย่างแท้จริง ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังสติปัญญา ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะการเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค เป็นผลให้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรที่ต้องเผชิญกับปัญหาการทำกิน และการดำรงชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงทรงคิดค้นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งเรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่”

นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริแก้ไขบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของราษฎร ซึ่งต่อมาปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจาก

พระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ โดยทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการอยู่อย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงครอบคลุมชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร ชลประทาน ที่ดิน ป่าไม้ ประมง และปศุสัตว์

กระทั่ง พ.ศ.2540 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระองค์พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ราษฎร เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ความพอเพียงมีคุณลักษณะ 3 อย่างคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หากนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสังคมและทรัพยากรบุคคลอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสงบสุข

ทีมข่าวเฉพาะกิจ จึงได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมจักรีวงศ์ เพื่อเป็นแง่คิดและข้อเตือนใจแก่พสกนิกรชาวไทย

๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความเข้าใจกฎหมายและปรัชญากฎหมายอย่างลึกซึ้ง ทรงให้ความสนใจต่อกฎหมายและหลักความยุติธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พสกนิกรอยู่ร่วมสังคมกันได้อย่างผาสุก “…กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม ความยุติธรรมจึงควรมาก่อนและอยู่เหนือกฎหมาย และการใช้กฎหมายนั้นจะต้องใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมมิใช่เพื่อรักษาตัวกฎหมาย…”

๒ รัชกาลที่ 9 ทรงเตือนถึงความบกพร่องของคนเก่งไว้ในพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2532 ว่า “ข้อหนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบและกว้างไกล เพราะใจร้อนเร่งจะทำการให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้การงานผิดพลาด ขัดข้องและล้มเหลว” “ข้อสอง บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือว่าตนเป็นเลิศ เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้ามความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้งทำลายไมตรีจิตมิตรภาพตลอดจนความสามัคคีระหว่างกัน “ข้อสาม บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำ ทั้งปวง เพราะมุ่งหน้าแต่จะทำให้ตัวเด่น ให้ก้าวหน้า เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบ “ข้อสี่ บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตัวให้เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิดและความชั่วทุจริตได้โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน “… ดังนั้น นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะอบรมให้ดีพร้อมไปด้วย ประเทศเราจึงจะได้คุณที่มีคุณภาพพร้อม คือ ทั้งเก่ง ทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมือง ให้ความเก่งเป็นปัจจัยเพื่อประคับประคองหนุนสำหรับการสร้างสรรค์ และให้เป็นความดีเป็นปัจจัยเพื่อประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ที่อำนวยผล เป็นประโยชน์อันพึงประสงค์แต่ฝ่ายเดียว…”

๓ แจ๊ซ คือแนวเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรด และทรงเป็นนักดนตรีแจ๊ซที่เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวยกย่องพระองค์เป็น “King of Jazz” พระองค์มีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า “ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่ใช่แจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคนเป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภท ต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ต่างๆ กันไป”

๔ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า “เคยทรงเหนื่อย ทรงท้อบ้างหรือไม่” พระองค์มีพระราชกระแสตอบว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

๕ ในช่วงที่บ้านเมืองประสบปัญหาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2512 รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแก่นักศึกษาว่า “… คำว่าพอสมควรนั้นเป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะว่าการเลือกตั้งก็ตาม หรือการถกเถียงอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม ต้องได้ผลพอสมควรทั้งนั้น… เพราะทุกคนมีผลประโยชน์ มีความต้องการแตกต่างกัน และก็มีเสรีภาพ ความแตกต่างกันนั้นอาจทำให้เบียดเบียนกันได้ ก็ต้องมีผลพอสมควร จึงจะมีความเรียบร้อย มีความเงียบสงบ แต่ถ้าแต่ละคนเห็นแก่ตัว มีแต่จะเอาผลเต็มที่สำหรับตัว เชื่อว่าอีกคนหนึ่งเขาจะเดือดร้อน ประชาธิปไตยหรือความเป็นอยู่ของสังคมของชาติ อยู่ที่แต่ละคนมีความสุขพอสมควรจะได้ไม่เบียดเบียนกันอย่างเปิดเผย…” หลังการเลือกตั้งใน พ.ศ.2538 เมื่อบ้านเมืองมีการเลือกตั้งและนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “… ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นระบอบที่ควรจะเหมาะสมกับการปกครองประเทศ เพราะว่าประชาชนได้มีสิทธิมีเสียงที่จะบอกชี้นำประเทศควรจะไปทางไหน มาบัดนี้มีการเลือกตั้งแล้ว ก็หมายความว่าประชาชนได้ชี้แล้วว่าอยากได้อะไร แต่ประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ บางทีอาจจะไม่เป็นระบอบที่ดีเด่นที่สุดก็ได้ แต่ก็แล้วแต่ผู้ปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติปฏิบัติดี ก็สามารถที่จะปั้นให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้า ไปสู่ส่วนที่จะเป็นเป้าหมายที่สุด คือความก้าวหน้าของประเทศ ด้วยความเห็นชอบหรือความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ…”

๖ รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเรื่องโลกร้อนเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน โดยพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 ความว่า “…ได้ข้อมูลมาเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่งซึ่งเขาเดือดร้อนกันทั่วโลก คือความเดือดร้อนที่ทุกคนจะต้องประสบ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รู้… เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น… น้ำแข็งจะละลายลงทะเลและรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น เพราะสิ่งของที่ร้อนย่อมมีการพองขึ้น ปริมาตรก็มากขึ้น เมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทำให้ที่ที่ต่ำเช่นกรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม… “… สิ่งที่ทำให้คาร์บอน (ในรูปคาร์บอนไดออกไซด์) ในอากาศเพิ่มมากขึ้น มาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไหม้… การเผาเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ถ่านหิน น้ำมัน เชื้อเพลิงอะไรๆ ต่างๆ เหล่านี้ทำให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศจำนวน 5 พันล้านตันต่อปี แล้วก็ยังมีการเผาทำลายป่าอีก 1.5 พันล้านตัน รวมแล้วเป็น 6.5 พันล้านตัน… ถ้าไม่มีอะไรที่จะทำให้จำนวนของสารนี้ในอากาศลดลง ก็จะทำให้สารนี้เป็นเหมือนตู้กระจกครอบ ทำให้โลกนี้ร้อนขึ้น…” หลังจากนั้นปี 2534 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”

๗ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ครั้งนั้น รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำรัสออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งเมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ความว่า “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกันแล้วมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคนความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครจนถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย “ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรง ด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองกลับสู่สภาพปกติเร็วที่สุด “อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี “ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง ให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”

๘ ในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสำคัญของหน้าที่ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่น่าจดจำที่สุด ความว่า “… ความสุขความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคง เป็นปกติสุข… ความเจริญมั่นคง ทั้งนั้นจะสัมฤทธิผลเป็นจริงได้ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลังด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น “จึงขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกคนทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์เพื่อชาติบ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคง ยั่งยืนไป…”

๙ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือสิ่งประดิษฐ์จากพระปรีชาสามารถขอพระองค์ มิใช่สิ่งที่ทำสำเร็จในชั่วข้ามคืนและปราศจากอุปสรรค หลายงานหลายโครงการใช้เวลาหลายสิบปีศึกษาแก้ไขปัญหามาตลอดกว่าจะประสบความสำเร็จสูงสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อ 27 ตุลาคม 2519 เกี่ยวกับความเพียร ตอนหนึ่งว่า “…สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดี ไม่ครึ ต้องมีความอดทนเวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อบอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปี หรือสามปีข้างหน้า…” นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ กระทั่งสวรรคต

เป็นเวลา 70 ปีที่พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ทรงนำประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปัญหาต่างๆ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ ยังผลให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง มั่นคง เป็นปึกแผ่นตลอดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร