Inside Dara
นิสิตแพทย์จุฬาฯ คนล่าสุด “ฟรัง นรีกุล” ดาราวัยรุ่นที่วัยวุ่นปลื้มมากๆ!!

เต็มที่กับชีวิต! สัมผัสความคิดนิสิตแพทย์จุฬาฯ คนล่าสุด “ฟรัง-นรีกุล” หรือ “ออย ฮอร์โมนส์” สาวน้อยวัยใสที่วัยรุ่นวัยวุ่นถือเป็นแบบอย่าง ทั้งทางความคิดและบริหารชีวิตได้อย่างสตรอง!

“ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร” เริ่มแนะนำตัวเองในวงกว้างเป็นครั้งแรกจากการรับบทเป็น “ออย” ในซีรีย์ภาคสองของฮอร์โมนส์ ก่อนที่บทบทบาทการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “เมย์ไหน ไฟรแรงเฟร่อ” เมื่อปีที่ผ่าน จะส่งให้เธอได้เข้าชิงรางวัลดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหลากหลายเวที รวมทั้งสุพรรณหงส์...ถึงตอนนี้ อาจกล่าวได้ว่า ฟรัง-นรีกุล คือนักแสดงหน้าใหม่ที่สามารถเติบโตต่อไปได้อีกยาวบนเส้นทางสายนี้

อย่างไรก็ดี ในขณะที่กำลังสร้างชื่อในฐานะดารานักแสดง ตัวตนอีกหนึ่งด้านของ “ออย ฮอร์โมนส์” หรือ “มิ้ง เมย์ไหนฯ” ก็คือ “ฟรัง นรีกุล” วัยรุ่นวัยเรียนที่ยังต้องก้าวต่อไปบนทางสายการศึกษา และจากความพยายาม ความตั้งใจ ที่เธอใช้คำว่า “เต็มที่ไปเลย” ก็ทำให้สาวน้อยหลายบทบาท สามารถสอบเข้ารั้วมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ ในสถานะนิสิตแพทย์คนใหม่แห่งรั้งจามจุรี ก่อเกิดเป็นกระแสอย่างล้นหลามความชื่นชมในตัวเธอ

งานแสดงหรือก็หนัก งานเรียนหรือก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่อะไรล่ะที่ทำให้สาวน้อยคนนี้ ทำได้ดีทั้งสองบทบาท คำตอบหลังรอยยิ้มสวยๆ และน่ารักสมวัย จะช่วยไขความกระจ่าง....

โตขึ้นอยากเป็นอะไร?

“อยากเป็นหมอ”

คำถามคลาสสิกที่เรามักจะถูกถามตั้งแต่เริ่มจำความได้คือโตขึ้นไป อยากเป็นอะไร หลายคนอยากเป็นครู เป็นตำรวจ เป็นทหาร และหนึ่งในนั้นก็มีที่ “อยากเป็นหมอ” และนี่ก็เป็นคำตอบของ “นรีกุล” ในวันที่คำนำหน้ายังเป็นเด็กหญิง เมื่อถูกถามเรื่องความฝันในวันข้างหน้า...

“จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าเริ่มตอนไหนเหมือนกันนะ แรกเริ่มก็เหมือนเรื่อยๆ ล่ะมั้ง อีกทั้งตอนเด็ก เราก็ยังไม่มีจุดประสงค์แน่ชัด เวลาผู้ใหญ่ถามว่าอยากเป็นอะไร “อยากเป็นหมอ” เป็นคำแรกที่ตอบไป แต่พอโตขึ้นมาหน่อย คำตอบก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยากเป็นสถาปนิกบ้าง อยากเป็นวิศวกรบ้าง หรืออยากเป็นเจ้าของโรงแรม คือเปลี่ยนมาแล้วทุกอย่าง แต่จุดที่ทำให้ตั้งใจมาเข้าเรียนแพทย์ก็น่าจะเป็นเพราะสังคมโรงเรียนที่มีส่วนเยอะมาก

“อย่างในห้องฟรัง เป็นแผนการเรียนวิทยาศาสตร์ ทางเลือกที่จะเรียนต่อก็ไม่ค่อยเยอะ อย่างเรา ตอนแรกก็ยังคลุมเครืออยู่ ประกอบกับในห้องฟรัง ก็จะแบ่งไปเลย ผู้ชายส่วนใหญ่ก็จะไปแบบวิศวะ แล้วพอโตขึ้นมาเราก็รู้สึกว่าวิศวะก็คงไม่ค่อยใช่กับเรา แล้วที่เหลือก็คือไปหมอหมดเลย ทำให้เรา...โอเค ก็ได้ แต่เป็นความรู้สึกตอนแรกนะ เพราะพอเราขึ้น ม.6 เราก็รู้ได้แล้วว่าจะไปทางไหน แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้ตัวเองขนาดนั้น ต้องเตรียมตัวแล้วว่าเราไปทางนี้ก่อนแล้วกัน ตามเพื่อนไปก่อนแล้วกัน

“อีกอย่าง ตอนเด็กๆ อาจเป็นเพราะเราได้ยินจากผู้ใหญ่พูดถึงหมออยู่บ่อยๆ ด้วย อย่างเช่น “หมอนี่ดีเนอะ” เวลาไปหาหมอแล้วกลับมาบ้าน ก็จะได้ยินเขาชมให้ฟังว่าคุณหมอคนนี้ดูแลดีมากเลย จึงอาจจะมีส่วนปลูกฝังเรามา ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นได้ก็คงดี และด้วยความที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร รวมทั้งคิดว่าหมอน่าจะเลี้ยงตัวเองได้ ถ้าเรียนไป ก็คงโอเค ไม่ตกอับอะไร”

และจากเหตุระเบิดที่ท้าวพระพรหม บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ก็นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

“พอเริ่มคิดว่าจะสอบ ก็อ่านหนังสือมาเรื่อยๆ แต่ที่ทำให้ชัดเจนที่สุดคือเหตุการณ์ระเบิดหน้าศาลพระพรหมเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ตอนนั้นฟรังนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่ห้างพารากอน แล้วสักพักก็มีเหตุการณ์ระเบิด แต่เรายังอ่านต่อไป พอกลับมาดูข่าว เรารู้สึกว่าสงสารคนที่ประสบกับเหตุการณ์นี้ เราเป็นคนที่ขี้สงสารอยู่แล้ว เราดูข่าวตอนที่เขาสัมภาษณ์คนต่างชาติที่มาเที่ยว ก็น้ำตาไหล และมีความคิดว่าถ้าเราได้เป็นหมอจริงๆ ก็น่าจะมีส่วนช่วยเขาได้

เคล็ดลับเตรียมตัว
สอบเข้ารั้วมหา’ลัย

“สำหรับการเตรียมตัวของฟรัง เริ่มจริงจังตั้งแต่ช่วงปิดเทอม ม.5 กำลังจะขึ้น ม.6 ก็มีเรียนพิเศษ เรียนทุกวิชาเลย เพราะฟรังเป็นคนที่ไม่ได้มีสมาธิที่จะอ่านเองได้ทั้งวันขนาดนั้น แต่เราเรียนก่อนแล้วมาอ่านทวนได้ ก็เรียนพิเศษไปเรื่อยๆ ไม่ได้รีบร้อนมาก เพราะฟรังมีความคิดว่าถ้าจบเร็ว มันก็จะลืมเร็ว ก็เลยไม่ได้รีบร้อนขนาดนั้น จะเรียนให้สม่ำเสมอมากกว่า จริงๆ ฟรังเรียนพิเศษจนถึงหนึ่งอาทิตย์ก่อนสอบเลย (หัวเราะเบาๆ) การเรียนของเราจะเรียนแค่ครึ่งวัน ส่วนอีกแค่ครึ่งวันจะให้ความสำคัญกับการทบทวนสิ่งที่เรียนมา จด short note เป็นภาษาของตัวเอง ฟรังเป็นคนชอบจดมาก เรียนเสร็จก็ต้องมาจด เพราะรู้สึกว่าพอออกมาเป็นเล่มแล้วรู้สึกภูมิใจ พอเขียนหมดแล้วเอามาดูอีกที ก็รู้สึกว่าสวยจังเลย รู้สึกภูมิใจและอยากอ่าน อยากเก็บ ซึ่งทุกวันนี้ก็เก็บไว้

“อันที่จริง วิธีการนี้มันทำให้จำได้ง่ายขึ้นนะ เวลาที่เราเขียน เราไม่ได้เขียนทุกตัวจากที่เขาลอกอยู่แล้ว ดังนั้น ตอนที่เราอ่านก็ต้องผ่านการคิดอยู่แล้วด้วยว่าจะเขียนอะไร แต่ช่วยจำได้ง่ายขึ้นและสั้นลงด้วย ยิ่งพอช่วงใกล้ๆ สอบ ถ้าเป็นช่วงหนึ่งเดือนก่อนสอบก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราจะอ่านเฉพาะที่เราจดออกมาก็พอ

“สำหรับวิชาที่เป็นจุดแข็งของฟรัง คิดว่าน่าจะเป็นวิชาภาษาอังกฤษ เราทำได้ดีสุด โอเคกว่าวิชาอื่น แต่วิชาที่เป็นจุดอ่อนคือคณิตศาสตร์ พูดได้ว่าอ่อนมาก แล้วค่าคะแนนของ 2 วิชานี้ในตอนเอนทรานซ์มันเท่ากัน ตอนแรกเราก็คิดว่าทำวิชาภาษาอังกฤษให้ได้เยอะหน่อยแล้วกัน ส่วนคณิตฯ เอาเท่าที่ได้ แต่ต้องผ่านเกณฑ์ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วเรามาลองทำแบบฝึกหัดดู ปรากฏว่าตอนแรกได้ประมาณ 20 ไม่ถึง 30 ด้วยซ้ำ แต่ก็ค่อยๆ ทำเรื่อยๆ และพบว่าคณิตศาสตร์ก็เหมือนภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ประสบการณ์ ช่วงก่อนสอบก็จึงทำแบบทดสอบเกือบทุกวันเลย วันละชุด พอทำเสร็จก็มาดูอีกครั้งว่าตรงไหนทำไม่ได้ ก็ค่อยๆ หาข้อมูลแล้วจดออกมา จริงๆ วิชาคณิตฯ ฟรังให้เวลากับมันเยอะมากเลยนะคะ เยอะกว่าวิชาอื่นๆ เลย วิชาอังกฤษซึ่งเป็นวิชาถนัด คิดว่าอย่างเก่งก็น่าจะได้ประมาณ 80 และถ้าเราได้คะแนนวิชาเลขแค่ 40 ยังไงก็ไม่โอเค ดังนั้น จึงตั้งเป้าไว้เลยว่าวิชาเลขต้องได้ 50 ปลายๆ หรือ 60 ก็เลยทบทวนทุกวัน จนคะแนนที่เราฝึก ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

“ส่วนเรื่องความเครียดก็มีเป็นธรรมดา มันจะเป็นความรู้สึกที่ว่าทำเท่าไหร่ก็ยังไม่ดีขึ้น หรือทำไปแล้วคะแนนแย่ลง จนเรารู้สึกว่าทำไมเดือนที่แล้ว เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะ วิชาเลขมันมันเป็นวิชาที่ไม่ตายตัว ต้องอาศัยประสบการณ์ แต่เรารู้สึกว่าทำไม่ได้สักที มันต้องขนาดไหนเหรอถึงจะได้ หรือเวลาไปเรียน เจอเพื่อนๆ เราจะรู้สึกว่าเขาไม่เห็นทำอะไรเลย แต่เขาเก่ง ทำไมเขาถึงเก่ง คิดได้ไง มันก็ทำให้เราท้อเหมือนกัน หรืออย่างเวลาที่เราทบทวนไปแล้วไปเรียน กลับมาทำอีกรอบก็ทำไม่ได้ แล้วก็โดนว่าโดนอะไร กลับมาก็ร้องไห้บ่อยมาก บวกกับว่า เหมือนเราเหนื่อยจากถ่ายซีรี่ส์ฮอร์โมนส์ด้วย กลับมาถึงบ้านก็ 4-5 ทุ่มแล้ว ถึงขนาดเคยคิดเหมือนกันว่าทำไมต้องมาสอบอะไรอย่างงี้อีก ทำไมต้องมาเหนื่อยขนาดนี้”

เครียดนักก็พักบ้าง

“เวลาเครียดหรือเหนื่อยกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ฟรังชอบอยู่กับเพื่อนๆ คุยกับเพื่อน ตอนเราอยู่บ้าน เราอาจจะเครียด กดดัน ร้องไห้ แต่พอไปโรงเรียนคือการผ่อนคลาย คุยเล่นกับเพื่อน อยู่กับเพื่อนเยอะๆ ปรับทุกข์กับเพื่อนบ้าง ซึ่งเพื่อนก็จะเครียดเหมือนกับเรา ก็คุยกันได้ นอกจากนั้นก็นอนค่ะ ฟรังไม่เคยนอนไม่หลับกับความเครียดใดๆ ทั้งสิ้น พอเครียดแล้วได้นอน ตื่นมาก็จะหายไป ฟรังเป็นคนที่ไม่เคยนอนไม่หลับเลย ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เลย มันอาจจะเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เวลาเครียด โอเคนอนแล้วกัน พอตื่นเช้ามาก็สดชื่น หรือขอหลับสักงีบตอนอ่านหนังสือ มีบ่อยเหมือนกันที่งีบในร้านกาแฟ 10 นาทีแล้วตื่นมา แล้วก็กดไปอีก 10 นาที (หัวเราะ)

“ส่วนการติวกับเพื่อนนั้นก็ดีเหมือนกันค่ะ แต่เราก็ต้องหาเพื่อนที่เขาไม่กดดันเรา ระยะเวลาช่วงรียน ม.6 ทำให้เราพบเพื่อนมากขึ้นนะ เพราะทุกคนต้องสอบแอดมิดชัน มีเป้าหมายเดียวกัน เราก็ต้องหาเพื่อนที่คิดแบบเดียวกับเรา เพื่อนที่เรารู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วสบายใจ แต่ฟรังโชคดีตรงที่ได้เจอเพื่อนดีๆ เยอะมาก ที่ช่วยสรุปให้ ชวนเราไปเรียนที่ที่เราไม่เคยรู้จัก แนะนำกันและช่วยกัน เพราะตอนนั้นจะไม่มีใครเข้าใจเราเท่าคนที่เผชิญเหมือนกันกับเรา อย่างเวลาจะนอน เพื่อนก็จะคอยเตือนว่า อย่าเพิ่งๆ อยู่ด้วยกันก่อน มันก็จะไม่ง่วง”

เป้าหมายต้องแม่น
ความทุ่มเทต้องมี “เต็มที่ไปเลย”

นอกเหนือจากเรื่องเรียน สาวน้อยวัยใกล้สอบเอนทรานซ์ยังมีภารกิจสำคัญอีกอย่าง นั่นคือการรับบทเป็น “ออย” สาวน้อยในซีรี่ส์ยอดนิยมเรื่อง “ฮอร์โมนส์” ซึ่งไม่เพียงแย่งเวลา หากแต่หมายถึงพลังงานบางส่วนที่ต้องให้เพื่อบทบาทดังกล่าว

“แต่ฟรังรู้สึกดีกับตรงนี้มาโดยตลอดนะ มันเป็นจุดที่ดี เพราะช่วยกระตุ้นเรา เราต้องอ่านต้องทวนการเรียนให้จบ มิเช่นนั้นเราก็อาจจะเฉื่อยๆ เรื่อยๆ คิดแต่ว่า “ยังมีเวลาๆ” และการแสดงซีรี่ส์อาจจะเป็นข้อดีด้วยซ้ำ มันทำให้เราได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง และคอยกระตุ้นให้เราทำโดยไม่รีรอ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง เราไม่ได้มีเวลาเยอะนัก ทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน มันจะผลักดันตัวเองให้ไปถึง อย่างเพื่อนฟรังที่เป็นผู้ชายหลายๆ คน แต่ก่อน วันๆ เข้าร้านเกม แต่พอขึ้น ม.6 ปุ๊บ จะตั้งใจ ถ้าเขาอยากทำจริงๆ ก็จะตั้งใจเอง เพราะฟรังว่าทุกคนก็ทำได้ แต่อยู่ที่ว่าเขาจะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า

“อีกอย่าง ช่วงชีวิตตอน ม.6 เป็นช่วงปีที่หนัก เป็นปีที่โตขึ้นเยอะมาก และเป็นปีที่เปลี่ยน ฟรังว่ามันเป็นปีเดียวในชีวิตที่จะเป็นแบบนี้ คือถ้าใครก็ตามที่อยู่ในสภาวะแบบนั้น ถ้าเขาอยากทำเพื่อสิ่งใด และมีเวลาแค่ปีนี้ปีเดียว ก็ทำให้เต็มที่ไปเลยแล้วกัน เพราะเราก็ไม่ได้อยากซิ่วหรืออยากเหนื่อยหลายๆ ปี แต่เหนื่อยแค่ปีเดียว ยังไงก็โอเคกว่า ที่ผ่านมา เราเห็นคนที่ซิ่วแล้วรู้สึกว่าเขาก็เหนื่อย 2 ปี แต่เราไม่เอาอ่ะ ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ปีเดียวก็พอ ตั้งใจไปเลยแล้วกัน ถ้าเราอยากได้อะไร ก็ทำเพื่อสิ่งนั้น เต็มที่ไปเลย

“สำหรับปีนี้ที่เราสอบ มันมีอะไรที่พลิกล็อคเยอะเลย ข้อสอบเปลี่ยนก็แนวด้วย และเหมือนว่าเมื่อก่อน ตอนออกจากห้องสอบ มันจะมีโปรแกรมคิดคะแนนให้เราคร่าวๆ ว่าจะเอาวิชานี้เท่าไหร่ดี ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ปีนี้ พอออกจากห้องสอบ จำได้ว่าฟรังรู้สึกเฟลมาก เพราะวิชาฟิสิกส์ คิดว่าทุกคนน่าจะได้เยอะ และมันก็ไม่ได้ยากมาก แต่พอออกจากห้องสอบนี่รู้สึกว่าทำไม่ได้ เพราะมีคนที่เฉลยให้ฟังเลย บางคนที่เป็นครูเข้าไปคุมสอบ แล้วมาเฉลยตามอินเตอร์เน็ท เราก็เปิดดูและเห็นว่าเราทำผิดเต็มเลย กลับบ้านไปนอยด์มาก ร้องไห้ เซ็งมาก เพราะเราทำข้อสอบเก่าได้ดีกว่านี้นะ แต่พอวันที่ 2 ก็ดีขึ้น แล้วก็ผ่านไป สอบเสร็จ รับผลสอบ ก็ดีค่ะ คิดคำนวณคะแนนออกมาแล้วมันผ่านเกณฑ์ ตอนแรกก็รู้สึกว่าเราคิดผิดหรือเปล่า ก็มาคิดใหม่หลายรอบมาก เพราะคะแนนมันไม่ได้เป็นไปตามที่คำนวณไว้แต่แรก บางวิชาได้มากกว่าปกติ บางวิชาก็ได้น้อยกว่าปกติ

“คือจากที่เราทำมาทั้งหมด มันสำเร็จแล้ว คล้ายว่าภาพที่เราฝันไว้ มันค่อนข้างเกินความฝันเหมือนกันนะ แรกๆ ก็จะคิดว่าอยากไปอยู่คณะนี้ อยากใส่ชุดนิสิตอย่างนี้ เคยแคปเจอร์ภาพรุ่นพี่ที่ยืนกับป้ายคณะแล้วเก็บไว้ในมือถือ เอาไว้เป็นแรงบันดาลใจว่ามันจะเป็นจริงแล้ว ถึงตอนนี้ถือว่าคุ้มค่ามากกับการที่เราอดทนมา เพราะก็เคยมีความคิดที่ท้อและอยากเลิกหลายรอบเหมือนกัน แต่ก็สามารถอยู่มาได้จนทำสำเร็จ”

โลกการแสดง
แหล่งบ่มเพาะ “ทักษะ - ประสบการณ์”

“พอเราได้ทำงานในวงการ เป็นนักแสดง ก็รู้สึกว่าโตขึ้นจากตอนแรก แต่ยังไม่โตเท่าไหร่ (หัวเราะ) เพราะพอเข้ามา มันเป็นการทำงาน ไม่ใช่เล่นๆ แล้ว อย่างที่พี่ๆ บอกว่า เรามาทำงาน ไม่ใช่เด็กที่มาวิ่งเล่นในกองถ่าย ก็ทำให้เรารับผิดชอบ รู้จักแบ่งเวลามากขึ้น ตรงต่อเวลาด้วย ถึงแม้ว่าไปโรงเรียนสาย แต่มากองต้องตรงเวลา

“ส่วนการท้อในระหว่างทำงานก็มีบ้างค่ะ อย่างที่บอก เวลาทำงานก็คล้ายกับตอนสอบอย่างหนึ่งคือรู้สึกว่าทำไมเราต้องมาทำตรงนี้ บางทีที่เราแสดงไม่ได้หรืออะไรอย่างนี้ ก็จะมีช่วงท้อ คัทแล้วคัทอีก เทคแล้วเทคอีก ก็รู้สึกว่าทำไมจะต้องมาหาเรื่องให้ตัวเองเหนื่อยอีกแล้ว จะเป็นความรู้สึกนั้น แต่พอคิดกลับกัน ก็รู้สึกว่ามาตรงนี้ก็ได้อะไรเยอะมาก เหมือนกับแลกๆ กัน เหมือนกับฝึกให้ทำงาน ชอบทำงาน จริงๆ ฟรังก็ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ถ้าอยู่ที่โรงเรียน ฟรังก็จะเป็นกรรมการนักเรียนอยู่แล้ว และการทำงานก็ทำให้เราได้เจอคนใหม่ๆ เป็นการฝึกทักษะเราด้วย

“ก็รู้สึกโชคดีนะคะที่ได้เข้าวงการและทำงานจริงๆ คือพอนึกย้อนกลับไป ก็รู้สึกมหัศจรรย์ดี เพราะมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนความคิดเหมือนกันนะ ตอนแรกที่เรามองวงการ เราเคยเห็นว่าไม่มีอะไร มีกล้อง มีท่องบท อ่านๆ และถ่ายๆ ไป แล้วก็เอามาฉาย แต่พอได้เข้ามาทำจริงๆ ก็ทำทำให้เราพบว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะง่ายๆ แล้วออกมาได้ดี แต่มันต้องเหนื่อยในกองกันมามาก การที่จะแสดงออกมาได้ดี มันต้องรู้สึกจริงๆ เราจะได้ยินคำๆ หนึ่งตลอดว่าถ้าไม่รู้สึกก็ไม่ต้องแสดง ถ้าไม่รู้สึกก็ไม่ต้องพูด เราต้องรู้สึกก่อน ก่อนที่จะพูดออกมา ต้องค่อยๆ ทำ

เป็นวัยรุ่นอย่ากลัวปัญหา
มันคือธรรมดาของวัยวุ่นๆ

“มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่น คำว่าวัยรุ่นมันมากับปัญหาอยู่แล้ว จริงๆ ก็เป็นเพราะช่วงวัยรุ่นนี่แหละที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะจากปัญหาเหมือนกัน แต่บางเรื่องก็ยังต้องใช้สติมากหน่อย เพราะอย่างที่รู้กันว่าวัยรุ่นจะตามเพื่อนเยอะมาก อย่างเพื่อนจะให้ลองนั่นลองนี่ ก็อาจจะทำให้ตามเพื่อนได้ง่าย แต่ก็รู้สึกว่าโอเค เพราะถ้าไม่มีปัญหามันก็แปลกๆ (หัวเราะ) แต่ต้องใช้ความคิดและอย่าทำอะไรที่เดือดร้อนคนอื่นหรือตัวเอง ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นวัยที่ท้าทาย มีอะไรรอบข้างเยอะมากๆ และเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตด้วย ยากเหมือนกันนะ ยากอยู่แล้ว จนกว่าเราจะผ่านมันไปได้ ไม่มีอะไรที่ง่ายเลย แต่พอผ่านไปได้ ก็รู้สึกว่าเราเก่งมาก เฮ้ (หัวเราะอารมณ์ดี)

“อยากให้ทุกคนสู้ๆ นะคะ ให้คิดเป้าหมายตัวเองไว้ จริงๆ เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเหมือนแรงผลักดัน เวลาเราท้อ มันจะทำให้เรามีแรงมากขึ้น สำหรับฟรังนะ คือให้ทุกคนสู้ๆ ไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งท้อ เพราะระหว่างทางมันก็มีอุปสรรค และจะมีอารมณ์แบบว่าไม่เอาแล้ว ไปทางอื่นดีมั้ย แต่ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็อยากจะไปให้สุด ถึงแม้มันจะเหนื่อย แต่สุดท้ายก็จะผ่านไปได้ ทุกคนต้องผ่านไปอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าผ่านแบบไหน ก็อยากให้ทุกคนสู้ไปจนถึงวันประกาศผล ส่วนผลจะออกมาเป็นยังไง ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ทำดีแล้ว พอเรามองย้อนกลับไป จะได้ไม่ต้องเสียดายว่า รู้อย่างงี้น่าจะอ่านหนังสือมากกว่า ก็อยากให้ทุกคนตั้งใจ และสู้ๆ มากๆ ละกัน”


ชื่อ : นรีกุล เกตุประภากร ชื่อเล่น : ฟรัง
วันเกิด : 26 กรกฎาคม 2540 อายุ : 18 ปี
การศึกษา : มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
อุดมศึกษา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงาน : "ออย" จากละครซีรีย์ 'ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น' ซีซั่น 2 และ 3
"ว่าน" จากละครซีรีย์ 'เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน' ตอน ปู่โสม
"มิ้ง" จากภาพยนตร์ 'เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ'