Inside Dara
ซีรี่ส์ ‘Hatelove’ เรื่องของคนเ-ยๆ ที่ ‘ย้ง ทรงยศ’ บอก ‘โรคจิต’ ทั้งทีมเขียนบทและคนดู

ทันทีที่ ‘I HATE YOU I LOVE YOU’ ออกอากาศทางไลน์ทีวี เมื่อเสาร์ ที่ 24 กันยายน 20.00 น. เป็นตอนแรก แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องก็หลั่งไหลพรั่งพรูอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะกับแฮชแท็ก #ทีมเขียนบทโรคจิต ที่ใครๆ ล้วนกดไลค์เห็นด้วย เพราะแรกๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นหนังวัยรุ่นชิงรักหักสวาททั่วไป แต่พอถึงตอนจบกลับกลายเป็นซีรี่ส์ซ่อนเงื่อน แนว Suspense Drama ไปเสียอย่างนั้น

นั่นก่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกขึ้นรัวๆ พร้อมกับคำถามมากมาย “ใครเป็นคนฆ่า?”, “ทำไมถึงถูกฆ่า?”, “ไทเกอร์แอบไปกินกับใคร?”

ในเมื่อต้องรอถึง 5 ตอนกว่าจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดผ่านมุมมองของตัวละคร 5 ตัว ระหว่างรอ ‘มติชนออนไลน์’ เลยจะพาตามติดมุมมองที่ 6 มุมมองของ #คนเขียนบทโรคจิต ไปพลางๆ

“เรื่องเริ่มต้นจากเราคิดว่าอยากเล่าเรื่องที่มีแต่คนเ-ี้ยๆ เด็กนิสัยไม่ดี” ย้ง – ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับที่เป็นตัวแทนของทีมเขียนบท อันประกอบด้วย ปิง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร, แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ และบอส – นฤเบศ ภูโน บอกเล่า

แล้วขยายความว่า “เราอยากรู้ว่าเด็กที่เ-ี้ยๆ ใช้ชีวิตอย่างไร คิดว่าน่าจะสนุกดีในการค้นหา ทำความเข้าใจสิ่งที่คนเหล่านั้นกระทำ เวลาเราเล่าเด็กที่มีความคิดดีบางอย่างมันเข้าใจง่าย เวลาเล่าถึงเด็กทำสิ่งไม่ถูก ทำที่ผิดๆ ก็อยากทำความเข้าใจ อย่างไทเกอร์พูด ‘กูเอาแค่ครั้งเดียวมึงจะอะไรนักหนา’ คนอื่นฟังแล้วโอ้โห! แต่สำหรับเขาคือ กูทำผิดไปแล้ว แต่ไม่ได้อยากเลิกกับมึง”

“คือรู้สึกว่าการเริ่มต้นมาจากนั้น แล้วก็พัฒนาตัวละครเรื่อยๆ”

โดยข้อมูลก็นำมาจากอินเตอร์เน็ต สังคมวัยรุ่นที่พบเจอ แล้วนำมาเทียบเคียงกับประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งหลายอย่าง “น่าสนใจดี”

“เวลาไปไหนจะรู้สึกว่าเด็กวัยรุ่นทำไมรู้จักกัน ไม่ใช่เพื่อนโรงเรียน ไม่ใช่เพื่อนมหาลัย คบที่สถานะบ้านรวยเหมือนกัน ใช้แบรนด์เนม หน้าตาดีเหมือนกัน มันมีกลุ่มที่เป็นแบบนี้อยู่ มันน่าสนใจ ยุคเราไม่มี หรือมี แต่ไม่เห็น ไม่ก็เป็นกลุ่มที่เล็กน้อยมาก น่าสนใจที่เกิดในสมัยนี้ หลังจากนี้อาจเปลี่ยนไปอีกแบบ พอทำซี่รี่ส์สมัยนี้อยากให้ร่วมสมัย”

“บวกกับบางมุมเป็นประสบการณ์ชีวิตตัวเราเองในการเทียบเคียง ตัวละครจะนึกคิดสิ่งนั้นอย่างไรว่าถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนั้น อย่างเราแก่แล้ว รู้สึกว่าถ้าไม่ชอบก็อยู่ห่างๆ กัน”

“ถามว่าดาร์กไปไหม อาจต้องดูว่าเปรียบเทียบสำหรับอะไร ถ้าพูดเรื่องนี้มืดหม่นไปหรือเปล่ากับวัยรุ่นไทย สังคมไทย ผมว่าไม่นะ” ย้งว่า

ก่อนแจง “ชีวิตจริงเรามีอะไรน่ากลัวกว่านี้มาก คนเกลียดไร้เหตุผล พร้อมใส่ร้ายป้ายสี ส่วนตัวคิดว่าไม่รักก็ได้ แต่ทำไมต้องเกลียดกัน เรามีหนังที่ไม่ชอบ ออกโรงหนังจะเสียเวลาไปพิมพ์ด่ามันทำไม เสียเวลาไปกับสิ่งที่เราไม่ชอบ เอาเวลาไปทำสิ่งที่ชอบดีกว่าไป”

“ถ้าไม่ชอบเค้าก็ไม่ต้องไปคบกันต่อไปไหม อันนี้เป็นทัศนคติส่วนตัวที่รู้สึกว่าเราจะเสียเวลาไปเกลียดทำไม รู้สึกว่าสังคมเรามันน่ากลัวมาก มีเฮทเตอร์ ปั่นกระแส ยุยง คอยป้ายสี กับคนที่อาจทำผิดหรือไม่ผิดจริง มีคนถ่ายรูปในรถไฟฟ้า ถ้าถามผมว่าชีวิตจริงดาร์กกว่าชีวิตเรื่องนี้ไปไกล”

ดังนั้นสำหรับย้ง “การมีเฮทเลิฟยิ่งรู้สึกว่าต้องระวังตัว ตระหนัก ใช้ชีวิตมีสติมากขึ้น”

“ถ้าดูไปแล้วอินจริงๆ เชื่อว่าคนดูจะมีประสบการณ์ชีวิตผ่านตัวละครเหล่านั้นได้ คนดูอาจจะชอบ ‘นานะ (ปันปัน – สุทัตตา อุดมศิลป์)’ ที่ตรงๆ แรงๆ คิดอะไร รู้สึกอะไรก็ทำ แต่คนดูก็ต้องเรียนรู้ว่าการเป็นคนตรง การเอาตัวเองไปอยู่จุดสว่าง ไม่กลัวเป็นไงล่ะ ผลของนานะ พูดทุกอย่างที่คิด แต่คนรอบข้างไม่ได้เป็นแบบนั้นกับเรา ถ้ามีเด็กๆ คนชอบนานะ อยากเป็นแบบนานะ เป็นได้แต่ต้องฉลาด ต้องระวังตัว ไม่ใช่ทุกคนโอเคกับสิ่งที่เราเป็น ไม่ระวังตัวเอง ในซีรี่ส์ไม่ได้พูด ไม่ได้สอนออกมาแต่ถ้าดูทำความเข้าใจ เราจะมีประสบการณ์ชีวิตผ่านตัวละครเหล่านั้น”

ฟังแล้วเหมือน “ชีวิตนั้นไม่ง่าย” ซึ่งเขาก็ยอมรับตามนั้น

“การใช้ชีวิตมันไม่ง่าย เด็กก็ไม่ง่ายแบบหนึ่ง วัยรุ่นก็ไม่ง่ายแบบหนึ่ง วัยทำงานก็ไม่ง่ายแบบหนึ่ง แก่ก็ไม่ง่ายแบบหนึ่ง ชีวิตมันไม่ง่ายคนละแบบ เพียงแต่ว่าการใช้ชีวิตถ้าใช้ตามปกติ ก็มีความเสี่ยงน้อย อาจไม่ต้องระวังมาก ถ้าอยากใช้แบบโลดโผนโจนทะยานต้องมีสติมากขึ้น เช่นไปกินเหล้าต้องระวังตำรวจ เหยียบคันเร่งก็ต้องระวัง ถ้าจะใช้ชีวิตให้มีสติก็อย่ากินเหล้าแล้วขับรถ ตอนนี้หมดสมัย อย่าออกไปกินเหล้าเลย แต่ต้องบอกว่าถ้าขับรถระวังตาย โดนตำรวจจับ”

ส่วนวิธีการเล่าเรื่องผ่านแต่ละตัวละครที่ทำให้คนดูหลายคนออกอาการงงแล้วงงอีก เพราะต้องรอดูให้ครบทุกตัวกว่าจะรู้เรื่องราวทั้งหมด ย้งว่านี่ครั้งแรกของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหนัง ‘Vantage Point’ ที่ใช้วิธีนี้ เช่นเดียวกับละครเวที Sleep No More ที่นิวยอร์ก ที่ย้งต้องใช้เวลาดูถึง 3 รอบ เพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์ของเรื่องทั้งหมดผ่านการติดตามตัวละครแต่ละตัว

“ถ่ายยาก” ผู้กำกับว่าถึงซีรี่ส์นี้

เพราะในฉากหนึ่งต้องหามุมกล้องเพื่อเล่าเรื่องของแต่ละตัวละคร ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่มุมจึงต้องพยายามคิดหาความแตกต่าง

ถึงอย่างนั้นหลังปล่อยตอนแรกไป กระแสที่ได้รับต้องถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าถามภาพรวม เขาว่า “ยังห่างไกล” เพราะยังเหลืออีก 4 ตอนให้ติดตาม

4 ตอนที่พร้อมจะถูกจับตาทุกเม็ด แม้กระทั่งจุดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อจับไต๋ #ทีมเขียนบทโรคจิต

โดยย้งว่า “ฉายานี้มาจากตอนฮอร์โมนส์ เริ่มจากผมคนแรก เพราะพูดว่าผมคงโรคจิตชอบเวลาเห็นคนดูดิ้นทุรนทุรายอยากดูตอนต่อไป ทุกคนเลยบอกว่าเป็นผู้กำกับโรคจิต พอปิงมากำกับทำให้คนดูดิ้นทุรยทุรายอีก นอกจากผู้กำกับ คนเขียนบทโรคจิต พวกนี้กลับมาอีกแล้ว”

“หลัง EP.1 ฉายไป นั่งคุยในกรุ๊ปว่าคนดูละเอียดมาก ขุดทุกอย่าง ซึ่งคุยในกรุ๊ปว่าคนดูเก่ง ไว ฉลาด ถ้าเราไม่ละเอียดไม่ได้ คนดูฉลาดทันเรา คนดูซีรี่ส์ ดูหนังเยอะขึ้น ถ้างั้นต้องบอกว่าคนดูก็โรคจิตด้วย”ว่าพลางหัวเราะ

ก่อนบอกต่อ “คิดอยู่แล้วว่าคนดูละเอียด”

“พวกเราผ่านฮอร์โมนส์มาแล้ว อย่างเรื่องนี้ซีนปันปันส่งรูป ตอนผมเห็นที่เพิ่งตัดออกมา ยังบอกเลยว่ากลัวคนดูจะแคปเคาะทีละเฟรม” เคาะเพื่อจะจับ ‘รูปต้นเหตุ’ ว่าเป็นรูปอะไร

“คนตัดต่อก็บอกผมดูแล้ว ไม่มีอะไรหลุด คนตัดต่อก็โรคจิต เขาบอกผมอยากให้มีแบบนี้มันยั่วคนดูดี”

“จริงๆคนดูสอนเยอะ คนดูเป็นครู เขาดูรู้สึกขัดๆ ตรงไหน เราก็นำมาพัฒนาต่อไป คนดูละเอียด เรายิ่งละเอียดมากขึ้น”

อย่างไรก็ตามอดถามไม่ได้ว่าที่เห็นคนเดาๆ ตามอินเตอร์เน็ตว่าใครฆ่านานะนั้นมีถูกบ้างไหม?

ย้งรีบตอบ “ผมว่าคนดูฉลาดและละเอียดเกินไป”

“จริงๆ มันมีตัวไม่กี่ตัวในเรื่อง ถ้าเดาทุกตัวละคร มันมีคนถูกอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าตอนเฉลยก็ตกใจอยู่ดี อันนี้อาจจะมั่นใจในตัวเองเกินไป (ฮ่าาาา) แต่รู้สึกว่าความสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่ตามหาฆาตกร”

“หาฆาตกรก็ไม่ผิด ดี สนุกดี ใช้เวลาอีกแป๊บก็รู้ว่าใคร แต่ที่ทำให้สนุกต่อไป คืออะไรที่พามันไปถึงจุดนั้นได้ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าติดตาม”