Inside Dara
ผ่าตัวตน เป๊ก-สัณชัย “ผมไม่ได้ทำดี เพื่อหวังดึงภาพดีๆ กลับคืนมา”

คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะให้สังคมเลิกตัดสิน เมื่อวันนึงผู้ชายที่เต็มไปด้วยข่าวฉาว “ชู้สาว-ต่อยตี” ในวันวาน จะลุกขึ้นมาทำเรื่องดีๆ สักเรื่องนึงในวันนี้ เขาจึงได้แต่ยอมรับทุกกระแสลบด้วยความเข้าใจ

ท่ามกลางคำตำหนิโครงการเยียวยา “3 จังหวัดชายแดนใต้” หลังดึงเอาอดีตบ้านเล็ก-บ้านใหญ่อย่าง “พิ้งค์กี้-ธัญญ่า” มาสะท้อนภาพ “รอยร้าวที่สมานได้” แต่กลับมีคนเพียงหยิบมือที่เข้าใจ “ประสบการณ์ตรง” ที่ผู้ชายคนนี้อยากจะสื่อ จึงเกิดเป็นบทสนทนาในครั้งนี้ ที่ยอมให้ “ผ่าตัวตน-ค้นหัวใจ” ของผู้ชายที่ชื่อ “เป๊ก-สัณชัย เองตระกูล” ได้ลึกที่สุดในรอบ 13 ปี!!

“นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมเลยหรือเปล่า ที่ได้มานั่งสัมภาษณ์แบบนี้ ตั้งแต่แต่งงานมา ผมก็ไม่เคยมานั่งพูดเรื่องราวอะไรแบบนี้เลย”

ไม่ใช่แค่ผู้ชายในเสื้อยีนส์สีเข้มตรงหน้าเท่านั้น ที่แทบไม่เชื่อตัวเองว่า เขาจะกล้าเปิดเผยตัวตนแก่คนแปลกหน้าคนนึงได้มากขนาดนี้ แม้แต่คนทำหน้าที่โยนคำถามให้บทสนทนาในครั้งนี้ดำเนินไปกว่าชั่วโมงเอง ก็ยังอดแปลกใจไม่ได้ ที่คู่สนทนายอมให้ล้วงลึกถึงตัวตนของเขาในบางมุม ซึ่งเคยถูกปิดตายเป็นอาณาเขตส่วนตัวไปนานแล้ว

คงเพราะโครงการ “เที่ยวให้สุด ปักหมุด สุดแดนใต้” ซึ่งเป๊กเป็นเจ้าของไอเดีย ที่ทำให้เขากล้าหยิบเรื่องราว “แผลเก่าในครอบครัว” มาเปิดประเด็นอีกครั้งนึง โดยตัดสินใจดึงเอาเจ้าของฉายา “เมียหลวงลวงสังหาร” อย่าง ธัญญ่า- ธัญญาเรศ เองตระกูล ผู้เป็นภรรยา และเจ้าของฉายา “ส่าหรีลี้รัก” อย่าง พิ้งค์กี้-สาวิกา ไชยเดช มาเป็นตัวละครหลักในซีรีส์โปรโมตโครงการ เพื่อสะท้อนตัวอย่าง “ความขัดแย้งที่เยียวยาได้” ให้สังคมเห็นภาพชัดเจนที่สุด

“ย้อนกลับไปช่วงเริ่มโครงการเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ผมก็มานั่งคิดกับตัวเองว่า มันจะมีใครที่ทำให้โครงการนี้ดังได้ จะเลือกดาราทั่วไปมาแสดง ก็อาจจะธรรมดาเกินไป ผมมองถึงความขัดแย้งน่ะครับว่า เราจะทำยังไงให้คนมองเห็นถึงจุดนั้น และสุดท้ายก็สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ ผมก็คิดว่า แล้วจะมีใครล่ะ (ยิ้ม) จากโดยส่วนตัว วัดจากคนที่ใกล้ตัวแล้ว ก็มีแค่ 2 คนนี้แล้วล่ะ วันนั้นผมจำได้ว่าผมกำลังออกกำลังกายอยู่ และผมคิดเรื่องนี้ได้ตอนผมวิ่ง ผมวิ่งเสร็จ ผมเดินลงมาหาทีมงานผมเลยว่า เฮ้ย..พี่จะเอา 2 คนนี้มาเป็นนักแสดง ไอ้พวกนี้ก็คงตกใจว่า พี่คิดอะไรของพี่อยู่ ยากละ และที่ผ่านมา ผมกับธัญญ่าเอง ก็ไม่ได้คุยอะไรเรื่องนี้กันอีกเลย ผมเอง ตั้งแต่พิ้งค์กี้เขาแต่งงานไป ผมก็ไม่ได้คุยกับน้องเขาอีกเลย จนวันนึง ผมก็ได้รวบรวมพลังจิตใจ คุยกับธัญญ่าก่อน อ้างถึงวัตถุประสงค์ทั้งหมดที่เราทำจริงๆ นี่แหละครับเป็นหลัก

สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผมเชิญนักแสดง 2 คนนี้มาเล่น ก็เพราะอยากจะให้เห็นถึงความขัดแย้งว่า เวลามันสามารถทำให้เราผ่านความขัดแย้งอะไรต่ออะไรมาได้ เรายังสามารถจับมือเดินต่อกันไปได้ ด้วยงาน ด้วยประเทศของเรา ในขณะที่เนื้อเรื่องก็จะบอกเล่าความสวยงามของภาคใต้ไปด้วย

ตอนแรกธัญญ่าก็ตอบมาว่าโอเค แต่พอหลังจากนั้นอีกวัน เขาก็เปลี่ยนใจ ตอบว่าไม่โอเคละ (ยิ้ม) เหมือนเขาคงไปคิดอะไรมาใหม่ เปลี่ยนไปมาแบบนี้อยู่ 3-4 รอบ แต่สุดท้ายเขาก็โอเค

ส่วนผู้ช่วยผมก็เป็นคนช่วยประสานกับคุณแม่พิ้งค์กี้ให้ ตัวคุณแม่เขาก็คิดไปคิดมาอยู่ประมาณสักอาทิตย์นึงเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ตอบกลับมาก็โอเค บอกว่าถ้าจะทำเพื่อให้เห็นภาพนี้ เพื่อ “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อความสามัคคีของใครก็ได้ในประเทศ เพื่อให้เราก้าวผ่านความขัดแย้งไปให้ได้ เขาก็บอกว่าเขายินดีทำ และ ณ วันนี้เขาก็สนิทกันจริงๆ นะฮะ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ถ่ายทำซีรีส์ด้วยกัน”

เจ้าของโปรเจกต์ยืนยันหนักแน่นว่า ซีรีส์เรื่อง “ศึกสองแสบ (The Bitch War)” ที่กำลังพูดถึง ไม่ใช่แค่ดึงเอา “ดาราสาวอดีตคู่อริ” มาแกล้งฉีกยิ้มใส่กันเพื่อเรียกเรตติ้ง อย่างที่หลายๆ คนวิจารณ์เอาไว้ด้วยคำว่า “วงการมายา” แต่ถ้าได้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำอย่างที่เขาได้สัมผัสมา จะรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้จากความรู้สึกจริงใจจากทุกฝ่ายจริงๆ

“ถ้าคนได้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำจะรู้เลยว่า ไม่ใช่ว่าพอผู้กำกับสั่งคัต แล้วเขาจะแยกซ้ายแยกขวา ต่างคนต่างอยู่ มันไม่ใช่นะ เขาก็ยังเดินคุยกัน ไปกินข้าวด้วยกัน ซ้อมบทด้วยกัน หลายอย่างที่ผมและทีมงานได้เห็น มันช่วยสะท้อนว่าจริงๆ แล้วความขัดแย้งของคนเรา ถ้าเราได้มีการพูดคุยในเวลาที่มันผ่านมาช่วงนึงแล้ว ผมคิดว่าทุกอย่างมันน่าจะเบาลง และอาจจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันต่อได้ มันก็เปรียบเสมือนภาคใต้นะครับ คือเมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจจะมีความรุนแรงที่พวกเราก็เห็นกันอยู่ แต่ ณ วันนี้มันเบาบางลงมาก เทียบกันไม่ได้กับแต่ก่อน พวกเราทีมงานอยากจะบอกเล่าในมุมนี้ครับว่า เหตุการณ์ต่างๆ มันก็ดีขึ้นทุกวันๆ เราก็อยากจะสื่อสิ่งเหล่านี้ออกไป ให้ประชาชนคนไทยได้เห็นภาพต่างๆ ของภาคใต้ อาหารการกิน เขาอยู่กันยังไง มีเรือกอและ ดูสวยงามอบอุ่นขนาดไหน ซึ่งเร็วๆ นี้น่าจะได้เห็นกันครับ น่าจะออนแอร์ประมาณปลายเดือน ก.ค.

กว่าจะออกมาเป็นซีรีส์ตัวนี้ได้ มันประกอบไปด้วยความทุ่มเทของทีมงานประมาณ 80 ชีวิต และตัวนักแสดงเอง ทั้งธัญญ่า, พิ้งค์กี้, ตุ้ย-ธีรภัทร์ ฯลฯ ที่ต้องไปยืนถ่ายทำกันกลางเมืองปัตตานี เมืองยะลา เราเห็นแล้วเราก็รู้สึกตื้นตันใจที่พวกเขากล้า ทั้งๆ ที่เราไม่ได้จ้างเขาด้วยค่าตัวแพงๆ อะไร แต่เขาก็กล้าลงไปถ่ายทำกัน เพราะเขาเห็นวัตถุประสงค์ของโครงการว่ามันน่าจะมีประโยชน์ต่อทางภาคใต้ และต่อประเทศของเราเอง เขาก็เลยมาร่วมมือกัน”

ดินแดนแห่งมนตร์ขลัง ขอคนไทย “อย่าลืมพวกเขา”

“นี่เป็นครั้งแรกของหนูเลยนะคะที่ได้ถ่ายรูปกับดารา” แค่หนึ่งประโยคจากเด็กสาวอายุ 20 กว่าๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลับทำให้ทั้งเป๊กและทีมงานที่ได้ลงไปถ่ายทำซีรีส์ รู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ทำให้เขามีแรงสู้ใน “โครงการเพื่อสังคม” โครงการนี้ต่อไป ด้วยเหตุผลเบื้องหลังที่เก็บซ่อนเอาไว้เบื้องลึกในจิตใจ เหตุผลที่ว่าไม่อยากให้ใครในพื้นที่ด้ามขวาน 3 จังหวัดตรงนี้ รู้สึกว่า “ถูกทอดทิ้ง”

“ในขณะที่พักกอง มีเด็กคนนึงวิ่งเข้าไปหา พี่ตุ้ย (ธีรภัทร์ สัจจกุล) แต่การ์ดกันเอาไว้ ไม่ให้เข้าไป พอเห็นเขาอยากถ่ายรูปมาก ผมก็เลยอนุญาตให้เขาเข้าไปได้ พอได้ถ่ายรูปปุ๊บ เขาก็บอกเลยว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ถ่ายรูปกับดารา มันทำให้ทั้งพี่ตุ้ยเองที่ได้ยิน ทั้งผมและทีมงาน รู้สึกตื้นตันที่เราได้มาทำอะไรแบบนี้ให้พวกเขา หรืออย่างตอน ธัญญ่า-พิ้งค์กี้ ลงไปถ่ายทำ ก็มีคนมามุงกันเยอะมาก เหมือนเขาเห็น พี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) เลย หรือตอน เอมี่ (กลิ่นประทุม) ไปถ่ายทำที่หมู่บ้านชาวประมง คนก็ออกมายืนดูกันทั้งหมู่บ้าน น่าจะสัก 200-300 คนได้ เอมี่เองยังพูดกับผมเลยว่า รู้สึกตื้นตันใจมากๆ ที่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน และได้รับรู้ว่าเขารู้สึกกับเราแบบนี้ มันทำให้เห็นว่าคนที่ได้ลองลงพื้นที่ ไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านดูจริงๆ จะถูกมนตร์ขลังเลย ตั้งแต่ผมเห็นมา ยังไม่มีใครลงไปแล้วกลับมาบอกว่า ผมไม่ไปแล้วนะ มีแต่คนพูดว่าเมื่อไหร่ไปอีก เขาจะขอไปด้วย อย่าง พี่ใหญ่ (อมาตย์ นิมิตภาคย์) ผมก็เคยเชิญไปถ่ายรูปที่ 3 จังหวัดเหมือนกัน หลังจากลงไปครั้งนั้น พี่ใหญ่กลับมาบอกผมว่า คราวหน้าขอไปแบบไม่เอาตังค์นะ อยากไปเจอแบบนี้อีก เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนได้ไปสัมผัสดู ก็จะรับรู้ได้เองครับว่า กลิ่นอายและมนตร์เสน่ห์ที่ผมกำลังพยายามพูดถึงอยู่คืออะไร”

น่าเสียดายที่มีคนไทยไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เคยได้พบพานกับความมหัศจรรย์ที่รอวันถูกค้นพบในยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส ทุกวันนี้ อาจเพราะ “ความกลัว” ที่ยังคงฝังรากลึกในจิตใจของหลายๆ คน และด้วยช่องโหว่ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เป๊กตัดสินใจลุยหน้าโครงการ เพราะอยากให้คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ว่า มันไม่ได้อันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่หลายคนวาดภาพเอาไว้

“ความสวยงามของภาคใต้มันมีเยอะจริงๆ ครับที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เคยได้เห็น ถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็มี “แหลมตาชี” ที่เราเพิ่งไปถ่ายซีรีส์กันมา ซึ่งเป็นแหลมเดียวในประเทศไทยที่เห็นได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เรายังมีวัดที่เป็นถ้ำที่สวยงามมากอยู่ที่ยะลา และเราก็อยากจะนำภาพเหล่านี้ กลับมาให้ทุกคนได้เห็น แม้แต่เรื่องสถาปัตยกรรมที่นั่นก็น่าตื่นตาตื่นใจ สวยไม่ได้แพ้โบสถ์ของทางยุโรปที่เห็นๆ กัน มีวัดวาอาราม มีเรื่องผ้า สินค้าพื้นเมืองที่ช่วยสร้างงานให้แก่คนในชุมชน ฯลฯ ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นภาพที่สวยงามของทั้งผู้คน ทั้งอาหารการกิน ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

ครั้งหน้า โดนัท (มนัสนันท์) จะลงไปถ่ายและกำกับหนังสั้นเรื่องนึง เป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีของเด็กๆ ซึ่งจะมาสื่อให้เห็นว่ายังมีเด็กที่เก่งทางด้านดนตรี หรือกีฬา ในขณะเดียวกันก็สื่อให้เห็นถึงความสวยงามของพื้นที่ไปด้วย ที่สำคัญ ภาพที่เราจะนำเสนอ เราจะถ่ายทำจากสถานที่จริงทั้งหมดครับ ไม่มีถ่ายหลอกแม้แต่ที่เดียว เพื่อให้คนไทยได้เห็นความงดงามจากภาพความเป็นจริง

โดยผมตั้งใจจะสื่อสารไปถึงคนให้ได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกเลยคือ “เด็กและเยาวชน” ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่รู้หรอกว่า ภาคใต้ของเรามีปัญหาเรื่องอะไรกันบ้าง อาจจะแค่เคยได้รับข่าวสารที่ไม่ดีตลอดมา เราก็เลยอยากนำภาพสวยงามมาปลูกฝังให้เด็กได้รับรู้ว่า ภาคใต้เรายังมี 3 จังหวัดที่สวยงามอยู่นะ ไม่ได้มีแค่หัวหิน, ชุมพร, ประจวบฯ, สุราษฎร์ ฯลฯ แต่ยังมียะลา, ปัตตานี, นราธิวาส อยู่ที่ยังสวยงามไม่แพ้กัน

กลุ่มที่ 2 คือ “กลุ่มวัยกลางคน” ซึ่งเราต้องการแค่จะเปลี่ยนความคิดของเขา จาก “ดำ” มาเป็น “เทา” ก็พอแล้ว เพราะถ้าจะให้เปลี่ยนใหม่หมดเลยคงลำบาก เหมือนเราแค่อยากบอกคนกลุ่มนี้ว่า 3 จังหวัดภาคใต้เหล่านี้ ยังมีร้านอาหารที่อร่อยมากๆ อยู่นะ ยังมีบะหมี่หมูแดงขายอยู่ทุกสี่แยก จากที่คนอื่นอาจจะมองว่าปัตตานีมีแต่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น แค่ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ปาเข้าไป 20-30 เปอร์เซ็นต์แล้ว

และกลุ่มสุดท้าย คือ “กลุ่มคนอาวุโส” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไปเปลี่ยนแปลงความคิดเขาลำบากมากแล้ว ก็เลยอยากจะแค่กระตุ้นเตือนกลุ่มคนกลุ่มนี้ว่า เรายังมี 3 จังหวัดที่สุดแดนใต้ของเรา เป็นจังหวัดที่ยังอยู่บนแผนที่ประเทศไทยนะ ยังเป็นด้ามขวานให้คนไทยเราเสมอมานะ “คุณอย่าไปลืมพวกเขานะ” ผมอยากนำภาพสวยงามมาเตือนความจำของพวกเขาเท่านั้นเอง”

3 ปีที่ผูกพัน “ดินแดน 3 จังหวัด” ในความทรงจำ

“จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผมเคยไปอยู่ยะลามาจริงๆ 3 ปี จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผมมีเพื่อนภาคใต้ เพื่อนที่อยู่ 3 จังหวัดมากมาย จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผมเห็นความสำคัญของคนเหล่านี้ และสถานที่ที่ผมเคยพบเห็นมา”

และถึงแม้จะไม่กี่คนที่ได้รับรู้เหตุผลเบื้องลึกในใจ อดีตเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตพื้นที่ จ.ยะลา เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ผู้ชายคนนี้ก็ยังคงตั้งใจสานต่อภาพฝันของเขาต่อไป อย่างที่เคยโพสต์บอกเล่าความในใจผ่านอินสตาแกรม @pegliyah ของตัวเองเอาไว้ว่า คือ “โครงการในฝันที่ตั้งใจอยากจะทำมานานแสนนาน”

“ระหว่าง 3 ปีที่ได้ประจำอยู่ที่นั่น ผมก็ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ได้เห็นผู้คนที่มีน้ำใจ ผู้คนที่เป็นมิตรกับคนใหม่ๆ ที่เข้าไปในพื้นที่ ผมเห็นธรรมชาติ สิ่งสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นทะเลและผืนป่าที่ยังคงมีความสมบูรณ์มากๆ ซึ่งอาจจะเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศก็ได้ ในขณะที่ผมรับราชการอยู่ ผมก็มีความคิดว่าภาพสวยๆ เหล่านี้ ไม่ได้ถูกสื่อออกไปให้ประชาชนในภาคอื่นๆ ได้เห็นเลย ก็เลยคิดว่าถ้าเกิดวันนึง ถ้าผมมีโอกาส ผมอยากจะทำโครงการนึงขึ้นมา เพื่อที่จะสื่อออกไปให้ประชาชนในภาคอื่นๆ นั้นได้เห็นภาพสวยงามของ 3 จังหวัดบ้าง

ถ้าให้พูดถึงความประทับใจที่ผมเคยได้เจอ สิ่งหนึ่งเลยคือ “ผู้คนที่มีน้ำใจ” ที่ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งใจครับ ผมคิดว่าผู้คนภาคใต้เนี่ย จริงๆ แล้วดูเป็นคนดุนะ แต่ถ้าเขาได้เป็นมิตรกับใคร เขาก็เต็มที่ คือไปไหนไปกัน ตอนที่ทำงานด้วยกัน ถ้าเรารู้สึกว่าเราเริ่มกลัวแล้ว เขาก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรพี่ เดี๋ยวผมเอง จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราเคยผ่านมาด้วยกัน มันก็ทำให้เราได้เห็นน้ำใจและความจริงใจของพวกเขา ซึ่งมันมีจริงๆ แต่ถ้าเขาโกรธใคร เขาอาจจะดุก็ได้นะ (ยิ้ม) แต่ถ้าเขารักใคร เขาเป็นมิตรกับใครแล้ว เขาก็จะมอบความจริงใจให้ หรือแม้กระทั่งเวลาเจอผู้คนมาจากจังหวัดอื่น เมืองอื่น เขาก็จะต้อนรับอย่างดี อาจจะเป็นเพราะเขาไม่ค่อยจะได้เจอผู้คนที่มาท่องเที่ยวมากมายนัก พอเจอครั้งนึง เขาก็จะรู้สึกแฮบปี้มาก

อีกเรื่องนึงที่ผมประทับใจมากเลยก็คือ เรื่อง “อาหาร” อย่างที่ปัตตานีนี่มีราดหน้าร้านนึงอร่อยมาก ชื่อร้าน “นำรส” ขายมา 70 กว่าปีแล้ว ทั้งตัวเตาที่เขาใช้ ทั้งกรรมวิธีการผลิตของเขาที่คงความโบราณเอาไว้ได้ กว่าจะทำออกมาได้กระทะนึง ก็ใช้เวลา แต่คนก็รอเข้าคิวกันยาวเหยียด จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของที่นั่นไปแล้ว

หรืออย่างที่ยะลา อาหารทะเลเขานี่สุดยอดเลย ซึ่งเราก็เพิ่งรู้เหมือนกันครับตอนที่ได้ไปอยู่ จากก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่า ยะลาจะมีอาหารทะเลที่อร่อยขนาดนั้น เพราะเรามัวแต่ไปนึกถึงอาหารอิสลาม แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ผสมผสานกันไปได้ในจังหวัดเดียว เป็นความสวยงามที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง และเราก็อยากจะหยิบมานำเสนอให้ประชาชนคนไทยได้เห็นกัน”

เหลือเพียงอุปสรรคเรื่อง “ความกลัว” ของผู้คนจากเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เคยเกิดในพื้นที่ ที่อาจทำให้เส้นทางความตั้งใจที่วาดไว้ เดินไปได้อย่างไม่ไหลลื่นเท่าไหร่นัก แต่เจ้าตัวก็เลือกแก้ไขทัศนคติเหล่านั้นด้วย “ความเข้าใจ” และได้แต่เดินหน้าต่อไป เพื่อผลในระยะยาวต่อสังคม

“ผมก็ไม่ได้อยากมานั่งบ่นว่าคนอื่นๆ ที่ไม่กล้าลงพื้นที่ เพราะเรื่องราวของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ที่จะทำให้รุ่นลูกหลานเรากล้าไปเที่ยวได้ คือตอนนี้ผมไม่ได้โฟกัสที่คนรุ่นนี้ด้วยซ้ำครับ เพราะคนรุ่นเราอาจจะเปลี่ยนความคิดยากแล้ว อาจจะต้องไปหวังกันที่รุ่นลูกหลานของเราแล้วล่ะ ดูจะพอมีโอกาสที่จะได้รับการปลูกฝังความสวยงามตรงนี้ลงไปในจิตใจของพวกเขาได้มากกว่า

เราก็ได้แต่หวังเอาไว้ว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่นำพาภาพความสวยงาม ภาพบวกๆ สิ่งดีๆ ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ กลับมาให้ผู้คนได้เห็นกันก่อน ให้คนได้มีภาพจำใหม่ๆ เข้ามาบ้าง จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจจะทำให้ใครหลายคนได้ยินข่าวไม่ดีเข้ามาบ่อยๆ ซึ่งเป็นการรับข้อมูลด้านลบเพียงด้านเดียว

สิ่งนึงที่เราต้องการทำ เป็นจุดประสงค์ใหญ่เลยก็คือ เราอยากจะเข้าไปรักษา เยียวยาจิตใจคนใน 3 จังหวัดครับ คนที่เขาดีๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกันได้เป็นปกติ เหมือนกับพวกเราที่ใช้ชีวิตกันอยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละ อย่างน้อยๆ เราลงไปก็เหมือนเป็นการให้กำลังใจเขา ผมมองว่าถ้าเราไปทำโครงการนี้แล้ว สามารถทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น มีจิตใจที่ดีขึ้น สามารถกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนเขามากขึ้นได้ คนในพื้นที่แฮบปี้ สปอนเซอร์เองก็ต้องแฮบปี้แน่นอนที่จะให้พวกเราทำต่อไป ถ้ามันเป็นประโยชน์ต่อคนใน 3 จังหวัด และต่อประเทศของเรา”

ล้าง “ภาพลบ” ไม่ได้ ขอเดินหน้าสร้าง “บทพิสูจน์ใหม่”

ผ่านเวลามาจนถึงทุกวันนี้ ภาพความทรงจำด้านลบที่เขาเคยก่อเอาไว้ ก็ยังคงเป็นเรื่องไม่อาจลบลืมได้สำหรับบางคน และนักธุรกิจมาดขรึมวัย 44 คนนี้เอง ก็ไม่ได้ตั้งใจลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อสังคม เพื่อหวังกู้คืนภาพลักษณ์ดีๆ ให้ตัวเอง แต่ถ้าจะถูกใครตัดสินแบบนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่เขาไม่สามารถเข้าไปควบคุมอะไรได้

“ผมเองไม่ได้คิดว่าตัวเองทำดีบ้างไม่ได้นะ และที่พยายามทำอยู่ตอนนี้ ก็ไม่ได้หวังจะเอาภาพดีๆ คืนกลับมาด้วยครับ จริงๆ แล้วจะโดนคนด่า-คนชมมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในเมื่อโครงการมีวัตถุประสงค์ที่ดี เราก็ยังคงต้องทำต่อไป อาจจะมีคนมองว่าผมทำเพื่อขาย เพราะเขาไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วผมทำด้วยเหตุผลอะไร คนที่ไม่เห็นดีด้วย ก็อาจจะเพราะเขายังไม่เห็นผลงานที่กำลังจะออกมา เขาเลยมีความคิดด้านลบไปก่อน ด้วยภาพพจน์ของผมที่ผ่านมา มันอาจจะไม่ค่อยจะดีนักในสมัยวัยรุ่น แต่นี่มันก็ 10 ปีผ่านไปแล้ว ณ วันนี้ ความคิดของผมก็เปลี่ยนไปแล้ว และจริงๆ แล้ว ตัวผมเองก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องลำบากยากเย็น ไปทำโครงการเสี่ยงอันตรายกันนะครับ เพราะจะเงินสัก 10 ล้าน 30 ล้าน หรือ 50 ล้าน ก็ซื้อผมไม่ได้หรอก ที่จะทำให้ผมอยากไปที่นั่น

หรือจะซื้อความรู้สึกของ ธัญญ่า-พิ้งค์กี้ ให้เขากลับมาทำงานด้วยกัน คงซื้อไม่ได้นะ จะซื้อจิตใจของ โดนัท ที่ลงไปถ่ายทำเอง กำกับหนังเรื่องนึงขึ้นมาเอง ก็คงทำไม่ได้ จะซื้อจิตใจของ เอมี่-ซี (ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์) ให้กล้าลงไปถ่ายกลางปัตตานี มันก็ซื้อไม่ได้นะ หรือแม้แต่ความทุ่มเทของ พี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) ที่ไปนั่งกลางกองถ่าย

ถ้าวัตถุประสงค์ต่างๆ ของเราไม่ชัดเจน ไม่ตรงจุด เราคงไปบังคับใครให้มาร่วมมือกันไม่ได้ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็รู้ดี และเข้าใจผมว่าผมทำเพื่ออะไร ถามว่าคนเราจะไปปัตตานีสักรอบนึงนี่ เป็นไปได้แค่ไหน คงมีน้อยคนที่คิดว่าจะไป หรือแทบไม่อยู่ในหัวสมองเลยก็เป็นไปได้ แต่เมื่อศิลปินดาราที่มีชื่อเสียง ลงไปทำชิ้นงานชิ้นนี้ออกมาให้เห็นแล้ว คุณยังจะกล้าว่าพวกเราอีกเหรอ

โดยเฉพาะคนภาคใต้เอง ที่ส่ง direct message เข้ามาหาทีมงานตลอดว่า ขอบคุณมากนะที่ทำโครงการนี้ให้เกิดขึ้นมา มี message เข้าไปหาศิลปินดาราที่มาช่วยกันแทบจะทุกคน เขาบอกว่าดีใจมากที่ยังมีคนนึกถึงคนในพื้นที่ และสิ่งเหล่านี้แหละครับที่ทำให้พวกเรายังคงมีกำลังใจ เดินหน้าต่อไปโดยไม่ได้คำนึงถึงคนที่คิดไม่ดี หรือคนที่ไม่เข้าใจเรา ซึ่งวันนึงอีกไม่นานนี้ ผมคิดว่าเขาน่าจะเข้าใจเรานะ

เมื่อวันนึงที่ชิ้นงานต่างๆ ของเรา ได้ออกเผยแพร่สู่ประชาชนคนไทย ถึงตอนนั้นทุกคนคงเห็นว่าผมทำเพื่ออะไร กิจกรรมที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปั่นจักรยาน-ขี่เจ็ตสกี เพื่อหาเงินสนับสนุนให้เด็กๆ, การเดินแบบด้วยผ้าภาคใต้ ฯลฯ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ทุกคนคงเห็นว่าผมทำเพื่ออะไร”

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากไม่เบา ในการที่ “คนที่ถูกสังคมตัดสิน” คนนึงอย่างเป๊ก จะลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม เพราะสุดท้ายแล้ว เขาก็ยังหนีไม่พ้นการถูกตัดสินอยู่ดี ถามว่าเคยรู้สึกท้อบ้างไหมที่ต้องยืนแบกรับความรู้สึกอยู่ตรงจุดนี้ นักธุรกิจหน้าตี๋ก็ได้แต่หัวเราะในลำคอ ก่อนถอนหายใจเบาๆ แล้วให้คำตอบว่า “มันก็มีท้อบ้างเหมือนกันนะครับ”

“แต่เราก็มองตัวเองว่า สิ่งที่สังคมตัดสินเรา มันไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรขนาดนั้น คือผมไม่ได้ไปฆ่าคนตายนะ ผมไม่ได้ไปค้ายาเสพติดนะ ผมไม่ได้ไปเล่นการพนันนะ

มันอาจจะเป็นเรื่องผิดพลาดของผู้ชายที่ต้องมีบ้างในความเป็นวัยรุ่น อาจจะมีตีต่อย หรือปัญหาเรื่องผู้หญิง มันคงจะเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชายที่ทุกคนต้องมี แต่เผอิญผมอาจจะอยู่ในที่สว่าง เพราะภรรยาผมเป็นนักแสดง เพราะคุณพ่อของผมเคยรับราชการในตำแหน่งที่ใหญ่มาก่อน มันอาจจะเป็นจุดที่คนจ้องมอง

เรื่องกระแสตอบกลับด้านลบที่เกิดขึ้นกับตัวโครงการ อาจจะเพราะเขาเหล่านั้นมองโครงการนี้ลบ ด้วยตัวของผมเป็นต้นเหตุก็ได้ ผมที่เคยมีภาพพจน์ที่ไม่ดีในเรื่องต่างๆ นานาก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเขาได้อ่านวัตถุประสงค์โครงการ หรือวัตถุประสงค์ที่เรานำเสนอ ผมเชื่อว่าเขาคงเข้าใจว่าโครงการนี้ทำเพื่ออะไร

ตอนนี้คนมองบวกก็เยอะ คนมองลบก็มี เราก็ต้องชั่งน้ำหนักกันไป แล้วก็ให้วันเวลามันพิสูจน์โครงการนี้ไปครับ แต่อย่างน้อยๆ ที่สุด ไม่ว่าผลของโครงการนี้จะออกมาเป็นยังไง สิ่งที่ผมจะได้รับแน่นอนเลยก็คือ “กำไรทางจิตใจ” แค่ให้คนจำนวนนึงได้เห็นภาพความสวยงามของภาคใต้ มันก็ตอบวัตถุประสงค์ที่ผมตั้งเอาไว้ในใจแล้ว”

Based on True Story “เวลา” เยียวยา “ครอบครัว”

คำว่า “เวลา” มันสามารถทลายกำแพงอะไรหลายๆ อย่างได้ ให้ความขัดแย้งต่างๆ มันเบาบางและเจือจางลงได้” คือข้อความส่วนหนึ่งที่เป๊กโพสต์บอกเล่าเบื้องหลังแนวคิดของโครงการ “เที่ยวให้สุด ปักหมุด สุดแดนใต้” ในฐานะเจ้าของไอเดียเอาไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เขาได้เรียนรู้มันผ่าน “ชีวิตจริง” จากปัญหาครอบครัวของตัวเอง

“ถ้าให้มองย้อนกลับไปถึง “ความขัดแย้ง” ในวันที่ผ่านมา มาจนถึงในวันนี้ ก็คงเป็นเพราะ “เวลา” นี่แหละครับ ที่ทำให้ความขัดแย้งที่เคยมีมานั้น มันเจือจางลงไป ทำให้คนที่เคยขัดแย้งกันในวันเก่า ยังสามารถจับมือเดินไปด้วยกันได้ และมันก็คือเรื่องจริง เพราะคำว่าเวลาที่ช่วยเราได้ตลอด และน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น พอเวลามันผ่านไปช่วงนึง เหตุการณ์ต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นมาดีได้ แล้วก็เป็นเพราะเวลาอีกนั่นแหละ ที่ทำให้เราได้ผ่านพ้นปัญหาหรือความขัดแย้งในครอบครัวมาได้ ทำให้เราสามารถกลับมามีความสุขได้อีกครั้งนึง

เรื่องที่ผมผ่านมาได้แต่ละเรื่อง มันทำอะไรไม่ได้เลย นอกจาก “ทำใจ” (ยิ้มปลงๆ) ต้องรอเวลาให้มันผ่านไป แล้วทุกคนก็จะค่อยๆ ลืมเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ดีไป และถึงแม้จะลุกขึ้นมาทำเรื่องราวดีๆ ใหม่ๆ มันก็คงไปลบเรื่องราวไม่ดีเก่าๆ ไม่ได้หรอกครับ มันไม่เหมือนเวลาปรุงก๋วยเตี๋ยว เค็มไปก็ใส่น้ำตาล ชีวิตคนเรามันไม่ใช่แบบนั้น

ผมว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันมีเหตุผลของมัน และมันก็มีเส้นทางที่จะต้องเป็นไป อาจจะเป็นเส้นที่ถูกขีดเอาไว้อยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่ก็อยู่ที่เราเองว่า จะเลือกก้าวต่อๆ ไปว่า เมื่อเราทำไม่ดีมาแล้ว เราจะเดินหน้าทำตัวดีใหม่ไหม จะทำตัวดีต่อไปไหม หรือจะยังคงทำเลวๆ เหมือนเดิม มันก็อยู่ที่ตัวเราแหละครับ ถ้าวันนึงผมคิดใหม่ ทำใหม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นแบบนี้มานานแล้วนะ เพียงแต่ผมไม่เคยได้มานั่งบอกกล่าวผ่านสื่อ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมเลย ที่มานั่งพูดเรื่องราวอะไรแบบนี้”

เมื่อถามถึงประเด็นเรื่อง “ความเจ้าชู้” ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่บั่นทอนความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงวันนี้เขาก็ยังคงมองว่ามันเป็นวิสัยของผู้ชายทุกคนที่ต้องมี เพียงแต่คำว่า “ลูก” และ “ครอบครัว” ในวันนี้ อาจทำให้เขาเลือกทำในทางที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้นเอง

“เรื่องความเจ้าชู้ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ผู้ชายทุกคนก็เป็นกันแบบนั้น เพียงแต่อาจจะไม่มีเรื่องออกมาให้คนเห็นมากกว่า ผมอาจจะพลาดที่คนเห็น เพราะเท่าที่สนิทกับเพื่อนฝูง ผมก็เห็นมันก็เป็นแบบนี้กันนะ แต่ยังไง “ครอบครัว” ก็คือครอบครัวครับ ผมคิดว่าผู้ชายทุกคนรู้ดี ผู้ชายที่มีความคิดรู้ดีว่าแค่ไหนพอ ยิ่งเรามีลูก และลูกค่อยๆ โตขึ้นมา เราก็คิดถึงแต่หนทางของการที่จะเลี้ยงดูเขา ให้สามารถมีชีวิตเติบโตขึ้นมาอย่างสวยงาม ต้องคอยหาเงินไว้ให้เขาใช้ในเวลาที่เราไม่อยู่แล้ว จะบอกว่าทุกวันนี้ครอบครัวคือชีวิตของผมก็ได้ (ยิ้มเย็นๆ)

ก็คงจะมี “เมียเรา” นี่แหละมั้งที่ดีที่สุด ที่คอยดูแล ให้ทุกอย่างมันไม่สูญเสียไป สำหรับเรื่องราวที่ผ่านๆ มา ก็คงมี “พ่อแม่พี่น้องเรา” นี่แหละมั้ง ที่คอยให้กำลังใจในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะดีจะร้าย ผมเองก็ผ่านมาหมดแล้ว ก็มีแต่พ่อแม่แล้วก็พี่น้อง ที่คอยอยู่เคียงข้างกันเสมอมา เพราะฉะนั้น ผมว่าทุกอย่างในชีวิตเรา ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกวันนี้น้ำหนักในชีวิตของผมก็ทุ่มให้ครอบครัวเป็นหลักใหญ่ๆ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องงานต่างๆ ที่เรารับผิดชอบอยู่ ความฝันของผมทุกวันนี้ก็คือ อยากจะได้เห็นลูกโต เห็นเขาเรียนจบ อยากให้เขาโตไปแล้วไม่ลำบาก ซึ่งก็เป็นที่มาของการพยายามตั้งใจทำงานในทุกวันนี้นี่แหละครับ

ตอนนี้ผมมองตัวเองเป็นผู้ชายที่กำลังจะเลยวัยกลางคนไป กำลังจะเริ่มแก่แล้ว (หัวเราะ) มองอย่างนั้นครับ ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้นเลย ทุกวันนี้คิดอย่างเดียวว่า จะทำยังไงให้มันดีที่สุด เพื่อลูกของเรา แล้วก็เดินหน้าต่อไปในทางบวก ไม่ได้ต้องการไปมีเรื่องอะไรที่ไม่ดี ให้สังคมได้ด่าอีก ไม่อยากจะไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนั้นอีกแล้ว และยิ่งลูกเราโต ยิ่งเขาพูดจารู้เรื่อง เขาก็จะเริ่มห้ามเราดื่มเหล้า ห้ามเราออกไปข้างนอก (พูดไปยิ้มไป) ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า ตายละ..เดี๋ยวนี้เขาพูดกันอย่างนี้แล้วเหรอ มันสะเทือนใจมากเลยนะ (หัวเราะ)

เมื่อไม่นานมานี้เอง ผมนั่งดื่มอยู่กับเพื่อน เขาก็ไปต่างจังหวัดกับแม่เขา ผมก็พูดปกตินะ แต่เขาจะรู้ว่าเสียงผมเมาเป็นยังไง ลูกก็บอกว่า “เมาอีกแล้วสิ อย่าเมามากนักล่ะ” คือเขาไม่เคยพูดเลยนะ แต่พอได้ยินเขาพูดเราก็ตกใจ ตายละ..ลูกเราโตขนาดนี้แล้วเหรอ ยิ่งทำให้เราคิดว่า คงจะต้องถึงเวลาที่เราจะต้องเริ่มรักษาตัวเอง อยู่กับลูกให้ยาวๆ ที่สุดดีกว่า”

เตรียม “ปั่นปันใจ” ช่วยเหลือเด็กใต้

อีกกิจกรรมนึงที่กำลังจะเกิดเร็วๆ นี้ก็คือ กิจกรรมชื่อ “ปั่นปันใจ” เป็นการปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปเบตง โดยมี โย (ยศวดี หัสดีวิจิตร) ที่เขาเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว มีน้องชายผม ก่อพงศ์ เองตระกูล ที่เขาสร้างชื่อเรื่องปั่นจักรยานข้ามทวีปออสเตรเลียเอาไว้ แล้วก็มี ธัญญ่า, พิ้งค์กี้, เอมี่, โดนัท และอีกหลายๆ คนที่ร่วมสลับปั่นกันไป

ในขณะเดียวกันก็มีอีกฟากนึง ที่จะขี่เจ็ตสกีจากกรุงเทพฯ ไปนราธิวาส ทั้งผมเอง แล้วก็ ตุ้ย-ธีรภัทร์, เจ (เจตริน วรรธนะสิน), มอส (ปฏิภาณ ปฐวีกานต์), พอส (ศรัณย์ ศิริลักษณ์) ฯลฯ ที่จะสลับสับเปลี่ยนกันขี่ไปจนถึงฝั่ง

ถามว่าทำเพื่ออะไร ก็เพื่อจะหารายได้ไปช่วยเด็กๆ ใน 3 จังหวัด เป็นกลุ่มเด็กพิการ, เด็กที่พ่อแม่ตายในหน้าที่, เด็กกำพร้า, เด็กที่ขาดทุนทรัพย์ในการพัฒนาด้านดนตรี-กีฬา ฯลฯ เราโฟกัสหลักใหญ่ๆ ไปที่เรื่องการช่วยเหลือเด็ก เพราะเราเห็นความสามารถของเด็กบางกลุ่มที่ยังไม่มีโอกาส และต้องการแรงสนับสนุนจากตรงนี้ เพราะในเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่าทางรัฐบาลเองคงให้ความสำคัญมากอยู่แล้ว ผมเลยอยากเติมเต็มในส่วนที่หลายๆ คนช่วยกันได้ ส่วนที่พวกเราจะสามารถช่วยเหลือกันได้ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านั้นใน 3 จังหวัดได้มีรอยยิ้มกลับคืนมา

โครงการนี้ผมพยายามจะทำให้เป็นระยะยาวครับ ถ้าเกิดว่ามีผู้สนับสนุนต่อ และอยากจะฝากให้ช่วยติดตามกันด้วยนะครับ เพราะเราตั้งใจทำให้โครงการนี้มันเกิดขึ้นและสำเร็จจริงๆ

ไม่ง่ายนะ คุยกับ “ธัญญ่า” เรื่อง “พิงค์กี้”

มันไม่ง่ายเลยนะ ตอนคุยกับธัญญ่าเรื่องโครงการนี้ (ยิ้มอ่อน) ผมเองก็ตั้งนั่งตรงนี้ แล้วเขาตั้งนั่งตรงนู้น (ชี้ไปอีกฟากนึงของโต๊ะยาว ซึ่งทิ้งระยะห่างกันพอสมควร) คือผมก็ต้องรวบรวมจิตใจอยู่นาน เพราะผมก็กลัวเหมือนกัน แต่ผมจำได้ว่าเขาพูดกับใครสักคนว่า ถึงวันนี้แล้วเขาสามารถร่วมงานกันได้ แต่ก็ยังไม่เคยมีใครกล้าเสนอเขาดู ผมเองก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นจริง ก็ไม่ได้คิดนะ

ตอนพูดกับเขา ผมก็บอกว่า “ธัญญ่า ตอนนี้มีซีรีส์เรื่องนึง จะถ่ายทำที่ภาคใต้ที่ 3 จังหวัด ให้ถ่ายกับพิ้งค์กี้” (หัวเราะเบาๆ) เขาก็มองหน้าผมสักพักนึงเหมือนกันนะครับ แล้วก็บอกว่า “ก็เอามาดู” พอผ่านจุดนั้นมาได้ ผมก็เลยโอเค ส่วนทางพิ้งค์กี้ ผมให้ผู้ช่วยผมเป็นคนช่วยประสานงานให้ ผมไม่ได้คุย แต่หลังจากดูบทกันแล้ว เขาก็โอเคครับ

หลังจากนั้น ผมไปคุยกับใคร ไปชวนพี่ตุ้ยมาเล่น ไปชวนพี่ฉอดมาทำ บอกว่า “พี่ฉอดครับ ผมจะทำซีรีส์เรื่องนึง มีตัวละครแล้วล่ะ ติดต่อเอาไว้แล้ว ก็เป็นพิ้งค์กี้กับธัญญ่า” พี่ฉอดก็บอกอ๋อ.. แล้วก็ “หา!!” (หัวเราะ) คือทุกคนเป็นอาการเดียวกันแบบนี้หมด ในครั้งแรกที่เราไปเสนอเขา เหมือนทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่มันก็เป็นจริงครับ และทุกอย่างก็ได้ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว

จริงๆ แล้ว เรื่องงานแสดง ผมไม่เคยห้ามธัญญ่าอยู่แล้วนะ เพราะผมรู้อยู่แล้วว่าธัญญ่าเขาเป็นนักแสดงโดยกำเนิด เขามีความสามารถทางด้านนี้มาก เพียงแค่อาจจะมีช่วงนึงที่เราแต่งงานกันใหม่ๆ และเพิ่งมีลูก ผมก็ไม่อยากจะให้รับละครเยอะ จะได้มีเวลาดูแลลูก

แต่พอมาถึงวันนี้ จากที่เคยไปดูการถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้มา เรายิ่งเห็นว่ามันมีความยากลำบากมาก ในการถ่ายละครสักเรื่องนึง ถ่ายเสร็จต้องนั่งรอ มานั่งกินข้าว มีแมลงวันตอมเต็มไปหมด บางทีก็ถ่ายถึง ตี 5 - 6 โมงเช้า ผมก็เพิ่งเห็นนี่แหละครับ

จนตอนนี้ก็มาคิดได้ว่า ถ้าคุณเป็นภรรยาผมที่พอมีกินอยู่แล้ว แล้วยังต้องไปนั่งทำแบบนั้นอีก แสดงว่าคุณต้องรักมากแล้วนะ (ยิ้ม) เราคงไปห้ามเขาไม่ได้แล้วล่ะ ก็แค่บอกเขาให้รับทีละเรื่อง กับงานพิธีกรทีละชิ้น แบบนั้นดีกว่า

ผมแพลนไว้คร่าวๆ ว่า อยากจะนำผ้าจากทั้ง 3 จังหวัด ทั้งผ้าบาติก, ผ้าบาเต๊ะ, ผ้าปะลางิง ฯลฯ มาให้ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงในไทย หยิบมาทำใหม่ หรืออาจจะชวนดีไซเนอร์จากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมด้วย คิดว่าอย่างน้อยๆ ก็เป็นการกระตุ้นให้เรื่องผ้าที่สวยงามของภาคใต้ ซึ่งกำลังจะผลิตลดน้อยลงเรื่อยๆ ได้มีกระแสฟื้นกลับมา

ผมอยากเอาผ้าบาเต๊ะอันนึงมาทำเป็นผ้าคลุมไหล่ กับผ้าพันคอมากเลย ผมมองแล้วว่ามันน่าจะขายง่ายและเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวจีนมาก แต่พอไปถามชาวบ้านก็ได้ทราบว่า กำลังการผลิตของเขามีไม่พอ ตอนนี้ก็เลยได้แต่พยายามทำโมเดลตัวอย่างเอาไว้เท่านั้นเอง

นี่ว่าจะเข้าไปคุยกับชาวบ้านว่า จะทำยังไงให้กำลังการผลิตมันค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ตามกำลังที่เขามีอยู่ได้บ้าง หรือจะทำยังไงให้มันมาบรรจบกับความต้องการของเราได้บ้าง และถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะทำให้ได้