Inside Dara
“เจ้า(แห่ง)ฟ้า” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี สู่ท้องฟ้าเสรีเพื่อสังคม

"...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมาก ไม่ค่อยชอบ "ปิดทองหลังพระ" กันนัก เพราะว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้..."

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อครั้งเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 ก.ค.2506 น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดแล้วว่า เหตุใดพสกนิกรไทยจึงไม่ค่อยทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เคยฝากพระราชกรณียกิจทางด้านการบินเอาไว้ประดับผืนแผ่นดินไทยนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งยังถือเป็น “เจ้าฟ้านักบินขับไล่ ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีอีกด้วย

ครูนักบิน พระผู้คุม “เที่ยวบินมหากุศล”

ลองย้อนรอยกลับไปรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในปี 2553 จะพบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เคยทรงทำการบิน “เที่ยวบินมหากุศล” ซึ่งเป็นเที่ยวบินพิเศษให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ทั้งยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์ทางศาสนาหลายต่อหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง

ด้วยพระปรีชาชาญของพระองค์ที่ทรงแสดงให้เห็นผ่านหน้าที่ผู้คุมการบินในตำแหน่ง “นักบินที่ 1” หรือกัปตันหลักประจำเที่ยวบินแห่งบุญในครั้งนั้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้พุทธศาสนิกชนอีกหลายต่อหลายราย ขอร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินสมทบทุนเพื่อการกุศลในอีกหลายๆ รายการต่อจากนั้น

พระราชกรณียกิจของพระองค์ในฐานะผู้ทรงขับเคลื่อนสองปีกสยายสู่ฟ้าเพื่อการกุศล ยังคงดำเนินเรื่อยมาอย่างเงียบๆ อย่างที่เป็นมาเสมอ กระทั่งปี พ.ศ.2555 ก็ยังคงเป็นองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อีกเช่นเดิม ที่ประทับอยู่หลังแผงควบคุมการบินประจำเที่ยวบิน TG 8866 เที่ยวบินพิเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปกลับ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น

การเสด็จฯ ในครั้งนั้น เป็นไปเพื่อนำทางสว่างให้แก่คณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 113 คน ให้ถึงปลายทางอย่างปลอดภัย ให้พสกนิกรผู้ใจบุญได้ถึงเป้าหมาย ร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ตามเส้นทางที่จิตอันบริสุทธิ์ทรงชี้ทางไว้ให้

ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคสมทบจากผู้มีจิตศรัทธาในครั้งนั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อสมทบทุน มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ด้วย

แต่กว่าที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะทรงรับหน้าที่คุมชะตาชีวิตของลูกเรือขณะเหินเวหาได้อย่างที่เห็นนั้น พระองค์ต้องทรงฝึกอย่างหนักด้วยพระวิริยอุตสาหะที่มุ่งมั่น คือนอกจากจะทรงผ่านการฝึกบินในหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ และการฝึกบินเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง (F-5E) จากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว พระองค์ยังต้องทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินพลเรือน เพื่อให้ทรงผ่านการสอบภาควิชาการใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรีอีกด้วย

เครื่องบิน “โบอิ้ง 737-400” คือเรือบินลำที่พระองค์ทรงใช้ฝึกบิน ภายใต้การถวายงานของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงปี 2547 กระทั่งทรงผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางอากาศ และทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก หรือที่เรียกว่า “Certified Aircraft Type B-734” ได้สำเร็จ

เท่านั้นยังไม่พอ องค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงเข้ารับการศึกษาต่อในหลักสูตรกัปตันการบินไทยในปีถัดมา (พ.ศ.2548) กระทั่งลมใต้ปีกแกร่งกล้า ทรงสำเร็จการศึกษาได้ตามมาตรฐานหลักสูตรการฝึกบินของการบินไทย และได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตำแหน่ง “นักบินที่ 1” ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2549

และถึงแม้พระองค์จะทรงได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติให้คู่ควรกับพระวิริยอุตสาหะ “เจ้าแห่งฟ้า” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ยังคงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจการบินในตำแหน่งนักบินที่ 1 อย่างสม่ำเสมอ แม้จะต้องเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในหลากหลายวาระ แต่ท้ายที่สุด พระองค์ก็ทรงสามารถสะสมชั่วโมงบินได้ตามพระราชประสงค์

โดยทรงปฏิบัติการบินจนครบ 3,000 ชั่วโมง ตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ในฐานะ “ครูผู้ฝึกภาคอากาศของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400” จนเป็นที่มาของการประทับหลังแผงควบคุม ในตำแหน่ง “ครูฝึกภาคอากาศ” และ “ครูฝึกเครื่องช่วยฝึกบิน” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2552 เป็นต้นมา

เหินเวหา...พระอัจฉริยภาพอันน่าทึ่งบนฟากฟ้า

ถึงแม้จะทรงงานด้านการบินออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีพสกนิกรไทยเพียงไม่มากนักที่ได้ทราบพระปรีชาสามารถในมุมลึกๆ ของพระองค์บนเส้นทางสายสีฟ้าสายนี้ คือน้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ปวงชนชาวไทยรู้จักมาเนิ่นนานนั้น ทรงถูกยกให้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินในระดับที่หาตัวจับได้ยาก” ทั้งการบินภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

ย้อนกลับไปในวันที่ 1 เม.ย.2530 ผู้อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นและได้ติดตามข่าวคราวในสายการบินอยู่บ้าง จะได้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนบนผืนแผ่นดินไทยที่มีโอกาสสัมผัสพระอัจฉริยภาพด้านการบินของพระองค์ จากการเข้าร่วมแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี และทรงคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันมาได้อย่างสวยงาม

ด้วยทรงมีความชำนาญในการบังคับอากาศยานหลากหลายรูปแบบ ทั้งอากาศยานทหารและอากาศยานพาณิชย์ ทั้งยังทรงสั่งสมชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงมาก ซึ่งถือเป็นระดับหินเกินกว่านักบินทั่วโลกจะสามารถทำได้

พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2523 หลังทรงหลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงฝากจำนวนชั่วโมงการบินในระดับสูงเอาไว้ให้เป็นที่ประจักษ์หลายต่อหลายครั้งผ่านการเข้าฝึกเพิ่มเติมในต่างถิ่นครั้งนี้ โดยเฉพาะหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ UH-1H และ UH-1N ของบริษัทเบลล์ ที่สั่งสมจำนวนชั่วโมงบินเอาไว้สูงถึง 249.56 ชั่วโมง!!

ทั้งยังทรงเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T-37 อีกจำนวน 240 ชั่วโมงบิน, หลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Siai-Marchetti SF 260 MT จำนวน 172.20 ชั่วโมงบิน, หลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ ของกองทัพบกไทย อีก 54.50 ชั่วโมงบิน และหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ AH-1S Cobraของบริษัทเบลล์ อีกจำนวน 1 ชั่วโมงบิน

นอกจากนี้ ยังทรงเข้ารับศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย เพื่อทรงสั่งสมประสบการณ์ ให้เป็นไปตามพระราชหฤทัยที่ตั้งมั่นเอาไว้อย่างแน่วแน่ว่า จะทรงถ่ายทอดประสบการณ์บนน่านฟ้าที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทัพอากาศและประเทศชาติ และด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์บนพื้นที่สีฟ้าตรงจุดนี้นี่เอง ที่ทำให้ทรงถูกขนานนามจากพระปรีชาชาญให้เป็น “เจ้าฟ้านักบิน” ซึ่งมีที่มาจากการเป็น “เจ้าฟ้านักบินขับไล่ ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ผู้เปิดม่านฟ้าเสรีเพื่อสังคม