Inside Dara
“ครูมืด” ประสาท ทองอร่าม หนึ่งเสาเอกด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ

จากเด็กสลัมผู้เดินตามรอยปู่ ด้วยชื่นชอบในศาสตร์นาฏยศิลป์ ผ่านการเพาะบ่มจากบรมครูผู้เชี่ยวชาญหลากหลายท่าน เป็นหนึ่งศิษย์เอกของตำนานโขนเมืองไทย อย่าง อ.เสรี หวังในธรรม ณ วันนี้ “ครูมืด” ถือเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ผู้สืบทอดศิลปะแห่งโขนอีกคนหนึ่งซึ่งเจนจัดในศาสตร์และศิลป์แขนงนี้

“แต่ปัจจุบันนี้ การหากินอย่างนั้นมันยากแล้ว เพราะงานศพในปัจจุบันไม่ค่อยมีดนตรีเข้าไป ขณะที่สมัยก่อนมันควบคู่กัน เป็นของคู่กัน ยุคโน้น คนทำนาทำไร่จะรู้กิจกรรมของวัดได้จากไหน ก็จากเสียงดนตรีในวัดนี่แหละ เช่นเวลานี้ พระเทศน์นะ เขาก็จะทำเพลงอย่างนี้ หรือเวลานี้สวดอะไรแล้ว เวลานี้ทำอะไรแล้ว เวลานี้จะประชุมเพลิงแล้ว เวลานี้จะมีงานบุญกุศลแล้ว ดนตรีจะทำหน้าที่บอกตลอด ดนตรีจะเป็นคนที่ปลุกแม่ครัวมาทำกับข้าว

“สำหรับผมก็คลุกคลีตีโมงกับดนตรีมาแบบนี้ เพราะปู่เป็นนักดนตรี ผมก็ติดตามปู่ไปอาศัยข้าววัดกิน ไปศึกษาหาความรู้ ที่วัดพระพิเรนทร์ เขตวรจักร ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมของศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย มีหมด ทั้งโขน ละคร ปี่พาทย์ ลิเก หรือแม้กระทั่งละครชาตรีก็อยู่ตรงนั้นด้วย แบบเดียวกับ “ซอยบุปผาสวรรค์” ของแวดวงลูกทุ่งเลย และเราก็ได้ซึมซับตรงนั้น ได้เห็นได้ดูคนที่มีฝีมือ ได้เห็นคนที่เล่นโขนแล้วก็ชอบ การพากย์เจรจาเป็นยังไง การพากย์โครมครามเป็นยังไง

“ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนศุภมาสวิทยาคม โรงเรียนนี้เขาชอบในความเป็นไทย เช่น การคัดลายมือ การขับร้องเพลงไทย มีกิจกรรมของนักเรียนแสดง ผมเลยได้เป็นตัวเอก เพราะว่าเรามีทักษะดนตรีไทยพอสมควรอยู่แล้ว พอเข้ามาโรงเรียนนี้ ผมก็ได้เป็นตัวนำในการตีฉิ่ง ขับร้องเอื้อนเอ่ย ที่พอเป็นอยู่แล้วบ้าง พอจบประถม ก็มาเข้าโรงเรียนนาฎศิลป์เลย แล้วก็อยู่ยาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 คือตอนผมเข้ามาที่นี่ก็มีการเรียนการสอนมาหลายรุ่นแล้ว และผมโชคดีอย่างหนึ่งตรงที่เราเป็นรอยต่อระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ที่เข้ามา ผมจะเป็นรุ่นกลางที่ได้ศึกษาและได้กินข้าวจากครูผู้ใหญ่บ้าง

“ผมเข้ามาในแขนงดนตรีไทย และโชคดีที่ครูมีเมตตา หนึ่งคืออดีตอธิบดีกรมศิลปากร คือ อ.ธนิต อยู่โพธิ์ ท่านมองเห็นการณ์ไกลว่า ไอ้เด็กพวกนี้มันเป็นเด็กที่ยากจน สมัยก่อนท่านจ้างเด็กแถววังหน้าจ้างมาเรียนเลย เพราะไม่มีใครเรียน โดนดูแคลน เป็นพวกเต้นกินรำกิน โดนดูถูก ท่านเลยมองเห็นว่ามันต้องมีอะไรที่ยึดเหนี่ยว ก็จึงให้ อ.เสรี หวังในธรรม เลือกเด็กจากทุกสาขา โขน ปี่พาทย์ สากล เป็นเด็กผู้ชายจำนวน 13 คน ซึ่งผมก็โชคดีอีกที่ได้รับคัดเลือก เพราะหนึ่งเราชอบ เราเป็นคนใฝ่ฝัน เวลามีการแสดง ก็ไปช่วยเขาด้วย ครูก็เลยเห็นแวว ซึ่ง 13 คนนี้ต้องเรียนทุกอย่าง เรียนตลก เรียนโขน เรียนลิเก สวด แหล่ เห่ กล่อม เล่นโขน เล่นลิเก ต้องเป็นหมด และที่สำคัญ ไม่ว่าแต่ละคนจะเรียนเอกอะไรก็ตาม ต้องมาอยู่รวมกันและเป็นให้ได้หมด

“พูดง่ายๆ ว่า เราหาตัวเองเจอตั้งแต่ 5-6 ขวบ และก็มาทางนี้ แล้วบังเอิญต้องเอ่ยชื่อท่าน อ.เสรี หวังในธรรม หรือ “พ่อเส” ตอนนั้น ท่านเพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนแห่งนี้ใหม่ๆ ท่านเป็นชั้นตรี เงินเดือนประมาณ 800 บาทเท่านั้น แต่ต้องเลี้ยงพวกผม 13 คน และบังเอิญได้ทุนจากพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือ “พระองค์ชายกลาง” ซึ่งท่านโปรดโขน ละคร และดนตรีไทยมาก ท่านได้เห็นความสามารถของทั้ง 13 คนนี้ และเห็นความทุ่มเทของ อ.เสรี ท่านเลยรับอุปการะทั้ง 13 คนไว้ในพระอุปถัมป์ของท่าน ทรงออกให้หมด ทั้งค่าเรียน ค่าหนังสือ และให้ไปอยู่รวมกันที่บ้านของ อ.เสรี ที่ท่านปลูกรับรองไว้ที่บางขุนนนท์ จึงเป็นกลุ่มเป็นก้อนและศึกษาหาความรู้นอกหลักสูตร นั่นแหละที่มาจาก อ.เสรี ท่านพาผมไปฝึกกับครูหลายๆ คน ทุกศาสตร์ทุกแขนงเลยครับ”

เมื่อเข้ามาศึกษาในโรงเรียนนาฎศิลป์ ณ ขณะนั้นได้แล้ว เด็กน้อยซึ่งเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มก็ได้ต่อยอดความชอบ ด้วยการเป็นลูกศิษย์ที่ดีของ ‘พ่อเส’ ที่เขาเคารพ...ไม่ย่อท้อ หรือย่อหย่อน...

“อาจารย์เสรีท่านสอนในศาสตร์ของนาฎศิลป์ก่อน สิ่งแรกที่ต้องเป็นคือโขน และต่อไปก็คือเอื้อนเอ่ย คุณจะต้องหัดร้อง แหล่ พากย์ ลำตัดไปหัดกับท่านหวังเต๊ะ เพลงลิเกก็ไปหัดเรียนกัน ผมกับเพื่อนๆ ต้องหัดกับครูผู้ใหญ่ทั้งนั้น หัดเทศน์ หัดสวดโอ้เอ้วิหารราย ต้องไปเรียนฝึกอย่างงั้น ต้องฝึกทุกอย่าง เห่เรือก็ต้องเป็น สวดทุกอย่างก็ต้องเป็น

“แต่ผม ณ ตอนนั้น ถือว่าไม่หนักครับ ชอบ แล้วก็มีโอกาสได้ไปงาน เพราะพ่อเสมักจะพาพวกเราติดไปด้วย เวลาที่ท่านไปเล่นโขนในที่ต่างๆ ท่านก็นำผมติดไปด้วย กระเตงไปด้วย คนสองคนไปนั่งง่วงหลับอยู่ในงาน แต่ท่านให้นั่งกับวงดนตรี นี่คือการสอนของท่าน ให้นั่งศึกษาดู อย่าคิดว่าไปเที่ยว ไปเอาเงิน แต่ไปเอาวิชาความรู้กลับมา นี่คือการถูกสอนในสมัยผมครับ สิ่งที่เป็นรายได้เก็บไว้ แต่ความรู้ต้องไปศึกษาว่าโขนเล่นยังไง เพราะพวกเราจะต้องเล่นโขนและเป็นผู้ควบคุมในอนาคตข้างหน้า คือครูเขาวางหมากถึงขั้นนี้เลย”

ด้วยการติดสอยห้อยตาม “พ่อเส” ในเวลาสัญจรไปแสดงในที่ต่างๆ ทำให้เด็กหนุ่มค่อยๆ ซึมซับจิตวิญญาณแห่งนาฎศิลป์ไทยเข้าไปในสายเลือดทีละเล็กทีละน้อย ก่อนที่ “เจ้ามืด” ของครู หรือ “ไอ้มืด” ของเพื่อนๆ จะพัฒนาแบบก้าวกระโดดกว่าเพื่อนรุนราวคราวเดียวกัน

“ในเพื่อนรุ่นเดียวกันจะรู้เลยว่าต้องให้ไอ้มืดใกล้ชิดพ่อเส และพ่อเสไว้ใจที่สุด เราจะศึกษาและเข้าใจได้เร็วกว่า ปฎิบัติได้ไวกว่า ง่ายกว่า และจำได้เร็วกว่า บทนี่ไม่ต้องดูเลย พ่อเสบอกว่าไม่ต้องดู เพราะการแสดงโขนในอดีต มันเก็บความรู้ไว้กับตัวครับ ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ ไม่ต้องมานั่งดูกันอย่างนี้ ต้องเก็บความรู้ไว้กับตัว ซึ่งใครเอาไปก็ไม่ได้ ท่านบอกว่า ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยามันมีโขนอยู่แล้ว คนหนีภัยสงคราม ใครจะบ้าหอบเอกสารหรือหนังสือกันด้วยล่ะ มันต้องหนีเอาชีวิตรอดให้ได้ก่อน แต่ที่โขนมันตกทอดกันมา เพราะมันอยู่ในสายเลือดของเขา เขาถึงสามารถถ่ายทอดถึงรุ่นเราได้

“พอเราโตขึ้น เรียนโรงเรียนนาฎศิลป์ เริ่มเป็นชั้นสูงแล้ว มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ได้ไปแสดงมากขึ้น ท่านมักจะร่วมเล่นกับเราด้วย ทั้ง อ.เสรี พ่อยอแสง ภักดีเทวา ครูเจริญ เวชเกษม มักจะมาเล่นตลก ให้เราเพิ่มประสบการณ์มากขึ้น พากย์โขนอยู่ดีๆ ท่านสั่งเราว่าให้ขึ้นไปพากย์ เราตอนนั้นก็งานเข้าสิ ทำตัวไม่ถูก แต่ด้วยความที่พอรู้ทักษะบ้างแล้ว ก็เอื้อนเอ่ยไป ปรากฏว่าคนดูก็หัวเราะกันใหญ่ นั่นเป็นบันไดขั้นแรกที่เราจะต้องศึกษา ก้าวขึ้นไปในขั้นต่อไปจนถึงขั้นสุดยอด นั่นเป็นการทำของครูบาอาจารย์สมัยก่อน

“คือมันพร้อมตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้วครับ ตอนที่อยู่ระดับต้นไปแล้ว พออยู่ช่วงกลาง 1 กลาง 2 เราจะนุ่งขาสั้นแล้ว ติดเข็มไม่ต้องปัก และมีสิทธิ์สมัครสอบแข่งขันให้เป็นศิลปินสำรองหรือข้าราชการนักเรียน คล้ายๆ เป็นการวางตัวเลยว่าถ้าเอ็งสอบได้ ไปไหนไม่ได้แล้ว เอ็งต้องอยู่ที่นี่ เขาเลยเรียกว่าศิลปินสำรอง คุณมีสิทธิ์รับเงินเดือน เซ็นชื่อเบิกเงินเดือนได้ ผมก็มาสมัครสอบและติด

“เพราะฉะนั้น ในการเป็นนักเรียนจะต้องมาปฎิบัติกับครูด้วย แล้วไปปฎิบัติกับเพื่อนนักเรียนด้วย หนักแต่ชอบครับ ถ้าได้ทำจะชอบมากเลย คือมีใจรัก และศึกษาอย่างถ่องแท้ด้วย แล้วจะได้วิชาจากครูบาอาจารย์หลายอย่าง ได้ออกไปปฎิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่หลายๆ อย่าง เพราะว่าเราเป็นข้าราชการนักเรียนแล้ว จบมาก็อยู่ที่นี่ตลอดเลย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังอยู่ที่นี่

“ผมก็ไต่เต้ามาจากนาฎยศิลปิน คำนี้ก็คือเป็นผู้แสดง ไต่เต้ามาเป็นกลุ่มวิจัย กลุ่มวิชาการ จนกระทั่งมาเป็นหัวหน้างาน กลุ่มวิจัยพัฒนางานและการแสดง พอเกษียณมาก็ได้รับเกียรติจากกรมศิลปากร ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย หน้าที่ของเราคือเราต้องให้ความกระจ่างทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงแก่ผู้ที่สนใจและอยากจะรู้ และให้ความกระจ่างแก่บุคคลที่ยังไม่รู้ ให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป

“แต่ผมเรียนนอกหลักสูตรเยอะมาก นอกหลักสูตรที่ว่าคือ ต้องไปไขว่คว้าความรู้ด้วยตัวเองอีกเยอะ ประสบการณ์ต่างๆ ที่สะสมมาจากครูบาอาจารย์ทุกแขนง ผมต้องศึกษาด้วยตัวเอง มีความบู๊และบุ๋นไปในตัว ทุกคนต้องมีครับในนาฎศิลป์ ถ้าคุณจะเป็นอย่างเดียว มันเหมือนกับไม่รอบด้าน มันต้องมีความรู้หลายๆ ด้าน เช่น เราเรียนโขน เรารู้โขน แต่เราควรรู้เรื่องดนตรีด้วยเพราะมันเป็นของควบคู่กัน เราควรจะรู้เรื่องวรรณกรรมหรือบทแต่งที่เขาเขียนมา มันต้องควบคู่กันไป แต่คุณจะเรียนรู้ให้กระจ่างได้แค่ไหนเท่านั้นเอง นั่นแหละถึงจะเจาะได้ถูก

“พูดแล้วเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วเป็นการแสดงที่ยากนะ เป็นศาสตร์ที่ละเอียดและลึกซึ้งพอสมควร ศาสตร์ต่างๆ ทั้งในโขน ละคร หรือนาฎศิลป์ไทยเนี่ย มันซ่อนอะไรอีกเยอะครับ คนที่ได้เห็นเขาถึงจะกระจ่างว่า อ๋อ มันเป็นอย่างงี้นี่เอง ที่มันละเอียด ฟังดูเหมือนเราเรื่องมาก แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ เพราะวงจรมันเป็นเช่นนั้น เช่น การแต่งกายโขน มันมีเย็บกับผูกเท่านั้น แล้วเครื่องที่ทำก็ทำมือทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถปักด้วยมือได้ เห็นไหมครับ มันยุ่งยากแค่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าเวลาเล่นโขนมา มันเล่นกับฝนไม่ได้ เนื่องจากศีรษะเปียกปอน เลอะเทอะสีไม่ได้ แล้วการแสดงก็เห็นแค่ลูกกะตาเล็กๆ แค่นั้นเอง ส่วนอื่นมันปิดหมดเลย คุณใส่ศีรษะแล้ว คุณต้องคาบเชือกให้แน่นอีก

“ผมเคยพูดเสมอว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยในเรื่องการแสดงนั้น มันเป็นทศนิยมไม่รู้จบครับ แม้กระทั่งในปัจจุบันเอง ผมก็ยังต้องศึกษา เรายังไม่ใช่พหูสูต ถ้าไม่แน่ใจ ต้องขอเวลาไปดูไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมก่อน ไม่ใช่มาคลุมเครือว่าเก่งทุกอย่าง ไม่ใช่ ต้องเข้าใจอย่างแท้จริงและถูกต้อง

“อย่างเรื่องที่ว่าหัวโขน มันแตะต้องไม่ได้ จับต้องไม่ได้ ผมไปเรียนไปสอน ที่คณะหนึ่ง แรกๆ ที่ไปสอน นักศึกษาบอกว่าเขาไม่กล้าจับ เป็นผู้หญิงไม่กล้าจับ ผมเลยต้องไปเอารูปครูผู้หญิงที่ท่านแต่งตัวโขนมาให้ดู ถามว่าท่านจับศีรษะโขนหรือเปล่า ท่านต้องจับศีรษะมาใส่ตัวเองใช่มั้ย แล้วทำไมท่านจะจับไม่ได้

“ประเด็นมันอยู่ที่ว่าคุณต้องทำด้วยความเคารพ ครูโขนของผมท่านหนึ่งคือ “ย่าหมัน” เป็นผู้หญิง ถ่ายรูปกับแก ผมขาวทั้งหัวเลย แต่แกเล่นเป็นยักษ์ครับ หรือ “คุณแม่ละมูล” ยังเล่นเป็นพระฆเนศเลย เพราะฉะนั้น เราต้องให้ความกระจ่างกับเขาว่า ไม่ใช่จับต้องไม่ได้ คือสามารถจับต้องได้ แต่ต้องทำด้วยความเคารพ บางคนก็บอกว่า อย่าไปเล่นมัน เดี๋ยวจุก ไม่ใช่ครับ ถ้าคุณทำ แต่อย่าล่วงเกินเขา

“อย่างศีรษะทศกัณฑ์ เรารู้ว่ามี 10 เศียร 20 กร เขาก็ทำมาเป็น 10 เศียร หน้า 10 หน้า แต่เขาเขียนแค่ 9 หน้าเท่านั้นเอง ส่วนหน้าที่ 10 คือหน้าของคนใส่นั่นแหละ คุณจะต้องเป็นวิญญาณของตัวนั้นด้วย นี่แหละครับ เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนให้ทศกัณฑ์ไม่ต้องตาย ไม่มีใครกล้าเล่น เพราะเขาถือว่าเป็นความจัญไร มันไม่ดีครับ อย่างเพลงต่างๆ มันบ่งบอกว่าเป็นความอัปมงคล เพราะฉะนั้น คนเลยคิดว่า เล่นโขนจะเล่นแค่งานศพ

“เพราะโขนเป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ เช่น สมัยก่อน รัชกาลที่ 2 ทรงต้องฝึกโขน เพื่อเล่นถวายรัชกาลที่ 1 และมันก็ค่อยๆ สืบทอดมาเป็นมโหรสพ โขนกรม โขนหลวง อะไรก็แล้วแต่ แล้วค่อยมาเป็นกรมศิลปากรในระยะหลังนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงสืบสายตรงมาจากนั้น แต่บางคนจะเห็นแค่เล่นตอนงานศพ เล่นถวายพระเมรุ ถามว่าทำไมต้องเล่น เราเรียกว่าสมโภชครับ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ส่งสู่สรวงสวรรค์ ยังเขาพระสุเมรุ เราเรียกว่าการสมโภช เราถือว่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเป็นสมมติเทพ

“ในชีวิตผมทำมา 3 พระเพลิงแล้ว แต่ทุกๆ ผลงาน เป็นสิ่งที่ภูมิใจ แต่งานลักษณะนี้ ทำแก่แผ่นดินครับ แก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง แม้แต่ตอนที่ในหลวงมีพระราชอาคันตุกะ มีงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ที่พระบรมมหาราชวัง โขนก็ต้องไปแสดงครับ และพระองค์ท่านจะเป็นผู้บรรยายให้แขกของท่านรู้เอง คนที่ไปถวายสูจิบัตรเป็นใคร ก็คือพวกยักษ์พวกลิงที่แสดง ถวายให้แก่แขกบ้านแขกเมือง”

“การสืบทอดจากครูบาอาจารย์ที่มาให้เรา ท่านก็อยากให้เราถ่ายทอดสู่ประชาชน อย่างที่ท่านทำ ครูของผมทุกคนไม่ได้ติดชั้นพิเศษ ไม่ได้ติดสายสะพายอะไรเลย แค่ชั้นโท ชั้นเอก ก็เก่งที่สุดแล้ว พูดแบบไม่ได้ดูถูกครู ความรู้ของครูท่าน ไม่มีใบปริญญาหรือเกียรติบัตรอะไรทั้งสิ้น แต่ความรู้ของท่านที่ถ่ายทอดให้เรา มันสุดยอดในตัวตนของท่านมาก เพราะฉะนั้น ท่านต้องการให้เราเก็บความรู้นี้ไปถ่ายทอดกับคนอื่น รุ่นต่อรุ่น แล้วมันจะไปสู่ประชาชนไปได้เอง

“เมื่อประชาชนได้รับความเป็นจริงและถูกต้องเช่นนี้ ในเรื่องการแสดงต่างๆ มันจะเผยแพร่ไปโดยอัตโนมัติ หยดน้ำหยดหนึ่ง เมื่อมาจากหลายๆ ทางก็สามารถเป็นมหาสมุทรได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนที่อยู่ที่นี่ มีหน้าที่เดียวกับผม มีหน้าที่ที่จะเผยแผ่กระแสน้ำออกไปเท่านั้นเอง ทุกคนทำเถอะ แล้วมันจะสำเร็จได้เอง แน่นอนครับ สิ่งที่มันอยู่ด้านนอก จากทั้งตะวันตก หรืออะไรก็ตามที่เข้ามามีอิทธิพลนั้น ทุกคนเป็นกังวล

“แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าปล่อยเขาเถอะ ในเมื่อโลกมันหมุน เราก็ต้องหมุนไป เจริญด้วยวัตถุ เราก็ต้องยึด แต่ว่ามีวิธีใดที่ให้เขารู้ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเดี๋ยวก็สลายไป แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ หรือบรรพบุรุษที่ทำไว้ มันเป็นของคนไทย แล้วทุกคนที่อยู่ก็เป็นคนไทย ทำยังไงให้เขาเข้าใจแก่นแท้ของความเป็นจริงได้ว่า สิ่งที่ครูบาอาจารย์ทำไว้นั้น ไม่ได้ด้อยค่า ไม่ได้ล้าสมัย ไม่ได้น่าเบื่อเลย แต่ต้องทำยังไงแค่นั้นเอง เราจึงมีการแสดง เราจึงมีการปรับปรุง

“แน่นอนครับว่า วงจรของโขนมันไม่มีตัวหนังสือให้เห็น ไม่มีการบรรยายว่าขณะนี้ตัวละครกำลังทำอะไร ทุกคนดูด้วยปัญญา เพราะคนโบราณจะว่าเขายังไงก็แล้วแต่ ผมว่าคนโบราณเขาปัญญาดีนะ เช่น เครื่องแต่งตัวของตัวละคร เขาจะต้องแค่เย็บกับผูกเท่านั้น สมัยก่อนเขาคิดดีครับ เอาซิปมั้ย แต่มันแน่นมั้ยละ ซิปมันก็ได้แค่นั้น แล้วหนุมานตีลังกาไป เสื้อแหกออกมาเป็นเสื้อกั๊ก เล่นไม่ได้ มันต้องเย็บกับผูกไว้ นี่แหละภูมิปัญญาของครูบาอาจารย์เรา ท่านทำไว้ หรือศีรษะโขนลูกตามีแค่นี้ แต่สามารถบอกอาการได้ว่า ตัวละครคุณกำลังหัวเราะ ดีใจ โกรธ ร้องไห้ หรือมีความรัก มันเกิดขึ้นได้ยังไง

“ผมมั่นใจได้เลยว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยไม่มีสิ้นแน่ โดยเฉพาะทางด้านนาฎศิลป์ไทย ไม่มีสิ้นไปจากแผ่นดินไทยหรอกครับ ยิ่งกว่ามั่นใจ เพราะในปัจจุบันนี้ ยามที่ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ไปที่ไหน ท่านทรงระนาด ทรงซอ ท่านทรงขับร้องให้คนต่างชาติฟัง อ.เสรีพูดไว้ว่า “นาฎศิลป์ไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่” ให้เราเป็นที่พึ่งทางจิตใจได้ว่าไม่มีการสูญสิ้นแน่ รับรองได้ แต่อาจจะหย่อนไปบ้าง ตามยุคสมัย ซึ่งมันต้องมีจุดสูงสุดและต่ำสุดเป็นธรรมดา

“ปัจจุบันนี้ จะเห็นโขนโดยทั่วไป เช่น โขนในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เราเรียกว่าโขนพระราชทาน ประชาชนจะตื่นเต้น จองตั๋วเป็นเดือนๆ เลย หรือโขนที่โรงละครแห่งชาติก็มี โขนที่ศาลาเฉลิมกรุงก็ยังมี ตามสถาบันต่างๆ ก็ยังมีการฝึกสอนโขนตลอด แม้แต่ผู้หญิงก็ยังหัดโขนเลย”