Inside Dara
๘ ตุลาคม อวสาน มิตร ชัยบัญชา! มาด้วยรถเมล์ ไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ ชีวิตจริงยิ่งกว่าหนังที่แสดง!!

เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ พระเอกยอดนิยม มิตร ชัยบัญชา ได้จบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า ตกจากบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ในความสูงราว ๓๐๐ เมตร ขณะอยู่หน้ากล้องหนังเรื่อง“อินทรีทอง” ที่เขากำกับเอง หน้าลงกระแทกกับจอมปลวกริมสระน้ำเล็กๆ หลังหาดดงตาล พัทยา ตายคาที่ในขณะอายุเพียง ๓๖ ปี

แม้วันเวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากไม่ลืมเขา จัดงานระลึกถึงและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ติดต่อกันมาทุกปี ทั้งยังมีการนำชีวิตที่เหมือนนิยายของเขามาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค

นอกจากจะเป็นพระเอกที่ได้รับความนิยมจากแฟนหนังมากกว่าพระเอกหนังไทยทุกคนแล้ว มิตรยังเป็นที่รักของคนในวงการบันเทิงและนอกวงการที่มีโอกาสได้พบเขา มิตรไม่เคยวางมาดพระเอกยอดนิยม ทำตัวง่ายๆ สนิทสนมกับคนง่าย อารมณ์ดี ที่เด่นชัดก็คือจะเป็นเดือดเป็นแค้นเมื่อเห็นความอยุติธรรม และชอบช่วยเหลือคนอื่น

ในขณะที่มิตร ชัยบัญชายังไม่เคยแสดงหนังต่างประเทศแม้แต่เรื่องเดียว ชื่อเสียงเขาก็ดังไปทั่วเอเซียในฐานะพระเอกมหัศจรรย์ แสดงหนังคราวเดียวกันถึง ๑๐-๒๐ เรื่อง และแสดงทุกวันทุกคืน จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว ขอหยุดพักกลางเดือนเพียง ๑ วัน

คนที่เป็นแฟนหนังอินเดียยังเปรียบมิตร ชัยบัญชาเป็น “ราเชนเดอร์กุมาร เมืองไทย” ฉะนั้นเมื่อ ราเชนเดอร์ พระเอกยอดนิยมของอินเดียมากรุงเทพฯในโอกาสที่โรงหนัง“บางกอก”มักกะสัน เปิดเป็นโรงฉายหนังอินเดีย คนที่ราเชนเดอร์อยากพบมากที่สุดก็คือ มิตร ชัยบัญชา แต่มิตรไม่มีเวลาให้เลย เพราะต้องวิ่งออกจากกองนี้ไปกองโน้นทั้งวันทั้งคืน ราเชนเดอร์จึงต้องเป็นฝ่ายไปหาเขาขณะที่ถ่ายหนังเรื่อง “สมิงเจ้าท่า” อยู่ที่โรงถ่ายละโว้ ซอยพร้อมมิตร ถนนสุขุมวิท

ตอนที่มิตรตาย นอกจากคนในวงการบันเทิงและแฟนหนังชาวไทยชาวลาวจะเสียน้ำตาให้เขาแล้ว คนในวงการหนังฮ่องกงก็หลั่งน้ำตาด้วยหลายคน โดยเฉพาะในกลุ่มสตั๊นท์แมนที่มิตรสร้างความประทับใจไว้

ตอนไปถ่ายหนังเรื่อง “อัศวินดาบกายสิทธิ์” ที่ฮ่องกง ฉากหนึ่งต้องปีนขึ้นไปถ่ายบนเนินเขา สตั๊นท์คนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุถึงขาหัก พรรคพวกต้องช่วยพยุงลงจากเขาอย่างทุลักทุเล มิตรคนตัวใหญ่เห็นเข้าก็ตรงเข้าแบกสตั๊นท์คนนั้นขึ้นบ่าพาลงมาจนถึงรถที่เชิงเขา ซึ่งไม่เคยมีพระเอกฮ่องกงคนใดให้ความสนใจตัวประกอบถึงเพียงนี้

ชีวิตจริงของมิตรน่ารันทดยิ่งกว่าเรื่องในหนังที่เขาแสดงเสียอีก ในวันที่เขาเกิด เป็นเวลาที่พ่อซึ่งเป็นพลฯ ตำรวจไปราชการแล้วหายหน้าไปเลย ทำให้ชาวบ้านแถวอำเภอท่ายาง เพชรบุรีเรียกเขาว่า “ไอ้บุญทิ้ง” และได้ชื่อในสำมโนครัวว่า “ด.ช.บุญทิ้ง ระวีแสง” ต่อมาแม่ซึ่งต้องดิ้นรนเลี้ยงชีวิต ก็เอาเขาไปฝากไว้กับอาของเขาซึ่งบวชเป็นเณร ชาวบ้านที่รู้เรื่องก็เอากล้วยน้ำว้าใส่บาตรฝากให้เจ้าบุญทิ้งเสมอๆ

พอ ๘ ขวบ แม่ตั้งตัวได้ก็กลับมารับเขาไปอยู่กรุงเทพฯ แถววัดแค นางเลิ้ง และเปลี่ยนชื่อพร้อมนามสกุลให้ใหม่ตอนเข้าโรงเรียนว่า “ด.ช.สุพิศ นิลสีทอง” ซึ่งเป็นนามสกุลเก่าของแม่

ในช่วงนี้มิตรไปรับกล้วยแขกบ้าง ห่อหมกบ้าง ใส่ถาดทูนหัวเดินเร่ขายหารายได้ช่วยแม่ ขณะเดียวกันก็แอบไปซ้อมมวยที่ค่ายมวยแถวบางลำพู และขึ้นชกมวยนักเรียนจนได้เป็นแชมป์เหรียญทองเมื่อตอนอยู่ ม.๔

ตอนอยู่ชั้นมัธยม มิตรเห็นว่าชื่อ “สุพิศ” เป็นชื่อผู้หญิง เลยขอเปลี่ยนทั้งชื่อทั้งนามสกุลอีกทีมาเป็น “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” ตามนามสกุลของพ่อเลี้ยง

แม้จะมีชื่อและนามสกุลมา ๓ ชื่อแล้ว ตอนที่เล่นหนังดัง มิตรยังขอเปลี่ยนนามสกุลอีกครั้งเป็น “ชัยบัญชา” โดยถือว่าประชาชนให้เขาเกิดในนามสกุลนี้ และได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยให้ใช้ชื่อ “พิเชษฐ์ ชัยบัญชา” ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๐ เป็นต้นมา

ก่อนที่มิตรจะก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิงนั้น เขาเป็นทหารอากาศอยู่ดอนเมือง มีเพื่อนทหารอากาศด้วยกันเห็นว่าเขาหล่อพอจะเป็นพระเอกหนังไทยได้ จึงพาไปฝากกับ ก.แก้วประเสริฐ นักเขียนและนักข่าวบันเทิง ผู้ชอบทำหน้าที่เป็น “แมวมอง” นำนักร้องนักแสดงหน้าใหม่เข้าสู่วงการจนดังไปหลายคนแล้ว ก.แก้วประเสริฐเต็มใจจะสนับสนุนจ่าพิเชษฐ์ในฐานะที่เป็นคนเพชรบุรีด้วยกัน คือ ก.แก้วประเสริฐเป็นคนชะอำ

เขาพาจ่าพิเชษฐ์ไปพบผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับการแสดงหลายคน ทุกคนต่างพอใจ แต่ก็ติดขัดที่บรรจุผู้แสดงนำฝ่ายชายไว้แล้ว บ้างก็ขอให้รอเรื่องหน้าจะให้แสดงนำแน่นอน ก.แก้วประเสริฐและจ่าพิเชษฐ์คอยอยู่หลายเดือน หนังที่ให้รอก็ไม่มีท่าทีว่าจะถ่ายได้ เพราะเรื่องที่ถ่ายอยู่ก็ยังไม่เสร็จ ช่วงนี้ ก.แก้วประเสริฐยังไม่หมดความพยายาม พาจ่าพิเชษฐ์ไปพบผู้สร้างผู้กำกับอีกหลายราย บางวันไม่มีค่าแท็กซี่ก็ต้องโหนรถเมล์ ซึ่งจ่าพิเชษฐ์แต่งเครื่องแบบขึ้นได้ฟรี แต่ก็ทารุณหน่อยตรงที่หัวเขาติดหลังคารถ บางวันก็ต้องเดินเข้าซอยกันเป็นกิโลๆ

ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ก. แก้วประเสริลงทุนอีกครั้ง นั่งแท็กซี่ไปรับจ่าพิเชษฐ์จากดอนเมืองไปพบรังสรรค์ ตันติวงศ์และประทีป โกมลภิส ที่กำลังเตรียมงานถ่าย “ชาติเสือ” แม้จะมีพระเอกอยู่หลายคนแล้วที่กำลังพิจารณา ทั้งผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับต่างพอใจในบุคลิกของจ่าพิเชษฐ์ รังสรรค์ควักเงิน ๓,๐๐๐ บาทจ่ายให้ทันที สำหรับเอาไปซื้อเสื้อผ้าเพื่อเตรียมไปงานเปิดตัวพระเอกใหม่ของ “ชาติเสือ” ในอีก ๒ วันต่อมา และจะยกกองไปปักหลักถ่ายที่โคกสำโรง ลพบุรี หลังจากนั้น

ประทีป โกมลภิสและ ก.แก้วประเสริฐ ร่วมกันหาชื่อใหม่ให้จ่าพิเชษฐ์ พุ่มเหม เพื่อจะประกาศในวันเปิดตัว และเห็นพ้องต้องกันที่จะใช้ชื่อว่า มิตร ชัยบัญชา

ในขณะที่เป็นพระเอกคนดังแล้ว มิตรปลูกบ้านหลังใหญ่ขึ้นที่ซอยจันทโรจน์วงศ์ ถนนพหลโยธิน แต่ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้นอนในบ้านอันน่าแสนสุขนี้เลย

ครั้งหนึ่งผมเคยไปยืนดูเขาด้วยความสมเพช ขณะที่พระเอกยอดนิยมเอากระเป๋าเสื้อผ้าหนุนหัว นอนอยู่บนก้อนหินข้างกองถ่ายที่สระบุรี แต่มิตรก็หลับสนิทบนหินกระด้างอย่างมีความสุข ไม่ได้ยินเสียงอึกทึกใดๆรอบด้าน

ก่อนวันจบชีวิต มิตรมีคิวกลางคืนวันที่ ๗ ตุลา ถ่าย “นางฟ้าชาลี” วันที่ ๘ - ๙ เป็นคิวปิดกล้อง “คนึงหา” วันที่ ๑๐ - ๑๑ ปิดกล้อง “อินทรีทอง” วันที่ ๑๒ ต้องไปปิดกล้อง “อัศวินดาบกายสิทธิ์” ที่ฮ่องกง นอกจากนี้เย็นวันที่ ๗ เขายังมีคิวโดดต้องไปถ่าย “ราชินีบอด” ให้ผู้กำกับ“มารุต” พอค่ำก่อนคิวถ่าย “นางฟ้าชาลี” ที่โรงถ่ายยั่งยืน ซอยร่วมพัฒนา ถนนจรัลสนิทวงศ์ ยังมีหนังอีกเรื่องไปตั้งกองรอเขาอยู่ มิตรต้องโดดไปถ่ายให้จน ๕ ทุ่ม จึงเดินไปเข้ากล้อง “นางฟ้าชาลี” ในโรงถ่ายเดียวกัน

ตอนมิตรไปเข้าฉาก “นางฟ้าชาลี” พิศมัย วิไลศักดิ์ได้นำเสื้อแจ๊กเก็ตหนังมาให้เขาใส่ แต่พอจะเข้ากล้อง สุพรรณ พราหมณ์พันธ์ ผู้กำกับบอกว่าฉากนั้นมิตรยังจนอยู่ ไม่ควรใส่เสื้อหนัง มิตรจึงถอดออกส่งคืนให้พิศมัยๆป ใส่แต่เสื้อยืดตัวเดียว

มิตรมีพระประจำตัวอยู่องค์หนึ่ง แขวนคอไว้ตลอดเวลา ถอดออกเฉพาะเข้าฉากที่เขาไม่ควรสรวมสร้อยเท่านั้น ฉากนี้ก็เช่นกัน มิตรได้ถอดออกใส่ไว้ในกระเป๋าแจ๊กเก็ต เมื่อถอดแจ๊กเก็ตคืนพิศมัยก่อนเข้ากล้อง จึงลืมพระไว้ในเสื้อด้วย

วันรุ่งขึ้นเป็นคิวถ่าย “คนึงหา” แต่เจ้าของหนัง “อินทรีทอง” ขอแลกคิวจากวันที่ ๑๐-๑๑ มาเป็นวันที่ ๘-๙ มิตรจึงไปถ่าย “อินทรีทอง”ที่หาดดงตาล พัทยาในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น โดยลืมเอาพระประจำตัวไปด้วย

และสถานที่มิตรตกจากบันไดเชือกลงมาที่จอมปลวกก็เช่นกัน ในวันหยุดพักประจำเดือนเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายนนั้นเอง มิตรเพิ่งชวนอนุมาศ บุนนาค ผู้จัดคิวของเขาไปดูสถานที่นี้ โดยแวะรับ วรรณา แสงจันทร์ทิพย์ เพื่อนนักแสดงผู้เป็นเจ้าของที่ดินจากบ้านที่นาเกลือไปด้วย เขาบอกว่าชอบที่นี้มากจะขอซื้อ เนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ปลูกมะพร้าวไว้ มีกระท่อมร้างของคนเฝ้าอยู่ มิตรยืนดูอยู่ตรงจอมปลวกด้านหน้าที่ดิน เขาบอกว่าจะปลูกบ้านตรงกระท่อมนั้น

“ตรงนี้แหละที่ตายของผม” เขาพูดลอยๆ

ไม่มีใครเฉลียวใจในคำพูดของเขาเลย รวมทั้งผมที่ยืนอยู่ตรงนั้นด้วย แต่ต่อมาอีกประมาณ ๓ สัปดาห์ ก็เป็นจริงตามที่เขาพูด

ผมว่าชีวิตจริงของเขาเหมือน “นิยายน้ำเน่า” มากกว่าหนังที่เขาแสดงอีกหลายเรื่อง แม้แต่การลืมพระประจำตัวไปในวันตาย หรือคำพูดข้างจอมปลวกที่ตายของเขา ก็เหมือนบทหนังชัดๆ