Inside Dara
ชีวิตนักร้องไทย 'จริงหรือไม่' อยากร้องเพลงตัวเองต้องจ่ายตังค์

ยังคงเป็นประเด็นที่คาใจ สังคมยังต้องการคำตอบ หลังมีกรณีล่าสุดที่ค่ายเพลงฟ้องเรียกค่าลิขสิทธิ์จากการที่นักร้องนำเพลงไปร้องในงานแต่งงาน จริงหรือไม่ ที่ยุคนี้ "ชีวิตนักร้องไทย...อยากร้องเพลงตัวเองต้องจ่ายตังค์"

ประเด็นนี้ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ ติดต่อไปยังนักร้องชื่อดังหลายคนที่มีเพลงขาย เพลงดัง ที่ไม่ว่าผ่านไปกี่สิบปีพวกเขาก็ยังสามารถใช้เพลงเก่าๆ ของตัวเองขึ้นคอนเสิร์ต รับงานจ้าง หาเลี้ยงชีพกันมาได้ยาวนาน แต่ทุกคนล้วนปฏิเสธที่จะออกความคิดเห็นเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งเราก็เข้าใจว่าทุกคนไม่อยาก "งัด" กับใครให้เข้าตัว

ในที่สุดโชคดีมีโอกาสได้พูดคุยกับ 3 นักร้องรุ่นเก๋าที่ทุกคนล้วนมีเพลงขายคู่ตัว ทั้ง "แต๋ม ชรัส เฟื่องอารมย์" ที่มีเพลง "ทั้งรู้ก็รัก, เพราะฉะนั้น, หลับตา" ตุ๊ก วิยะดา โกมารกุล ณ นคร กับเพลง "ขอจันทร์, เพียงแค่ใจเรารักกัน, ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน" และปิดท้ายกับ "พี่ชายที่แสนดี, เพราะเราเข้าใจ" เพลงฮิตของ อุ้ย รวิวรรณ จินดา

เปิดฉากเราถามทั้งสามว่า ยังสามารถร้องเพลงตนเองได้หรือไม่ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือเปล่า ซึ่งพี่ใหญ่ แต๋ม ชรัส เอ่ยขึ้นมาคนแรกว่า

"ไม่ต้องจ่าย คือฟังแล้วน่ากลัวนะต้องจ่ายเงินเพื่อร้องเพลงตัวเอง ปกติที่ไปมีเรื่องมีราวมันต้องมีปัญหากับค่าย มีปัญหากับเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเปล่า พวกผมร้องก็ไม่เห็นมีอะไร ผมก็ยังสามารถร้องได้ ยิ่งเพลงที่เราแต่งเองยิ่งไม่มีปัญหา ส่วนลิขสิทธิ์ที่ติดอยู่กับค่ายเพลงเขาก็ไม่เห็นว่าอะไรเรานะ ไม่เห็นมีใครมาตามล้างตามเช็ด ผมไม่เคยโดนนะหรือเราแก่แล้วไม่รู้ เขาคงปล่อยเรา"

ก่อนที่ อุ้ย รวิวรรณ สาวเขี้ยวเสน่ห์เจ้าของเพลงดัง "พี่ชายที่แสนดี" ได้ขยายความต่อ "แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ต มีการค้าขายต้องขออนุญาตค่ะ"

"ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะต้องจ่ายอยู่แล้ว" ชรัส เอ่ยความจริงที่ทุกคนอาจมองข้ามไป "ผมว่ามันเป็นเรื่องของการเคารพกัน เราควรจะบอกเขาหน่อย อะไรที่เป็นการค้าขายได้เงิน ควรจะขออนุญาตเขา ในเมื่อเขาทำเพลงดัง ถึงเราจะร้องเพลงดัง อาจจะมองว่าวินวินก็จริง แต่อย่าลืมว่าเขาก็มีส่วน เราก็มีส่วน เพราะฉะนั้นถ้ามีการทำคอนเสิร์ตเพื่อจะเอาเงิน ก็ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้เขา จะโวยวายทำไม อย่างคอนเสิร์ต Windows of Memories : หน้าต่างแห่งความทรงจำ ที่เรากำลังจะทำเป็นการกุศล ผมเชื่อว่าเขาก็ไม่คิดสตางค์ เพราะทุกครั้งเวลาทำงานการกุศลถ้าเขารู้ถึงเหตุผลว่าเราทำเพื่ออะไรเขาก็ไม่ว่า" แต๋ม ชรัส เปิดเผยมุมมองอย่างตรงไปตรงมา

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ อยากรู้ต่อว่าในกรณีที่รับงานจ้างได้ค่าตัว นักร้องต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เองหรือไม่ แต๋ม ชรัส ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า "ทางคนจ้างต้องเป็นคนจ่ายเงิน คนรับผิดชอบไม่ใช่นักร้อง หน้าที่ของคนจ้างคือต้องแจ้งค่ายเพลงว่างานนี้มีเพลงนี้ขอมาร้องนะ แต่บางครั้งคนที่จ้างเราเขาก็เป็นโรงเรียน เป็นครู เป็นงานเลี้ยงเกษียณอายุ หรืองานแต่งงาน ซึ่งถ้าเขาไม่มีงบมากพอที่จะจ่ายลิขสิทธิ์ ก็ต้องแจ้งค่ายเขาไปว่างานนี้เป็นงานมงคล งานเล็กๆ อย่าเก็บลิขสิทธิ์เลย เขาก็อาจจะให้ ขอแค่บอกเขาสิ

แต่ถ้าในกรณีเกิดเขามาหักนักร้อง นักร้องได้ค่าจ้างสองสามหมื่น ค่าลิขสิทธิ์เพลงละสองหมื่นห้าเข้าไปแล้ว นักร้องจะเหลืออะไรล่ะ"

โดยประเด็นรับจ้างนี้ นักร้องมากประสบการณ์ทั้งสามคน เปิดเผยตรงกันว่า อยู่ที่ตัวนักร้องเจรจากับค่าย ถ้าพูดกันโดยตามหลักกฎหมายแล้วอย่างไรเสียนักร้องและผู้จ้างงานต้องทำให้ถูกต้อง ต้องขออนุญาตทางค่ายเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ทั้ง แต๋ม อุ้ย และตุ๊ก ยืนยันว่า ให้ดูกันแล้วแต่งาน ถ้านักร้องขออนุญาตหรือบอกกล่าวกับทางค่ายว่าเราจะมีงาน ขออนุญาตนำเพลงไปร้อง ทางค่ายก็ไม่เคยปฏิเสธห้ามร้องหรือจะมาเรียกเก็บลิขสิทธิ์อะไร แต่ทั้งสามท่านก็กล่าวยืนยันว่า "นี่คือในกรณีของพวกเรานะ ของคนอื่นเราไม่ทราบว่าทางค่ายของเขาอนุญาตที่จะให้ร้องโดยไม่เก็บลิขสิทธิ์หรือเปล่า"

ถึงตรงนี้ แต๋ม ชรัส นักร้องหนวดงาม ให้ความคิดเห็นในฐานะศิลปินที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย "จริงๆ ก็คนกันเองทั้งนั้น เคยทำงานด้วยกันมา นักร้องที่มีเพลงขาย เพลงอมตะ เพลงติดหู ส่วนใหญ่ก็เป็นนักร้องรุ่นเก่า ไม่ใช่นักร้องรุ่นใหม่ ดังนั้น เราไม่ได้ไปฉกฉวยมาร้อง เพราะเราเองก็เคยเป็นคนที่มีส่วนให้ค่ายเขาได้สตางค์ ค่ายเขาก็มีส่วนทำให้เราได้สตางค์ ถึงแม้เราจะออกจากค่ายมาแล้ว เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเขา เขาไม่มาฆ่าเราให้ตายหรอก พ่อแม่ไม่ควรจะฆ่าลูกนะ กรณีที่เกิดขี้นอาจมีบางที่เชือดไก่ให้ลิงดู ให้รู้ว่าข้าเอาจริง"

ขึ้นชื่อว่าอาชีพนักร้อง เมื่อวันหนึ่งไม่สร้างเม็ดเงิน หมดผลประโยชน์ไปแล้ว ก็ไร้ความหมายกับทางค่ายเพลงจริงหรือเปล่า เรายิงคำถามนี้ใส่ทั้งสาม "ผมอยากให้มองแง่บวกดีกว่าอย่าไปคิดแง่ลบ" แต๋ม ชรัส นิ่งครุ่นคิดสักพักก่อนจะกล่าวต่อว่า "ทุกคนพึ่งกันอยู่ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เขาก็พึ่งเรา เราก็พึ่งเขาอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขดีกว่า อย่าไปคิดว่าต่อไปเราไม่มีงานแน่เลยเพราะเขาห้ามเราร้องเพลงเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มีทาง"

"ไม่อยากให้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่ร้ายค่ะ อุ้ยกลับมามองว่า อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนตัวอย่างด้วยซ้ำไป ให้มันเคลียร์กันไปเลยว่าต่อไปนี้ถ้าขออนุญาตจะเป็นอย่างนี้ อันไหนได้อันไหนไม่ได้ มันจะได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่าวิธีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ไม่มีใครทราบขั้นตอนเลย

จริงๆ แล้วในประเทศไทยเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องที่รู้กันแพร่หลาย ยังไม่มีมาตรฐานออกมาว่าต่อไปงานอย่างนี้ต้องจ่ายเพลงเท่านี้ ถ้ามีการขายบัตรจะคิดค่าลิขสิทธิ์กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นงานแบบนี้ไม่เป็นไรแค่ทำจดหมายขอมาก็อนุญาต ตรงนี้อยากให้มีการสร้างมาตรฐานใหม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้นักร้องได้ทราบเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น"

ถึงตรงนี้ ตุ๊ก วิยะดา ให้มุมมองที่น่าสนใจ "ตุ๊กว่ามันสวนทางกับสมัยก่อนที่เพลงออกมาก็ต้องไปขอให้คนเปิด ไปบอกคลื่นวิทยุว่าช่วยเปิดหน่อยนะให้คนรู้จัก แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าแม้แต่ร้านอาหารที่เปิดซีดีก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ใครจะเปิดเพลงเราต้องเสียเงิน แล้วเพลงยุคนี้จะดังอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน"

ในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ลิขสิทธิ์จะอยู่กับทั้งที่ นักร้อง คนแต่งและค่ายเพลง ประเด็นนี้หลายคนสงสัย ชรัส เฟื่องอารมย์ อาสาตอบ "ต้องเข้าใจเพลงก่อน ว่าเพลงมีคนแต่ง นักร้องไม่ได้เป็นคนแต่งเพลง คนอีกคนเป็นคนแต่งให้นักร้องๆ เพราะฉะนั้นลิขสิทธิ์จะมีสามอย่างคือ ลิขสิทธิ์ในเพลง ลิขสิทธิ์ในการเรียบเรียงเสียงประสาน และลิขสิทธิ์การนำไปร้อง สามตัวนี่ละที่ต้องจ่าย นอกจากค่ายคนที่จะได้ค่ายลิขสิทธิ์หลักๆ คือคนแต่ง

ถ้าในกรณีที่คนแต่งย้ายจากค่าย เพลงจะตามไปด้วยหรือไม่ อันนี้อยู่ที่สัญญา ว่าเซ็นแบบไหน ถ้าเซ็นว่าลิขสิขสิทธิ์เป็นของค่าย เพลงก็ตกเป็นของค่าย คนแต่งก็ไม่ได้อะไรเลย ต่อไปคนที่จะต้องระวังให้ดีในการเซ็นสัญญาก็คือนักแต่งเพลง สำหรับนักร้องถ้าเพลงเป็นของค่ายแล้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้คนแต่งจะยอมให้ร้อง ถ้าค่ายไม่ยินยอมให้ร้องก็ทำอะไรไม่ได้

นักแต่งเพลงสมัยก่อนเขายังไม่รู้เรื่องตรงนี้ และอาจด้วยความจำเป็นในเรื่องสตางค์ต่างๆ ทำให้มองข้ามเรื่องลิขสิทธิ์เพลงในระยะยาวไป ค่ายอาจจะบอกว่าเซ็นมาก่อนสิไม่เซ็นไม่จ่ายเงิน คนแต่งก็ต้องยอมเซ็นเพื่อเอาเงินไปเลี้ยงชีพ หรืออีกกรณีหนึ่งก็เพื่ออยากจะดัง เอาเพลงผมไปเลยผมให้ มันเป็นลักษณะของการต้องแลกกันถ้าเพลงคุณดัง คุณมีชื่อเสียงคุณก็มีเพลงแต่งเพิ่ม เพราะฉะนั้นจะไปว่าใครผิดใครถูกไม่ได้ ต้องดูไปกรณีไป ปัจจุบันนี้มีหน่วยงาน ลิขสิทธิ์ดนตรีแห่งประเทศไทย (music copyright thailand) เขาช่วยดูแล"

ซึ่งจากการหาข้อมูลของไทยรัฐ ออนไลน์ทำให้ทราบว่า ประเด็นนักแต่งเพลงกับลิขสิทธิ์เพลงเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานานของวงการเพลงไทย นักแต่งเพลงชื่อดังระดับนัมเบอร์วันรายหนึ่ง ทุกวันนี้ไม่มีเพลงดังที่อยู่ในลิขสิทธิ์ของตนเลย คนที่ได้ผลประโยชน์คือค่ายทั้งหมด ไม่ว่าอยากจะใช้เพลงมาทำอะไร หรือเอาให้ใครร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังท่านนี้ไม่สามารถทำอะไรกับเพลงตนเองได้ เพราะพลาดเซ็นต์ลิขสิทธิ์ยกทุกเพลงให้กับค่ายต้นสังกัด

ขณะที่นักแต่งเพลงชื่อดังอีกท่านอยากจัดคอนเสิร์ตรำลึกเพลงของตนเอง ซึ่งทางค่ายเจ้าของลิขสิทธิ์ก็อาสามาจัดให้ แต่เจ้าตัวยืนยันอยากจัดเอง ทางค่ายจึงเรียกค่าลิขสิทธิ์กลับมาเพลงละ 50,000 บาท! หนึ่งคอนเสิร์ตร้องกี่เพลงก็คำนวณกันดู

ขึ้นต้นด้วยนักร้อง ลงท้ายด้วยนักแต่งเพลง "เพลง" ก็เหมือนสมบัติ ก่อนจะเซ็นพินัยกรรม ยกสมบัติให้ใคร อย่าลืมดูดีๆ.