Inside Dara
'คนในกองฯ .... ปิดกอง' โดย... เจนนิเฟอร์ คิ้ม

“ข้ามิได้ชอบร่ำสุรา แต่ข้าชอบบรรยากาศในการร่ำสุรา” วรรคทองวรรคหนึ่งที่ฉันจำมาจากหนังจีนกำลังภายในที่ดูมาตั้งแต่เด็ก ความเป็นจีนมันไหลเวียนอยู่ในสายเลือดและจิตวิญญาณของฉัน ไม่นึกไม่ฝันว่าวันหนึ่งจะต้องมาสวมบทบาทที่ใฝ่ฝันมาทั้งชีวิต “ผู้ดูแลนางโลม” เรียกง่ายๆ ว่า “แม่เล้า!” ของเหล่าบุปผาในละครเรื่อง “ชาติพยัคฆ์” ที่กำลังจะฉายในปี 2559 ทางช่อง 3 เหนือกว่าความพึงพอใจที่ได้รับบทซึ่งไม่ไกลจากตัวก็คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานหนักในกองชาติพยัคฆ์ที่ทุ่มเทเวลาไปเกือบปี (11 เดือน) กว่าละครจะเสร็จสิ้นจนถึงวัน “ปิดกล้อง” ...

จากวันที่ “พี่นก ฉัตรชัย” มาเป็นแขกรับเชิญใน “คอนเสิร์ต 45 ปี เจนนิเฟอร์ คิ้ม” การพบกันครั้งแรกของเรา 2 คน ต่างฝ่ายต่างเคอะเขิน ประดักประเดิด และระแวดระวัง พี่นกคงจะได้ยินกิตติศัพท์ของความบ้าบอในตัวฉันมาพอสมควร ในขณะที่เขาคือพระเอกในดวงใจของฉันและใครหลายๆ คน ตั้งแต่ตี๋ใหญ่ ไปจนถึงท่านชายพจน์ (ปริศนา) สมัย “ละครตี๋ใหญ่” ดัง สาวๆ อยากมีผัวเป็นโจรแต่ไม่เคยสมหวังเพราะโจรจะหน้าเหี้ยม ... มมม ไม่มีทางหล่อเท่าพี่นก พอละครปริศนาเป็นที่ฮือฮา สาวๆ ก็อยากจะเป็นสะใภ้เจ้ากันทั้งประเทศ อุตส่าห์ดัดผมหยิกคิดว่าออกมาจะสวยเหมือนหมิว ลลิตาพอส่องกระจกออกมาก็กลายเป็นคำใบ้ปริศนาให้ทายว่าหน้าเหมือนใคร? เหมือน “อาม่า” ขายโจ๊กหน้าปากซอยที่ดัดผมหยิกทรงเดียวกัน กลายเป็นเรื่อง “บาป-บุญ” นะคะคุณ ทำผมออกมาก็แล้วแต่โชควาสนา!

วันแรกที่เจอในห้องซ้อมพี่นกดูหล่อ สุภาพ และขี้อาย พูดน้อย ไม่รู้ไม่คุ้นหรือรังเกียจ! (น่าจะเป็นอย่างหลัง!) ซ้อม 2-3 ครั้ง จนกระทั่งวันจริงนับรวมคำสนทนาได้ไม่ถึง 10 คำ ซึี่งส่วนใหญ่จะเป็นคำว่า “ครับ” แต่ระหว่างที่ฉันแสดงโชว์ในคอนเสิร์ตถึงจะหมดคิวพี่นกไปแล้ว แต่พี่นกก็ยังไม่กลับบ้าน นั่งดูฉันจากจอมอนิเตอร์ด้านในจนจบทั้ง 2 รอบ ก็ไม่รู้ว่ามองเห็นอะไรในนั้น จนกระทั่งพี่นกโทรหาคุณสีเกด ผู้จัดการ ชวนฉันไปแสดงละคร “ชาติพยัคฆ์” โดยตัวละครตัวนี้จะถูกเขียนขึ้นมาใหม่ตามจินตนาการของพี่นก... “ซวยล่ะกรู!” ฉันคิดได้แค่นั้น นึกว่าคงได้ออกแค่ 4-5 ตอนแล้วหมด หรือน่าจะตายไวๆ อะไรสักอย่าง พอไปเล่นจริงก็ต้องคอยถามว่า “เมื่อไหร่จะหมดคิวหนูซะทีคะพี่?” เข้าฉากถี่เสียเหลือเกิ๊น! บทที่เล่นก็มีทั้งตลก ดราม่า แอ็กชั่น เอิ่ม ... จะเขียนบทอะไรให้จะมีใครถามกรูก่อนสักคำมั้ยคะ? โชคดีที่ทีมงานเขาเก่งตั้งแต่ ผู้จัด ผู้กำกับ นักแสดง กล้อง ไฟ เอฟรี่ติงทุกสิ่งดูจะเป็นตัวช่วยที่ดี “ถ้ามีคนถามว่าตอนเล่นคิดอะไรอยู่” ฉันตอบได้แค่ “คิดอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นตัวละครตัวนั้น” เพราะไม่เช่นนั้น อาหมี (โชติรัตน์ รักเริ่มวงษ์) ผู้กำกับจะสั่งคัทแล้วเดินมาอธิบายบทด้วยสีหน้าจริงจังดั่งตัวละครตัวนั้นเข้าสิง มันต่างจากร้องเพลงลิบลับ เวลาร้องเพลงเราก็ร้องไปตามความหมายเพลง ณ เวลานั้น แต่ละครที่เล่นในแต่ละฉากต้องนึกถึงตอนที่ผ่านมาและตอนที่จะเป็นไป เพื่อให้ได้ความรู้สึกต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราว เช่น เรามาช่วยคนนี้เพราะคนนี้เคยมีบุญคุณต่อเราและตอนนี้เขากำลังตกอยู่ในอันตราย เราเป็นกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขาในตอนต่อไป... ยากมั้ยละคะคู้ณ!

ช่วงที่สนุกและผ่อนคลายที่สุดของฉันจึงเป็นช่วงที่สุมหัวทำอาหาร ขลุกอยู่กับคุณสีเกด “โน้ต” (ผู้จัดการกอง) “ชมพู่” (ประสานงาน) “คุณนายไพและโอเล่” (สองผัว-เมียที่ดูแลปากท้องยามว่างของคนในกอง) เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กเล่นขายของ เห็นทุกคนอิ่มอร่อยมีความสุข ทีมแม่ครัวของพวกเราก็ยิ้มแป้น -ิบหายไม่ว่าต้องการแค่คำชม!

จากชุดจีนสีจัดจ้านเต็มยศตั้งแต่หัวจรดเท้าในละคร มาสวมเสื้อยืดพิมพ์คำว่า “ชาติพยัคฆ์” กับกางเกงยีนดูเป็นทีมเดียวกัน รวมตัวกันอยู่ในห้องจัดเลี้ยงที่ผับแอนด์เรสเตอรองต์แห่งหนึ่ง ทุกคนดูมีสติ มีความตั้งใจที่จะฟังและทบทวนหวนรำลึกถึงเรื่องราวที่พวกเขาได้ร่วมมือร่วมใจกันทำมันออกมาจนสำเร็จ (แม้ในวันที่เลี้ยงปิดกล้องยังตัดต่อไม่เสร็จก็เถอะ) มีทีมงานช่อง 3 มาเก็บภาพตอนที่พวกเราไปกองกันเป็นเงาะเน่าอยู่บนเวที ให้แต่ละคนกล่าวความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกองละครนี้ ตั้งอยู่และดำเนินไปได้แค่เพียง 30 นาที หลังจากนั้นก็สติแตกกันเต็มที่ให้สมกับที่เหนื่อยมาร่วมปี โดยเฉพาะทีมแต่งหน้า ทำผม กล้อง ไฟ ฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก ความสนุกสนานและเบิกบานเริ่มที่ “การแจกเงิน” ฉันเพิ่งรู้ว่ามันเป็นธรรมเนียมของการเลี้ยงปิดกล้องกองละครเหมือนได้รับซองโบนัส มีตั้งแต่ซองละ 500 ไปจนถึง 7,500 บาท ลุ้นดวงลุ้นโชคกันด้วยการจับฉลาก

“หนูอยากได้ยินเขาประกาศชื่อหนูจัง” “โน้ต” (พรพรรณ แถวเถื่อน) ผู้จัดการกอง แม่ครัว และตัวประกอบ ฯลฯ นางรับทุกหน้าที่เท่าที่นางจะว่างทำ นางคือคนที่น่ารักที่สุดคนหนึ่งในกอง รูปร่างท้วม ถึก ดำ หัวฟู ดูจากคาแรกเตอร์แล้วน่าจะเป็นทีมถ่ายสารคดีดงดิบมากกว่าละครพีเรียดย้อนยุค อีเล็ก กับ อีใหญ่ (ฝันดี-ฝันเด่น) อำนางตั้งแต่วันแรกที่ฉันเจอหน้าว่า “เมื่อก่อนมันเป็นเด็กฝึกงานของที่นี่ พอจบปริญญาตรี มันก็มาของานพี่นก ฉัตรชัย ทำ มันบอกว่ามันอยากทำงานที่มีคนยกมือไหว้ตลอดเวลา พ่อแม่มันจะได้ภาคภูมิใจ ไปไหนใครๆ ก็เคารพนับถือลูก แล้วมันจะเป็นอาชีพอะไรไปได้นอกจาก “การเงิน” เวลาคนมารับค่าแรง ค่าจ้างจากมันก็ต้องยกมือไหว้มันทุกคน... ” ฉันฟังไปมองหน้าโน้ตไปแล้วอดขำไม่ได้ อือ... นางมีจุดยืนชัดเจน! อีเล็ก-อีใหญ่ มันช่างแต่งเรื่องอำได้เข้ากับนางจริงๆ ฉันเคยเห็นนางบ่นไปจ่ายตังค์ไปว่า “ตอนแรกมันเป็น “เงินกอง” แต่พอหายมันกลายเป็น “เงินกู!” มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับตำแหน่ง “การเงิน” นะโน้ต! จับรางวัลแจกเงินจนหมดทุกซอง พี่ถั่วแระก็เริ่มเป็นโต้โผเปิดการแจกเงินขึ้นใหม่โดยให้เงินสมทบเริ่มต้น 20,000 บาท ป๋ามาก! พี่เกมส์ ศานติ ตามมาที่ 10,000 บาท เป็นค่ารักษาหน้า (ตัวเอง) นักแสดงคนอื่นๆ ก็ต้องรักษาหน้าไว้เช่นกัน รวมทั้งฉันสมทบร่วมปิดท้ายด้วยยอดรวมเกือบ 40,000 บาท เป็นที่เฮลุ้นรางวัลกันอย่างสนุกสนาน โน้ตได้ไป 7,500 บาท อีเล็กก็มาอำนางอีกว่า “มันเขียนชื่อตัวเองใส่กล่องลงไป 5 อัน มันถึงได้มาขนาดนี้!” หมดเงินรางวัลก็ขึ้นมาร้องเพลงกัน นักแสดงเด็กที่ชื่อ น้องไข่มุก ตัวกะเปี๊ยก ร้องเพลง “ลมพัดตึง” ได้อย่างน่ารักน่าชัง เป๊ะทั้งการร้องและท่าเต้น ตามมาด้วยน้องอันดา สวยหวานตั้งแต่เด็ก น้องมาร์คของขึ้นมาเล่นกีต้าร์และร้องเพลง ขัดใจ กับ เชือกวิเศษ ผู้ใหญ่ในงานร้องตามกันได้ทุกเพลง เด็กสมัยนี้เขาเก่งจริงๆ ค่า ทั้งดารานำและทีมงานผลัดกันขึ้นมาร้องมาเต้นกันอย่างเถิดเทิง พี่ร้อย สวิชเชอร์ (switcher) มือต้นๆ ของประเทศไทยขึ้นมาขอร้องเพลงคู่กับฉัน อิมโพรไวส์ (improvise) ทั้งฮู้ ฮา โอ๊ ... เย ครบ!

เอิ่ม ... ปีหน้าไปเดอะวอยซ์เถอะเพ่! ฉันขึ้นไปร้องเพลงโจ๊ะเต้นกันตีนแตกทั้งกอง! ... บนเวทีมองลงไปข้างล่าง มีทุกอย่างค่าคุณ ยกเว้นสติ! ก็คนมันเครียดมันเหนื่อยมาทั้งปี ถือเป็นวันปล่อยผี ปล่อยวาง ปล่อยอารมณ์ ปล่อยตัว ปล่อยใจกันให้สุดๆ ที่ผู้จัด พี่นก ฉัตรชัย และพี่นก สินจัย จัดให้ด้วยความเต็มใจและซาบซึ้งในความทุ่มเทของทุกคนที่มีให้กับบริษัท “เมตตามหานิยม” ของทั้ง 2 นก

ฉันลงจากเวทีแล้วลี้กลับแบบเงียบๆ เพราะตอนนี้คนไม่เมาเขากลับก่อน คนที่เหลือคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ... ฉันหันไปมองภาพทีมงานเต้นเถิดเทิงเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ภาพทั้งหมดจะกลายเป็นความทรงจำดีๆ ในบรรยากาศของการร่ำสุรา ของคนคุ้นเคย “คนชาติพยัคฆ์”